Thai / English

กลุ่มแรงงานไทยที่กลับจากลิเบียปี 2553 ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมจนถึงขณะนี้


พัชณีย์ คำหนัก โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย
02 .. 55
ประชาไท

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2555 เวลา 10.00 น. กลุ่มแรงงานไทยที่กลับจากประเทศลิเบียจำนวน 5 คน นำโดยนายมานะ พึ่งกล่อม เข้าพบนายสง่า ธนสงวนวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อติดตามความชัดเจนจากกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงานว่า ตนและเพื่อนได้เคยร้องทุกข์เกี่ยวกับการเอารัดเอาเปรียบของบริษัทจัดหางานต่างๆ ต่อกองตรวจและคุ้มครองคนหางาน เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2554 และต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดขอนแก่นด้วย ในเรื่องของการเก็บค่าหัวคิวไปทำงานต่างประเทศเกินที่กฎหมายกำหนด การทำผิดสัญญาจ้าง การไม่ได้รับเงินค่าล่วงเวลา การทำงานไม่ตรงตำแหน่ง ไม่ได้รับรายได้ตามที่บริษัทแจ้งไว้ สภาพการทำงานที่ลำบาก ไม่มีสวัสดิการที่เพียงพอ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่จะมีสงครามกลางเมืองของประเทศ จึงต้องการมาทวงถามความคืบหน้าว่า เจ้าหน้าที่รัฐได้ดำเนินการถึงขั้นตอนใดแล้ว เพราะระยะเวลาล่วงเลยมาถึง 1 ปี แต่ไม่มีการแจ้งความคืบหน้าและคำสั่งใดๆ ออกมา [1]

อีกทั้งในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่นายมานะ พึ่งกล่อมและเพื่อนรอผลคำวินิจฉัยจากกองตรวจฯ ดังกล่าว ได้ถูกบริษัทจัดหางาน เงินและทองพัฒนา จำกัด ฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาททั้งทางแพ่งและทางอาญา จำนวนถึง 7-8 คดี ซึ่งบางคดีบริษัทถอนฟ้องไปแล้ว แต่บางคดีล่าสุดวันที่ 23 ธันวาคม 2554 ศาลแขวงพระนครเหนือ กรุงเทพฯ พิพากษาตัดสินยกฟ้องนายมานะ พึ่งกล่อม เพราะไม่มีความผิดใดๆ [2]

ทางกลุ่มแรงงานดังกล่าวรู้สึกน้อยใจและผิดหวังต่อกลไกการทำงานของกระทรวงแรงงาน เพราะไม่ได้ช่วยเหลือแรงงานและปล่อยให้ฝ่ายบริษัทจัดหางานฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายตนถึง 140 ล้านบาท อันเป็นการบั่นทอนกำลังใจและทำลายเสรีภาพในการทำมาหากินจนหนี้สินล้นพ้นตัว ล่าสุดนายมานะและเพื่อนอีก 1 คนถูกข่มขู่ จึงรุดเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธร อ.เมือง จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2555 กล่าวคือ มีบุคคลโทรศัพท์เข้ามาบอกว่า “ให้หยุดดำเนินการเกี่ยวกับคดีแรงงานของประเทศลิเบีย ต้องการค่าเสียหายเท่าไร ถ้าไม่หยุดจะได้อย่างอื่นแทน” นายมานะไม่ทราบว่าเป็นใคร และเกรงว่าตนจะไม่ปลอดภัยจึงแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน อีกทั้งตนเองไม่เคยมีศัตรูอื่นใด นอกไปจากคดีที่กำลังฟ้องร้องบริษัทจัดหางานต่างๆ อยู่ [3]

สำหรับเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน เมื่อได้รับฟังปัญหาของกลุ่มแรงงานจึงเรียกให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ซึ่งฝ่ายรับเรื่องและวินิจฉัยร้องทุกข์ชี้แจงว่า ได้ออกหนังสือให้บริษัทจัดหางานรวบรวมหลักฐานมาให้เจ้าหน้าที่ แต่ยังไม่ได้เรียกมาไกล่เกลี่ยกับคนงาน ดังนั้นทางเลขานุการฯ จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการติดตามบริษัทจัดหางานมาไกล่เกลี่ยกับคนงานก่อน และเมื่อเวลา 13.00-15.30 น. ทางหัวหน้าฝ่ายรับเรื่องและวินิจฉัยคำร้องทุกข์และนักวิชาการแรงงานชำนาญการที่รับผิดชอบกรณีลิเบียนี้ ได้เรียกให้ตัวแทนจากบริษัทจัดหางาน 2 แห่ง ได้แก่ บ.มิลเลี่ยน เอ็กซ์เพรส จำกัด และบ.เงินและทองพัฒนา จำกัด เข้ามาไกล่เกลี่ยกับกลุ่มแรงงาน โดยบ.มิลเลี่ยนเสนอเงินช่วยเหลือให้แก่มานะและเพื่อน แต่ไม่ระบุจำนวนเงิน ส่วนบ.เงินและทองฯ ยืนยันความถูกต้องของตัวเองและจะสู้คดีในชั้นศาล ส่วนกลุ่มแรงงานก็ปฏิเสธการยอมรับเงินช่วยเหลือจากบ.มิลเลี่ยนฯ เพราะบริษัทยังไม่ได้นับรวมเงินค่าล่วงเวลา ค่าเสียโอกาสต่างๆ [4]

นอกจากนี้ การฟ้องร้องบริษัทจัดหางานต่างๆ ต่อศาลแรงงานกลาง ศาลได้นัดไต่สวนสืบพยานฝ่ายโจทก์ในวันที่ 21-23 มีนาคม 2555 หลังจากที่บริษัทจัดหางานไม่ยินยอมตามข้อเรียกร้องของกลุ่มคนงานไทยไปลิเบียในขั้นตอนการเจรจาไกล่เกลี่ย [5] ซึ่งจะต้องพิสูจน์ความถูกผิดในชั้นศาลต่อไป.

..............................

[1] พัชณีย์ คำหนัก เข้าร่วมประชุมติดตามความคืบหน้ากับกลุ่มแรงงานไทยไปทำงานลิเบีย ณ กระทรวงแรงงาน วันที่ 31 มกราคม 2555

[2] พัชณีย์ คำหนักเข้าฟังคำพิพากษาของศาลแขวงพระนครเหนือ วันที่ 23 ธันวาคม 2554

[3] สำเนาใบแจ้งความ รายงานประจำวันเป็นหลักฐาน สถานีตำรวจภูธร เมืองขอนแก่น กองบัญชาการ/ภาค 4 ลงวันที่ 27 มกราคม 2555

[4] กลุ่มคนงานไทยถูกจัดส่งไปทำงานที่ประเทศลิเบีย ประมาณวันที่ 11 มกราคม 2553 โดยบริษัทจัดหางานต่างๆในเมืองไทย แต่มีปัญหาในช่วงระหว่างการทำงาน เช่น ปัญหาการเซ็นสัญญาฉบับที่ 2 ในภาษาอาหรับที่แตกต่างไปจากฉบับภาษาไทยที่ตกลงกันแล้ว ปัญหาการเก็บค่าหัวคิวเกินที่กฎหมายกำหนด ปัญหาไม่ได้รับค่าล่วงเวลา การจ่ายเงินเดือนล่าช้า สภาพความเป็นอยู่ที่ลำบาก ไม่มีรถรับ-ส่ง เดินเท้าฝ่าทะเลทรายไปไซด์งาน คนงานร่วมกันล่ารายชื่อและร้องเรียนต่อสถานทูตไทยในลิเบียแล้ว และเมื่อกลับมาเมืองไทยในช่วงเกิดสงครามกลางเมืองของประเทศลิเบีย ก็ได้เข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อเดือนตุลาคม 2553 และเข้าร้องเรียนต่อกองตรวจและคุ้มครองคนหางานเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2554 แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ.

แหล่งที่มา: 1. จารุวัฒน์ เกยูรวรรณ. แรงงานไทยในลิเบียร้องขอความเป็นธรรมจากเอ็นจีโอ. 21 มิถุนายน 2554. เว็บไซด์ประชาไท http://prachatai.com/journal/2011/06/35591

2. กองตรวจและคุ้มครองคนหางาน. สำเนาจดหมายเรื่อง รายงานกรณีหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” เสนอข่าวของนายมานะ พึ่งกล่อม ถึงอธิบดี เลขที่ รง 0311/3047 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2554.

3. เว็บไซด์ประชาไท. รายงาน: สรุปสถานการณ์ “คนงานไทย” หนีตายจลาจล “ลิเบีย”. 13 มีนาคม 2554.

http://prachatai.com/journal/2011/03/33518

[5] สัมภาษณ์มานะ พึ่งกล่อม วันที่ 31 มกราคม 2555