Thai / English

นายจ้างมอร์เมริกาจ่ายค่าชดเชยเลิกจ้างแก่พนักงานตามข้อตกลง : กฎหมายคุ้มครองแรงงานต้องถูกบังคับใช้เพื่อประโยชน์ของลูกจ้าง


พัชณีย์ คำหนัก โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย
25 .. 55
ประชาไท

หลังจากที่ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (Thai Labour Campaign) ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากพนักงานบริษัทมอร์เมริกาในช่วงหลังเกิดอุทกภัย ก็ได้ติดตามกรณีการเลิกจ้างพนักงาน 70 กว่าคน การยื่นหนังสือร้องเรียนต่ออธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน (วันที่ 6 ธ.ค. 54) การเจรจาไกล่เกลี่ยกับนายจ้าง (วันที่ 15 ธ.ค. 54 เวลา 13.00-21.00 น. ที่แรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา) และติดตามการจ่ายเงินของนายจ้างตามข้อตกลงที่ทำขึ้นในวันเจรจา ผลปรากฏว่า นายจ้างได้จ่ายค่าชดเชยแล้วเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2554 (สัมภาษณ์พนักงานมอร์เมริกาวันที่ 23 ม.ค. 55)

ข้อตกลงเป็นไปตามที่พนักงานเรียกร้อง คือ

1. นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างช่วงหยุดงานคือตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค.-27 พ.ย. 54 เป็นเวลา 12 วันในอัตรา 50% ของเงินเดือน

2. ค่าชดเชยตามอายุงาน ยกตัวอย่างเช่น ผ่านการทำงาน 1 ปีได้ค่าชดเชย 3 เดือนทั้งพนักงานรายวันและรายเดือน สำหรับพนักงานที่ผ่านโปรแล้วแต่ทำงานไม่ถึงปีได้ค่าชดเชย 1.5 เดือน

3. ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน

4. ค่าพักร้อน 14 วันตามประกาศวันหยุดของบริษัท

จำนวนเงินที่ได้รับโดยประมาณแล้ว ขั้นต่ำอยู่ที่ 40,000 บาท สูงสุดที่ได้รับอยู่ที่ 70,000 กว่าบาท โดยพนักงานส่วนใหญ่นำเงินกลับสู่ภูมิลำเนาเดิมที่ต่างจังหวัดเพื่อฟื้นฟูอาชีพ และมีบางรายที่อาศัยในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ออกหางานทำใหม่ตามบริษัท โรงงานต่างๆ และพนักงานมีอายุ 30 ปีขึ้นไป

ที่มาของปัญหา : การเลิกจ้างและไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่พนักงานบริษัทมอร์เมริกา

บริษัทมอร์เมริกา (ประเทศไทย) จำกัด เลขที่ 265 ม.5 ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ผลิตอาหารสุนัข มีจำนวนพนักงานประมาณ 100 คน นายจ้างเป็นชาวแคนาดา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2554 บริษัทมอร์เมริกาฯแจ้งการเลิกจ้างพนักงานเป็นหนังสือ โดยอ้างเหตุผลว่าได้รับความเสียหายจากอุทกภัย จึงจำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งพนักงานแย้งว่า การอ้างเหตุผลของบริษัทฯ นี้เป็นเหตุผลที่ขัดกับความเป็นจริง ทั้งบริษัทยังสั่งให้พนักงานหยุดงานแต่ไม่จ่ายค่าจ้างให้ ทางพนักงานจึงได้เขียนคำร้องคร. 7 ที่แรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจำนวน 70 กว่าคน และได้ทำหนังสือร้องเรียนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเพื่อเรียกร้องให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างเคร่งครัด (จดหมายขอความเป็นธรรมยื่นต่ออธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน วันที่ 6 ธันวาคม 2554)

บริษัทมอร์เมริกาฯ ทำกิจการผลิตอาหารสุนัขมาเป็นเวลา 2 ปี มีพนักงานประมาณ 100 คน ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท ในช่วงระหว่างเกิดอุทกภัย 18 ตุลาคม บริษัทสั่งหยุดงาน แต่ไม่จ่ายค่าจ้าง ทำให้พนักงานจำนวนหนึ่งไม่พอใจ จึงไปยื่นร้องคร.7 ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดอยุธยาจำนวน 20 กว่าคน ตามลำดับเหตุการณ์ด้านล่างนี้ (สัมภาษณ์พนักงานมอร์เมริกา 16 ธ.ค. 54)

28 พ.ย.54 นายจ้างเรียกพนักงานกลับเข้าทำงาน พนักงานเข้าทำงานปกติ

29 พ.ย. 54 นายจ้างเรียกประชุมพนักงาน และประกาศปิดงานโดยไม่มีกำหนดในช่วงเย็น เนื่องจากล่วงรู้ว่า มีพนักงานจำนวนกว่า 20 คนไปเขียนคำร้อง คร.7 ฟ้องต่อแรงงานจังหวัดว่าไม่ได้รับค่าจ้างในช่วงหยุดงานและเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายเงิน นายจ้างจึงขอให้พนักงานไปถอนคำร้อง พนักงานขอเจรจาต่อรองให้นายจ้างช่วยจ่ายเงินที่ค้าง แต่นายจ้างไม่ยินยอมจ่าย นายจ้างจึงสั่งปิดงาน

30 พ.ย. 54 พนักงานไปเขียนคำร้อง คร.7 เพิ่มเติม รวมพนักงานที่ยื่นคำร้องจำนวน 70 กว่าคน และพนักงาน นัดมารวมตัวกันในวันที่ 1 ธ.ค.ที่บริษัทเพื่อขอพูดคุยกับนายจ้าง

1 ธ.ค. 54 เวลาประมาณ 9.00 น. ตัวแทนนายจ้างแจ้งพนักงานกลุ่มที่เขียนคร. 7 ว่าจะมีการเลิกจ้าง หากใคร

ยินยอมให้เลิกจ้างให้มาลงชื่อได้ แต่นายจ้างให้เอกสารเปล่า ยกเว้นหัวเรื่องเลิกจ้าง พนักงานจึงขอให้นายจ้างเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ระบุจำนวนเงินทั้งหมดที่ต้องจ่ายด้วย และส่งเป็นรายบุคคล พนักงานรอคอยเอกสารจากนายจ้าง แต่นายจ้างขอเลื่อนมาอีก 1 วัน

2 ธ.ค. 54 เวลา 9.00 น. ฝ่ายนายจ้างออกมาขอเลื่อนเวลาพูดคุย และในเวลา 16.00 น. นายจ้างได้เรียกพนักงานเข้ามาพบทีละคน แต่ให้กระดาษเปล่าเซ็น คนงานไม่ยินยอมเซ็น จึงส่งตัวแทนไปเจรจา 2 ครั้งติดต่อกัน ในที่สุดก็ได้เซ็นเอกสารของนายจ้าง

ข้อความในเอกสารอ้างว่า บริษัทประสบอุทักภัยจำเป็นต้องปิดกิจการจึงขอเลิกจ้างพนักงานทุกคน และนายจ้างจะชำระให้ตามกฎหมายภายใน 31 ธ.ค. นี้ ซึ่งพนักงานเห็นแย้งว่า นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยภายใน 3 วันนับจากเลิกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 2541 อีกทั้งนายจ้างไม่ระบุว่าจะจ่ายเท่าไร

ด้วยเหตุนี้ พนักงานจึงเดินทางไปร้องเรียนที่แรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อขอให้เรียกนายจ้างมาเจรจา แต่นายจ้างไม่ยินยอมหลายครั้ง พนักงานจึงขอดึงเรื่องไปร้องที่ศาลแรงงานจังหวัดลพบุรี เพราะรอไม่ไหว อย่างไรก็ตามพนักงานบางรายได้พบปะกับผู้อำนวยการโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยในวันที่ 3 ธ.ค. 54 ซึ่งผู้อำนวยการได้ให้คำแนะนำแก่คนงานว่า ควรตั้งตัวแทน เขียนคำร้องทุกข์ถึงอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (ลงวันที่ 6 ธ.ค.) ไปยื่นที่กระทรวงแรงงานด้วยกัน และจากนั้นได้ไปยื่นร่วมกัน โดยได้พบปะรองอธิบดีฯ เนื่องจากอธิบดีติดประชุม ท่านรองฯจึงสั่งการให้แรงงานจังหวัดอยุธยาเรียกนายจ้างมาไกล่เกลี่ยให้ได้ และสามารถนัดหมายกันไกล่เกลี่ยวันที่ 9 ธ.ค.

ทว่า แรงงานจังหวัดได้โทรศัพท์ถึงพนักงานคนหนึ่ง บอกว่า นายจ้างไม่พร้อมขอเลื่อนนัดไกล่เกลี่ยไปวันที่ 15 ธ.ค. และได้ไกล่เกลี่ยกันในวันดังกล่าว