Thai / English

แรงงานนอกระบบ มุมมองคนทำงานส่วนใหญ่ที่ไร้การคุ้มครอง



21 .. 55
http://voicelabour.org

ใคร คือแรงงานนอกระบบ คำถามนี้เกิดขึ้นมาในใจของตนเมื่อได้ยิน คำว่าแรงงานนอกระบบครั้งแรก เนื่องจากทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่ถูกเรียกว่าในระบบ และตามด้วยว่าแรงงานนอกระบบประกอบด้วยอาชีพเหล่านี้ คือ คนงานที่รับงานไปทำที่บ้าน คนทำงานบ้าน หาบเร่ แผงลอย คนขับแท็กซี่ สามล้อ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง พ่อค้าแม่ค้า ช่างตัดผม คนเก็บขยะ หรือรับซื้อเช่นซาเล็ง เกษตรกรพันธสัญญา ฯลฯ เป็นต้น แรงงานนอกระบบไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ไม่มีสวัสดิการ ฯลฯ และปัจจุบันบุคคลเหล่านี้ยังไม่ได้รับการดูแลจากรัฐฯเท่าที่ควรสาเหตุอันเนื่องมาจากการเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพราะรัฐเองยังคงไม่ให้ความสำคัญในการคุ้มครองและสร้างหลักประกันที่เพียงพอในการดำเนินชีวิต อีกทั้งแรงงานนอกระบบยังคงเป็นประชาชนชั้นสอง ในสายตาของกระทรวงแรงงาน รัฐให้ความสำคัญกับแรงงานในระบบมากกว่าด้วยการให้คุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ทั้งที่แรงงานนอกระบบมีมากราว 24 ล้านคนกลับไม่ได้รับการคุ้มครอง

นางบุญหลาย ฉิมพินิจ หรือป้าหลาย แม่ค้าส้มตำ กล่าวกับนักสื่อสารแรงงานว่า ตนเดินทางมาจากอำเภอกันทรลักษ์ จ.อุบลราชธานี มาทำมาหากินที่จังหวัดระยองเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วโดยมีอาชีพเป็นแม่ค้าขายส้มตำ รายได้ต่อเดือนก็ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ บางวันฝนตกก็ได้น้อย บางวันก็ได้มากขึ้นอยู่กับลูกค้าในแต่ละวันด้วย วันไหน เจ็บไข้ไม่สบาย ก็จะเข้ารับการรักษาตามคลีนิคทั่วไป และโรงพยาบาลเอกชน โดยจ่ายเป็นเงินสดแทน เพราะง่ายและสะดวกรวดเร็ว แต่ก่อนตนเคยใช้บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรคที่รัฐให้มา เนื่องจากมีปัญาหาหลายๆอย่างที่ทำให้ไม่ได้รับความสะดวก ในการรักษา เช่น โรงพยาบาลของรัฐที่รับรองสิทธิ มีจำกัด ความล่าช้าในการให้บริการ บางครั้งเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐเอง ก็พูดจาเหมือนไม่เต็มใจให้บริการเราฯลฯ นับจากวันนั้นเป็นต้นมาตนจึงใช้เงินสดจ่ายค่ารักษาพยาบาลมาโดยตลอด เพราะสะดวกรวดเร็ว ไม่เสียเวลาในการทำมาหากินของคนหาเช้ากินค่ำอย่างพวกเรา

จะเป็นการดีมากหากรัฐให้ความสำคัญในเรื่องนี้คืออยากให้เข้ามาดูแลในส่วนของความสะดวกในการเข้ารับการรักษาพยาบาล โดยนำรูปแบบของโรงพยาบาลเอกชนมาใช้กับโรงพยาบาลของรัฐ เพิ่มบุคลากรให้เพียงพอ ขยายโรงพยาบาลของรัฐให้ครอบคุมกับความต้องการของประชาชนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่รัฐจัดหามาให้ต่อไป.

นายสันต์ คำภาโคตร (สันต์) อาชีพช่างตัดผม กล่าวกับนักสื่อสารแรงงานว่า ตนเองเดินทางมาจากจังหวัดหนองคายมาทำงานเป็นช่างตัดผม รายได้ต่อเดือนเฉลี่ยหมื่นกว่าบาทเดือนละหมื่นกว่าบาท เวลาเจ็บป่วยก็เข้ารับการรักษาพยาบาลตามคลีนิคเอกชนโดยจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินสด เพราะง่าย สะดวก รวดเร็ว ไม่เสียเวลามาก สำหรับบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น ตนคิดว่า มันมีความยุ่งยาก ในการเข้ารับการรักษาพยาบาลเนื่องจากโรงพยาบาลที่รับรองสิทธิ์ของบัตรนี้ยังมีน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ซึ่งโรงพยาบาลที่รองรับสิทธิ์อยู่ส่วนใหญ่ยังเป็นของรัฐฯ ตลอดจนมีการเข้าคิวรอรับการรักษาพยาบาลที่นานมาก จึงทำให้ไม่สามารถใช้บริการบัตรทองนี้ได้เพราะต้องรีบทำมาหากิน

นายศุภโชค ช้อยช่วง เคยเป็นแรงงานในระบบ แต่ค่าจ้างไม่พอยังชีพหันมาทำอาชีพขับรถมอเตอร์ไซต์รับจ้างหารายได้เสริม ให้สัมภาษณ์กับนักสื่อสารแรงงานว่า ตนเดินทางมาจากจังหวัดตาก มาทำงานเป็นรปภ.อยู่ที่บริษัทแห่งหนึ่งในนิคม อีสเทิร์น ซีบอร์ด แต่รายได้ไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่มันสูงขึ้นทุกวัน จึงทำให้หันมาขับวินมอเตอร์ไซด์รับจ้างเพื่อเป็นรายได้เสริมอีกทางและเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ไม่มีรถในการจับจ่ายซื้อของที่ตลาดในระแวกนี้อีกทางหนึ่ง

กรณีเจ็บป่วยตอนนี้ยังใช้สิทธิ์ประกันสังคมของบริษัทรปภ.อยู่แต่ยังคงไม่ได้รับความสะดวกในการเข้ารับการรักษาเพราะต้องเข้าคิวรอนานและช้ามากเนื่องจากคนใช้บริการเยอะ แต่หากวันใดที่ตนลาออกจากบริษัทรปภ.ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะใช้สิทธิ์อะไร

อยากฝากให้รัฐเข้ามาดูแลในส่วนของบัตรรักษาพยาบาลที่สามารถใช้ได้ อย่างสะดวกมั่นคง ใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิ์ภาพ และใช้ได้ตลอดไป อยากฝากถึงหน่วยงานของรัฐให้เข้ามาดูแลในจุดนี้ เพื่อขยายช่องทางการให้บริการบัตรทอง 30 รักษาทุกโรคให้ครอบคุมทุกพื้นที่โดยสามารถให้ใช้บริการร่วมกับสถานพยาบาลของเอกชนหรือคลีนิคเอกชน ที่รัฐรับรองด้วย มีสิ่งหนึ่งที่แรงงานนอกระบบพูดเป็นเสียงเดียวกันคือ หากเจ็บป่วยก็จะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลของเอกชนหรือคลีนิคโดยจ่ายเป็นเงินสด แทนการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาลของรัฐโดยบัตรทอง 30 บาท เพราะสะดวก รวดเร็ว และมีมากครอบคุมทุกพื้นที่ ต่างกันกับ การใช้บัตรทองคือ โรงพยาบาลที่รองรับยังมีน้อยไม่เพียงพอกับความต้องการใช้บริการของประชาชน เนื่องจากเป็นบัตรฟรีจึงทำให้คนใช้บริการเยอะมาก จนทำให้ขั้นตอนในการให้บริการของเจ้าหน้าที่รัฐค่อนข้างใช้เวลานานพอสมควร อีกทั้งบุคลากรของโรงงพยาบาลเองก็มีไม่เพียงพอ จึงทำให้ไม่สอดคล้องกับชั่วโมงเวลาทำงานที่มันเร่งรีบดั่งเช่นทุกวันนี้

กระมนต์ ทองออน นักสื่อสารแรงงานศูนย์ข่าวสมุทรปราการ รายงาน