Thai / English

ท่วมแล้ว! สมุทรสาคร-นครปฐม สั่งหยุดงานระนาว



09 .. 54
http://voicelabour.org

น้ำท่วมลามถึงสมุทรสาครและนครปฐม หลายโรงงานจมน้ำสั่งหยุดงานจ่าย 75% บางโรงงานให้ลากิจลาพักร้อนไม่จ่ายค่าจ้าง มีคนงานจำใจลุยน้ำไปทำงานกลัวขาดรายได้ บางโรงงานเตรียมย้ายแรงงานข้ามชาติไปอยู่ศูนย์อพยพ ขณะแรงงานงานไทยจำนวนมากหอพักถูกน้ำท่วมหนีกลับบ้านต่างจังหวัด ด้านรองประธาน คสรท.ซึ่งโรงงานใกล้ถูกน้ำท่วมหวั่นเกิดการฉวยโอกาสลดค่าจ้างสวัสดิการและเลิกจ้าง เตรียมตั้งศูนย์ช่วยเหลือและเก็บข้อมูลเสนอรัฐบาลดูแลช่วยเหลือทั้งนายจ้างลูกจ้าง

สถานการณ์น้ำท่วมในเขตจังหวัดนครปฐมและสมุทรสาคร ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมาทำให้สถานประกอบการและผู้ใช้แรงงานจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะในบริเวณ ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร พุทธมณฑลสายสี่ สายห้า และ ต.อ้อมใหญ่ อ.สามพราน จ.นครปฐม ซึ่งมีโรงงานอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก ข้อมูลจากกองทุนเงินทดแทนของทั้งสองจังหวัดมีคนงานกว่า 500,000 คน และจังหวัดสมุทรสาครมีคนงานพม่ามากที่สุดประมาณ 200,000 กว่าคน ซึ่งขณะนี้หลายโรงงานสั่งหยุดงานแล้ว

นางสาวเกศแก้ว ทะเบียนธง คนงานทอถุงเท้าบอกว่า “ทางโรงงานไม่หยุดแต่ให้คนงานสามารถลางานได้ เช่น ลากิจ ลาพักร้อน โดยไม่ได้รับค่าจ้าง เงื่อนไขดังกล่าวทำให้คนงานจำใจต้องไปทำงาน ถึงแม้ว่าการเดินทางมาทำงานจะลำบากก็ต้องไปทำกลัวขาดรายได้ และหลายคนก็กังวลไม่แน่ใจว่า น้ำจะท่วมนานขนาดไหน กลัวตกงาน”

นางสาวนิภา มองเพชร คนงานโรงงานทอผ้าย่านอ้อมน้อย เล่าว่า “ทางโรงงานพยายามป้องกันอย่างเต็มที่กั้นทุกทางไม่ให้น้ำเข้าโรงงาน แต่ปรากฎว่าน้ำผุดขึ้นกลางสนามหญ้าในโรงงานอย่างรวดเร็วทำให้น้ำท่วมโดยรอบบริเวณโรงงาน ต้องเร่งสูบน้ำออก ทางด้านนายจ้างก็ได้สั่งหยุดงานตั้งแต่วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2554 ถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน โดยจ่ายค่าจ้าง 75 % และสั่งหยุดอีกรอบ 2 ตั้งแต่วันที่ 10-14 พฤศจิกายน เนื่องจากกำแพงปูนถูกน้ำด้านนอกดันแตกทำให้น้ำทะลักเข้าเต็มพื้นที่ โรงงานมีพนักงานทั้งหมดกว่า 400 คน มีทั้งคนงานไทยและคนงานพม่า ซึ่งก็ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้ คนงานที่เช่าบ้านอยู่ตามห้องแถวไม่สามารถอยู่ได้เพราะน้ำท่วมเท่าอก ต้องหนีน้ำกลับบ้านนอกบ้าง หนีไปอยู่กับญาติๆที่น้ำไม่ท่วมบ้าง ส่วนคนที่อยู่หอพักก็ยังมีอยู่ราว 40 คน เป็นคนไทย 10 คน คนพม่า 30 คน ซึ่งนายจ้างก็ถามตลอดเวลาว่าจะย้ายไปอยู่ศูนย์อพยพไหม หากไปทางนายจ้างจะจัดรถรับส่งให้ หลายคนก็ยังไม่อยากไปเพราะตอนนี้น้ำไฟก็ยังไม่ถูกตัด หากตัดเมื่อไหร่ก็คงต้องย้าย”

นางสาวอรัญญา ไชยมี กรรมการกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่เล่าว่า “ที่โรงงานทำเกี่ยวกับทอผ้าลูกไม้ มีพนักงานเกือบ 200 คน ได้รับผลกระทบอย่างหนัก น้ำเริ่มเอ่อเข้าโรงงาน เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 พนักงานทุกคนระดมกำลังช่วยนายจ้างยกข้าวของ และเครื่องจักรเท่าที่จะยกได้ช่วยกันทั้งวัน ในส่วนเครื่องจักรที่มีขนาดใหญ่ไม่สามารถยกได้น้ำไหลเข้าท่วมเครื่องจักรทั้งหมดในวันต่อมา ขณะนี้ไม่เหลือเลยจมน้ำหมด นายจ้างสั่งหยุดงานตั้งแต่วันที่ 3-10 พฤศจิกายน 2554 โดยจ่ายค่าจ้าง 75% คนงานส่วนใหญ่กลับบ้านนอกเพราะอยู่ไม่ได้น้ำท่วมห้องเช่า ยังไม่รู้เหมือนกันว่าวันที่ 11 พฤศจิกายน จะสามารถเข้าโรงงานได้หรือเปล่า เข้าไปแล้วคงทำงานไม่ได้เพราะเครื่องจักรจมน้ำหมดต้องซ่อมเครื่อง”

ด้านนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งทำงานที่โรงงานนครหลวงถุงเท้าไนล่อน ที่ต.อ้อมใหญ่ จ.นครปฐม และขณะนี้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเพียงเล็กน้อย ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อวันที่ 6 ที่ผ่านมาทางกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ได้มีการประชุมกรรมการกลุ่มฯเพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือคนงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในครั้งนี้ทั้งในเขตจังหวัดนครปฐมและจังหวัดสมุทรสาคร โดยเบื้องต้นได้ใช้สถานที่ทำการกลุ่มฯ ตั้งอยู่ที่ 50/32 หมู่ 6 ต.ท่าข้าม อ.สามพราน จ.นครปฐม เป็นศูนย์กลางในการประสานงานและศูนย์รับสิ่งของบริจาค ซึ่งมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมากว่า 10 คนในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประสานงาน และจะมีการลงพื้นที่เพื่อสำรวจความเดือดร้อนและความต้องการช่วยเหลือในเบื้องต้นต่อไป

นางสาววิไลวรรณ ยังกล่าวอีกว่า “กลัวว่าต่อไปนายจ้างจะฉวยโอกาสไม่จ่ายค่าจ้าง ลดสวัสดิการหรือแม้แต่การเลิกจ้างคนงาน จึงต้องเร่งเก็บข้อมูลเพื่อนำเสนอหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นควรเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเข้ามาดูแลทั้งสถานประกอบการและลูกจ้างโดยเร็ว”

นักสื่อสารแรงงาน อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ รายงาน