ส.อ.ท.จ่อยื่นศาลปกครอง ระงับปูขึ้นค่าแรง300บาท19 .. 54 ผู้จัดการ ส.อ.ท.เล็งหาช่องฟ้องศาลปกครองให้ระงับประกาศรัฐบาลขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันนำร่อง 7 จังหวัด 1 เม.ย. 2555 เหตุไม่เป็นธรรมฝืนธรรมชาติการเมืองเข้าแทรกใช้หาเสียง ออร์เดอร์ปีหน้าวุ่นทำสินค้าแพงขึ้น ระยะยาวทำลายลงทุนไทยกระทบแรงงานว่างงาน นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสายแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สมาชิกส.อ.ท.อยู่ระหว่างการพิจารณาหาช่องทางในการฟ้องศาลปกครองเพื่อระงับการประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันที่จะมีผลวันที่ 1 เม.ย.2555 ใน 7 จังหวัด คือ ภูเก็ต, กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, ปทุมธานี สมุทรปราการ, สมุทรสาครและนครปฐมของรัฐบาลโดยไม่เป็นธรรมส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการจ้างงานในประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
เรากำลังหารือกันอยู่ซึ่งหากจะดำเนินการคงจะดูช่วงต้นปี 2555 เพราะเอกชนมองว่าการขึ้นค่าแรงทำได้แต่ต้องเป็นไปตามกลไก แต่นี่ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติที่ควรจะเป็นมีการครอบงำของคณะกรรมการไตรภาคีพิจารณาค่าจ้างจากฝ่ายการเมืองและการขึ้นค่าจ้างก็เป็นประเด็นการเมืองจากนโยบายหาเสียง โดยการนำร่องใน 7 จังหวัดนั้นขึ้นทีเดียวเฉลี่ย36-40%ซึ่งสูงเกินไปและยังกำหนดที่จะขึ้นทั่วประเทศให้เป็น 300 บาทต่อวัน 1 เม.ย.2556 นายทวีกิจกล่าว
ปัจจุบันนโยบายขึ้นค่าจ้างดังกล่าวกำลังส่งผลกระทบต่อการเจรจาสั่งซื้อและผลิตสินค้าในไทยในปี 2555 ซึ่งจะต้องเริ่มเจรจารับคำสั่งซื้อล่วงหน้าแล้วเนื่องจากผู้ผลิตจะต้องปรับเพิ่มต้นทุนจากผลพวงการขึ้นค่าจ้างไปยังสินค้าทำให้สินค้าของไทยเฉลี่ยแพงขึ้นทำให้ลูกค้าส่วนหนึ่งลังเลและเปลี่ยนใจหันไปสั่งซื้อที่ประเทศเพื่อนบ้านแทนซึ่งจะมีผลกระทบต่อส่งออกไทยแน่นอน
ขณะเดียวกันยังทำให้ผู้ผลิตสินค้าที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้นเช่น สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เซรามิก เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯมองการย้ายฐานไปยังเพื่อนบ้านแทนในปีหน้าเนื่องจากต้องอาศัยแรงงานเพื่อนบ้านที่ต่ำกว่าในการแข่งขันโดยพบว่ากัมพูชาค่าแรง 80 บาทต่อวัน เวียดนาม 100-110 บาทต่อวัน พม่า 40-50 บาทต่อวัน ลาว 80-100 บาทต่อวัน
นายทวีกิจกล่าวยอมรับว่า ปัจจัยเสี่ยงในการลงทุนในปี 2555 ของไทยอยู่ที่ 3 ปัจจัยสำคัญคือ 1. ภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเอกชนไม่มั่นใจว่าจะเกิดซ้ำหรือไม่ 2. นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันที่นำร่อง 7 จังหวัดและจะครอบคลุมทั่วประเทศ 1 เม.ย. 56 ยังรวมถึงความไม่แน่นอนการขึ้นเงินเดือน เป็น 1.5หมื่นบาทในส่วนราชการที่มีกระแสการเรียกร้องให้รวมถึงพนักงานทั่วไปอีกด้วย และ 3.ปัญหาการเมือง ที่ยังคงมีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ผลักดันให้การตัดสินใจขยายการลงทุนไปเพื่อนบ้านแทนที่ไทยจะสูงขึ้นในอนาคต แน่นอนว่าที่สุดคนไทยจะเสี่ยงกับภาวะว่างงานมากขึ้น
***จับตาแรงงานในอยุธยาเริ่มจ้างคนออก
นายพากร วังศิลาบัตร ประธานส.อ.ท.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า สิ่งที่น่าห่วงขณะนี้คือความไม่ชัดเจนของวิธีการจัดการปัญหาน้ำของรัฐบาลทั้งในปัจจุบันและอนาคตทำให้นักลงทุนส่วนหนึ่งเกิดความไม่เชื่อว่าปีหน้าปัญหาวิกฤตน้ำท่วมจะเกิดขึ้นซ้ำหรือไม่ แม้ว่าล่าสุดน้ำที่เข้าท่วมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการ 7นิคมฯจะมีการคลี่คลายและโรงงานต่างทะยอยเปิดดำเนินการผลิตแต่ภาพรวมก็ยังไม่มากนักเพราะสว่นหนึ่งรอการนำเข้าเครื่องจักรเข้ามาทำงานที่อาจต้องใช้เวลา 4-6 เดือนจึงทำให้บางโรงงานเริ่มจ้างพนักงานให้ลาออกและคาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
เรากำลังติดตามปัญหานี้ใกล้ชิดอยู่ตัวเลขคงตอบชัดๆ ยังไม่ได้แต่ภาพรวมหากยังมีเพิ่มขึ้นการจ้างลาออกคาดว่าจะอยู่ที่ไม่น้อยกว่า 20 %ของการจ้างงานในจังหวัดอยุธยา นายพากรกล่าว. |