แม้น้ำในอยุธยาจะลดลงในบางพื้นที่บางส่วน แต่ในอีกหลายพื้นที่น้ำยังคงสูงอยู่ การเดินทางยังคงยากลำบากต้องใช้เรือโดยสารเพียงอย่างเดียว ในการเดินทางแต่ละครั้งต้องมีการวางแผนก่อนที่จะออกเดินทางทุกครั้ง เพราะเมื่อออกจากบ้านไปแล้ว ต้องนำเครื่องยังชีพในชีวิตประจำวันกลับมาให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตเพื่อให้อยู่รอดต่อไป
นางลออ วิไลสงค์ ทำงานเป็นแม่บ้านใน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งหนึ่งในจังหวัดอยุธยา กล่าวว่า ตนเอง และครอบครัวไม่สามารถที่จะออกไปรับถุงยังชีพตามศูนย์ต่างๆได้ ต้องรอคอยจากคนที่จะนำของบริจาคนั่งเรือมาให้ เพราะน้ำท่วมสูงประมาณ 3 เมตร หลังจากบ้านถูกน้ำท่วม ตนเองสามีและลูก 2 คน ต้องออกมาอาศัยโรงเรียนวัดสุคันธาราม นางลออยังกล่าวอีกว่า เนื่องจากสามีขาขวาพิการจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ ไม่สามารถเดินได้การที่จะออกไปขอความช่วยเหลือจึงยากมาก หรือทำไม่ได้ ในช่วงนี้ไม่มีใครนำถุงยังชีพมาให้เลย เพิ่งมีสหภาพแรงงานเข้ามาแจกถุงยังชีพ รู้สึกขอบคุณมาก เพราะรอคอยความช่วยเหลืออยู่ เพราะน้ำยังท่วมออกไปหากินเองไม่ได้
นายประยง ไกรสมัคร สามีของนางลออ กล่าวว่า เนื่องจากเป็นคนพิการมาหลายปีแล้ว ไม่สามารถทำงานได้ มีรายรับเข้ามาทางเดียวจากภรรยา ส่วนลูกยังเรียนหนังสืออยู่ไม่ได้ทำงานภาระเลยตกหนักอยู่ที่ภรรยาคนเดียว ยิ่งช่วงนี้น้ำท่วมบ้านหมดตัวแบบไม่เหลืออะไร แบบนี้ยิ่งทำให้น้ามีความลำบากมากยิ่งขึ้น หลังจากน้ำลดลงไม่รู้ว่าบ้านจะเป็นเสียหายแค่ไหน อาจต้องปลูกสร้าง ซ้อมแซมใหม่ แล้วจะเอาเงินมาจากที่ไหน เพราะคงไม่มีใครรับคนพิการเข้าทำงาน
นายประยง กล่าวต่อว่า เมื่อน้ำลดลง คงต้องหาที่อยู่เพื่อพักพิงชั่วคราวใหม่ เพราะโรงเรียนต้องเปิดลูกต้องเรียนหนังสือ ค่าใช้จ่ายนี้จำทำอย่างไรยังไม่รู้เหมือนกัน
นายมุลละ ศรีตระการ เลขาสหภาพแรงงานไทยโทเรย ซินเทติคส์ เป็นหน่วยอาสาลงพื้นที่(นำถุงยังชีพไปแจกคนงานและชาวบ้าน) กล่าวว่า ผมได้รับการประสานงานให้มาช่วยที่ ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานประสบภัยน้ำท่วมในนามกลุ่มสหภาพแรงงานอยุธยา และใกล้เคียง ผมได้ลงพื้นที่นำถุงยังชีพ จากศูนย์ไปแจกให้คนงานและชาวบ้านในพื้นที่ ที่น้ำลึก และเข้าออกลำบากแล้ว ความจริงบ้านเช่าผมน้ำไม่ท่วม มีเตียงนุ่มๆให้นอนสบาย ไม่ต้องทำงานนี้ก็ได้ แต่เห็นสภาพแวดล้อมที่คนงานและชาวบ้านอาศัยอยู่บนหลังคาบ้าน อยู่ตามโรงเรียน ผมเลยตัดสินใจขอเป็นหน่วยอาสาลงพื้นที่ นำของไปตามพื้นที่ต่างๆ
นายมุลละเล่าอีกว่า หลังจากที่น้ำลดลงแล้วการกู้นิคมต่างๆจะตามมา และคงมีหลายบริษัทที่มีการเลิกจ้างโดยที่พนักงานทั้งรู้ตัว และไม่รู้ตัว ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ พนักงานเหมาค่าแรงเพราะนายจ้างต้องเลือกที่จะเลิกจ้างก่อนเป็นอันดับแรก ที่สำคัญที่สุดรัฐบาลต้องมีมาตรการในการเยียวยาระยะยาวให้กับคนงาน และต้องไม่จำกัดเฉพาะคนที่ต้องมีทะเบียนบ้านอยู่ในพื้นที่อย่างเดียวต้องกระจายการเยียวยาให้ครอบคลุมเพราะได้รับความเดือดร้อนเหมือนกันและไม่ใช่ช่วยแค่ 5,000 บาท ทุกอย่างจบ
รัฐบาลจะทำอย่างไรกับอุทกภัยน้ำท่วมครั้งนี้ จะช่วยเหลือประชาชนอย่างไร จ่ายหลังละ 5,000 บาท ทุกหลังคาเรือน รัฐบาลจะทำได้จริงไหม และจะมีการพิจารณาอย่างไร ถ้าจ่ายไม่ได้ เกณฑ์การพิจารณาจะวัดจากอะไร ประชาชนรอคอยคำตอบจากรัฐบาลอยู่ นายมุลละกล่าว
อัยยลักษณ์ เหล็กสุข นักสื่อสารแรงงาน รายงาน