เมื่อเวลา 15.30 น. ของวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วม กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต ตั้งอยู่ที่ศาลาพักริมทาง สะพานลอยคนข้าม แยกบางปะหัน ปทุมธานี โดยการสนับสนุนจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้เตรียมถุงยังชีพที่จะนำไปแจกให้กับคนงานตามพื้นที่ต่างๆ ตามที่คนงานพักอาศัยอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ โดยมีคนขับวินมอเตอร์ไซค์ (แรงงานนอกระบบ) ซึ่งอยู่ข้างๆศูนย์ช่วยเหลือได้มาช่วยยกของขึ้นและลงรถให้ตลอดเวลาที่เริ่มตั้งศูนย์ฯจนถึงปัจจุบันนี้
นายมงคล แสวงรัมย์ คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง อายุ 57 ปี กล่าวว่า อาศัยอยู่ที่ศาลารอรถประจำทางมาตั้งนานแล้ว เพราะเข้าบ้านไม่ได้ที่บ้านน้ำท่วมสูงมาก และตนเองก็กระดูกหักตรงหัวไหล่ แขนด้านซ้าย
ช่วงน้ำท่วมใหม่ๆ ได้ขับรถมอเตอร์ไซค์ออกรับจ้างตามปกติมีน้ำมันกระเพื่อมขึ้นบนถนน ทำให้รถมอเตอร์ไซค์ล้มลงไปแต่ไม่รู้ว่ากระแทกอะไร ไปโรงพยาบาลธรรมศาสตร์หมอบอกว่า กระดูกหักแต่ก็ไม่ได้รักษาอะไร ต้องนอนอยู่ที่ศาลาริมทางใกล้วินมอเตอร์ไซค์มาตลอด จนมีการตั้งศูนย์ช่วยเหลือรงงานฯ มาขอศาลาตั้งเพื่ออำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตนรู้ สึกดีใจมาก ด้วยหวังว่าจะได้ช่วยเหลือคนที่ลำบาก และได้ช่วยเหลือคนอื่นบ้าง ถึงแม้เราจะยังเจ็บไหล่ที่หัก ถ้าช่วยคนอื่นได้ก็ดีและได้บุญด้วย เห็นเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯมีแต่ผู้หญิง เลยช่วยยกของหนักๆทั้งนั้นก็เลยบอกคนขับวินมอเตอร์ไซค์ ให้คอยช่วยกันดูแลยกของช่วยกัน" นายมงคลเล่า
รู้สึกดีที่ได้มีส่วนร่วม ผมภูมิใจที่ได้ช่วยศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วม เป็นครั้งแรกที่ได้ช่วยคนแบบนี้ ปกติแล้วก็ไม่เคยช่วยใคร ผมเองก็เป็นผู้ประสบภัยเหมือนกัน ตอนนี้ก็ไปอาศัยตึกเช่า น้ำไม่ไหล ต้องหิ้วน้ำจากชั้นล่างขึ้นไปที่ชั้น 3 เช้าและเย็น ก็ 2 รอบ ค่าเช่าห้องก็ 2,000 บาท รวมน้ำและไฟ ตอนนี้ภรรยาผมก็พาลูกกลับบ้านต่างจังหวัด เพราะน้ำท่วมอยู่ลำบาก รอให้น้ำลดลงก่อนแล้วกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง หาเงินซื้อข้าวของใช้ใหม่หมด เพราะน้ำท่วมไม่เหลืออะไรแล้ว นายสมพร สารภีร์ อายุ 28 ปี กล่าว
ต้องการอาสาสมัครประจำศูนย์ด่วน
ในวันเดียวกันที่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานผู้ประสบภัยน้ำท่วม กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต ได้นำสิ่งของยังชีพพร้อมน้ำดื่มที่ได้แบ่งของไทยพีบีเอสมาจากศูนย์ช่วยเหลือแรงงานผู้ประสบภัยน้ำท่วมบางปะอิน อยุธยากว่า 100 ชุด ใส่รถกะบะเพื่อนำไปแจกให้กับคนงานในซอยพยอม ต.พยอม อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา
นางสาวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานศุนย์แรงงานกล่าวว่า ซึ่งในซอยนี้จะมีซอยแยกย่อยลงไปอีกเยอะ แต่ละซอยจะมีคนงานอาศัยอยู่อย่างหลากหลาย จะมีแรงงานในระบบ นอกระบบ แรงงานข้ามชาติ โดยส่วนใหญ่คนงานจะเป็นแรงงานในระบบ(คนงานในโรงงานที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33) และแรงงานนอกระบบ(พ่อค้า,แม่ค้า,หาบเร่,แผงลอย,วินมอเตอไซค์,แม่บ้านฯลฯ) ซึ่งเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯที่อาสามาทำงานเพียง 4 คน และเป็นผู้หญิง และต้องแบ่งกันทำงาน โดยจะมีทีมงานประสานงาน,ทีมลงพื้นที่นำของไปแจกจ่าย, ขอเงินสนับสนุน สิ่งของบริจาค กับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อนำมาซื้อของที่จำเป็นที่จะต้องแพคใส่ถุงยังชีพ และทีมงานทั้งหมดจะต้องมารวมกันเพื่อแพคถุงยังชีพหลังจากที่กลับมาจากประสานงาน และจากการแจกถุงยังชีพแล้ว ในการแจกถุงยังชีพของศูนย์เป็นไปด้วยความยากลำบาก กระจายของได้ไม่ทั่วถึงเพราะขาดคนในการทำงาน และในช่วงนี้โรงงานบริษัทต่างๆเริ่มเปิดและเรียกพนักงานกลับเข้าทำงานเป็นบางส่วนแล้วยิ่งทำให้เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯขาดคนที่จะทำงาน ซึ่งยังดีที่ได้แรงงานนอกระบบวินมอเตอร์ไซค์ช่วยยกของบ้าง
ถ้าหากท่านใดสนใจที่จะเป็นจิตอาสาในการช่วยทำงานกับศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วม กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต ซึ่งศูนย์มีความต้องการคนและสิ่งของที่จะแพคใส่ถุงยังชีพอีกเป็นจำนวนมาก
อัยยลักษณ์ เหล็กสุข นักสื่อสารแรงงาน รายงาน