เมื่อวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2554 มีพนักงานจำนวนหนึ่งรวมตัวกันที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเขียนคำร้อง คร.7 ซึ่งเป็นพนักงานของ บริษัท เซไดคาเซ ประเทศไทย จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมโรจนะ ต.คานหาม อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ผลิตอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ เป็นตัวฟีดกระดาษ เครื่องถ่ายเอกสารและเครื่องปริ้นเตอร์ นายจ้างเป็นชาวญี่ปุ่น มีพนักงานทั้งหมดประมาณ 160 คน เป็นพนักงานเหมาค่าแรง 10 กว่าคน พนักงานประจำจะได้รับฐานเงินเดือนที่ 7,000 กว่าบาท ในส่วนของรับเหมาค่าแรงจะได้เป็นรายวันวันละ 191 บาท ค่าล่วงเวลาต่างหาก
นายประเวช มีสิทธิ (นามสมมุติ) พนักงานฝ่ายผลิต กล่าวว่า ทำงานที่นี่มา 12 ปี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทุ่มเททำงานให้กับบริษัทอย่างเต็มที่ แต่มาในระยะหลังนี้บริษัทเริ่มจ่ายค่าจ้างไม่ตรงเวลา วันที่ 1 พฤศจิกายน2554 ได้ยื่นขอเขียนคำร้องคร.7 กับทางเจ้าหน้าที่สวัสดีการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาครั้งหนึ่ง เนื่องจากปัญหาก่อนหน้านี้นายจ้างก็ไม่ยอมจ่ายค่าจ้างมาแล้ว ต้องให้เจ้าหน้าที่สวัสดิการจังหวัดเข้าไปไกล่เกลี่ยและบังคับให้นายจ้างจึงยอมจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายให้
ต่อมาเมื่อถึงงวดการจ่ายค่าจ้างวันที่ 21 กันยายน-20 ตุลาคม 2554 ซึ่งต้องจ่ายค่าจ้างวันสิ้นเดือน พอถึงกำหนดกลับไม่มีเงินโอนเข้าบัญชีให้กับคนงาน ตนเองได้โทรศัพท์สอบถามเพื่อนที่ทำงานที่เดียวกันว่า เงินค่าจ้างที่นายจ้างโอนให้หรือไม่ เพื่อนๆตอบว่าไม่มีเงินเข้าบัญชีเช่นกัน ทำให้คนงานทั้งหมดเริ่มกังวลใจเนื่องจากคนงานเองก็มีค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าบัตรเครดิต รายจ่ายที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ถึงเวลาที่เจ้าหนี้มาทวงจะเอาเงินที่ไหนไปชำระให้ได้ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับคนงาน อาจไม่มีที่อยู่ รถถูกยึด หรือถูกฟ้องร้องเป็นคดีอาญาฐานช่อโกง พวกตนเองได้พยายามโทรไปหาฝ่ายบุคคล เพื่อสอบถามความชัดเจนว่าจะโอนเงินให้วันที่ 10 พ.ย.แต่พอไปกดเงินที่ตู้ ATM เงินเดือนไม่เข้าเหมือนเดิม เมื่อติดตามฝ่ายบุคคลอีกครั้ง ได้รับคำตอบว่านายญี่ปุ่นติดต่อไม่ได้ ต้องรอนายญี่ปุ่นกลับมาก่อน นายประเวชกล่าว
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกล่าวว่า ถ้าบริษัทไม่จ่ายเงินเดือนในงวดวันที่ 21 กันยายน -20 ตุลาคม 2554 ในกรณีนี้ นายจ้างมีความผิด แต่หลังจากเดือนนี้แล้วนายจ้างจะอ้างวิกฤตออกคำสั่งให้จ่ายยังไงก็ได้ เพราะเป็นเหตุการณ์สุดวิสัยนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างก็ได้ แต่ตอนนี้จะรับเรื่องเขียนคำร้องคร.7 ไว้ก่อน ซึ่งต้องเป็นไปตามขั้นตอกฎหมาย ต้องเรียกนายจ้างเข้ามาคุยก่อน และแจ้งนายจ้างให้รับทราบถึงข้อมูล ช่วงนี้ขอเวลาในการติดต่อกับนายจ้างก่อน และจะพยายามคุย กับนายจ้างให้รีบจ่ายก่อน ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลา 60-90 วัน
ภายใต้วิกฤตน้ำท่วม ความเดือดร้อนไม่ว่า จะเป็นนายจ้างหรือลูกจ้างต่างมีความเดือดร้อน แต่นายจ้างยังมีกองทุนที่ประกันความเสี่ยงบริษัท ในส่วนของลูกจ้างนั้นไม่มีกองทุนความเสี่ยงในเรื่องใดๆเลย
หมายเหตุ : ข้อแนะนำในการร้องทุกข์
การร้องทุกข์ เกิดจากการที่นายจ้างฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิที่ลูกจ้างจะได้รับเงินอย่างใดอย่างหนึ่งตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และลูกจ้างประสงค์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการให้ลูกจ้างได้รับเงินตามสิทธิดังกล่าว สิทธิที่จะได้รับเงิน เช่น ค่าจ้างค้างจ่าย ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด เงินประกัน ค่าชดเชย
วิธีการร้องทุกข์
1.เขียนคำร้องตามแบบ คร.7
2.ถ่ายสำเนาบัตรประชาชนทั้งสองด้าน 1 ชุด
3.ข้อมูลเกี่ยวกับ ชื่อบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือ ชื่อ สกุลของนายจ้างที่ถูกต้อง
4.ข้อมูลเกี่ยวกับ ที่อยู่ของนายจ้างโดยละเอียด เช่น บ้านเลขที่ หมู่ที่ ตรอก ซอย ชื่อซอย ถนน ตำบล อำเภอ จังหวัด หมายเลขโทรศัพท์
5.หลักฐานการเป็นลูกจ้าง เช่น ใบสมัครงาน เอกสารลงเวลาทำงาน บัตรประจำตัวลูกจ้าง เอกสารรับค่าจ้าง
6.รายละเอียดค่าจ้างค้างจ่ายกรณีร้องค่าจ้าง
7.รายละเอียดของลูกจ้างผู้ร้อง เช่น วันเดือนปีที่เข้าทำงาน อัตราค่าจ้าง ตำแหน่งงาน
8.รายละเอียดของปัญหาทีร้องทุกข์ เช่น วันเวลาทำงานที่เกิดเหตุ จำนวนวันที่ค้างจ่าย สาเหตุที่เกิดเรื่อง
9.รายละเอียดของพยาน เอกสาร พยานบุคคล
10.อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องร้องทุกข์
11.ลุกจ้างต้องไปร้องทุกข์ด้วยตนเอง ยกเว้นลูกจ้างเสียชีวิตให้ทายาทไปร้องทุกข์แทนได้
เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการเรื่องร้องทุกข์ให้เสร็จภายใน 60 วัน ถ้ามีเหตุจำเป็นอาจขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 30 วัน
อัยยลักษณ์ เหล็กสุข นักสื่อสารแรงงาน รายงาน