สภานายจ้างเสนอ 5 เงื่อนไข แลกค่าจ้าง 300 บาท29 .. 54 ประชาไท ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทยเสนอ 5 ข้อเสนอแลกค่าจ้าง 300 บาท ให้ปรับปรุงกฎหมายความหมายของ "นายจ้าง" การระบุให้ "ค่าจ้างขั้นต่ำ" คือเงินที่ได้รายวันรวมถึงเงินได้อื่นๆ เช่น ค่าล่วงเวลา ค่ากะ ค่าครองชีพ และต้องกำหนดว่าจะไม่ปรับค่าจ้างขึ้นอีกเป็นเวลา 3 ปี ด้านนายจ้างกลุ่มไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ ขอรวมค่าสวัสดิการกับค่าจ้าง 300 บ. เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 54 ที่ผ่านมาสำนักข่าวไทยรายงานว่า นางศิริวรรณ ร่วมฉัตรทอง ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาชิกได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยได้ข้อสรุป 5 ประเด็น พร้อมกับนำเสนอต่อ นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เพื่อให้เสนอต่อรัฐบาลให้นำไปพิจารณาในการหาทางออกเกี่ยวกับนโยบายปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อไป โดยข้อเสนอ 5 แนวทาง คือ
1. ให้รัฐบาลจัดวาระเร่งด่วนในการปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับค่าจ้าง เช่น ความหมายของนายจ้าง การระบุให้ค่าจ้างขั้นต่ำ คือเงินที่ได้รายวันรวมถึงเงินได้อื่นๆ เช่น ค่าล่วงเวลา ค่ากะ ค่าครองชีพ และต้องกำหนดว่าจะไม่ปรับค่าจ้างขึ้นอีกเป็นเวลา 3 ปี พร้อมเสนอให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำออกเป็น 2 ระดับ โดยแรงงานเข้าใหม่ แรงงานอายุ 15-18 ปี ตลอดจนแรงงานต่างด้าวซึ่งเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ให้รับค่าจ้างในอัตราร้อยละ 75 ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นเวลา 6 เดือน พร้อมกับให้นำระบบค่าจ้างรายชั่วโมง (Hourly wage) มาใช้
2. ให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายแทนนายจ้างและลูกจ้าง โดยการลด หรืองด การเก็บเงินสมทบประกันสังคมเป็นเวลา 1 ปี
3.ใช้มาตรการด้านภาษี และส่งเสริมการลงทุน เช่น ให้ เอสเอ็มอี บันทึกค่าจ้างพนักงานได้เป็น 3 เท่า ของที่จ่าย เป็นเวลา 3 ปี ขอให้ยกเว้นการเก็บภาษีนิติบุคคล 3 ล้านบาทแรก ให้กับ เอสเอ็มอีขอให้ขยายสิทธิประโยชน์ของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเดิมออกไปอีก 3 ปี รวมทั้งขอให้ขยายเวลายื่นโครงการตามประกาศของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ฉบับที่1/2553 เรื่องนโยบายส่งเสริมการลงทุนแก่เอสเอ็มอี จากเดิมที่จะหมดเขตใน 31 ธ.ค.2554 ให้ขยายออกไปเป็น 31 ธ.ค.2556 และขอให้ขยายวงเงินการซื้อเครื่องจักรเก่าต่อเครื่องจักรใหม่จาก 10 ล้านบาท เป็น 20 ล้านบาท
4. ขอให้รัฐบาลหาแหล่งเงินกู้และการสนับสนุนทางการเงิน โดยให้มีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ เอสเอ็มอี
5.ข้อเสนอแนะด้านอื่น ๆ เช่น การปรับค่าจ้างควรเป็นไปตามพื้นที่ จนกว่ารัฐจะจัดระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานได้เท่าเทียมกันทั้งประเทศ ลดข้อจำกัดของกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการลงทุนในเทคโนโลยี รวมทั้งการจัดทำแผนระยะยาวระดับประเทศให้เป็นรูปธรรม การลดกฎระเบียบให้เกิดความยืดหยุ่นในการใช้แรงงานต่างด้าว การคัดเลือกคณะกรรมการค่าจ้างตามหลักความสามารถ หรือประสบการณ์จริง
ทั้งนี้ ขอให้รัฐบาลประกาศมาตรการการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ให้มีความชัดเจนแก่ภาคเอกชน เช่น การลดภาษี หรือการส่งเสริมการลงทุนภายในเดือน ต.ค.2554 นี้ เพื่อให้ภาคเอกชนมีแนวทางการทำงานที่ชัดเจน รวมทั้งสามารถวางแผนงานในปีถัดไป
นายจ้างกลุ่มไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ ขอรวมค่าสวัสดิการกับค่าจ้าง 300 บ.
ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานเมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่กระทรวงแรงงาน (รง.) กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ และสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เข้าร่วมหารือกับ นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับแนวทางปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดยจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 40% ภายในวันที่ 1 ม.ค.2555 และปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ภายในวันที่ 1 ม.ค.2556
นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ นายกสมาคมสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า สมาคมมี 47 บริษัท จากการที่ได้ประชุมสมาคมไม่ขัดข้องเรื่องนโยบาย แต่เรามองความเป็นอยู่เรื่องรายได้มากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ อยากให้มองรวมถึงรายได้คงที่ที่เป็นตัวเงินที่ได้รับ เช่น ค่าครองชีพ ค่าเดินทาง ค่ากะกลางวัน-กลางคืน ค่าอาหาร และอื่นๆ อยู่บนพื้นฐานการทำงาน 8 ชม.ไม่รวมเบี้ยขยัน โอที ค่าทักษะทำงานยาก ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 30-60 บาทต่อวัน แล้วแต่บริษัท หรือตกประมาณไม่เกิน 1,800 บาทต่อเดือน แล้วไปรวมกับเงินเดือนตามค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งบางบริษัทมีแค่ค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน แต่ไม่มีค่าสวัสดิการใช้จ่ายเหล่านี้ให้กับแรงงาน จึงคิดว่าน่าจะนำรายได้เหล่านี้มาคำนวณรวมกับค่าจ้างขั้นต่ำ โดยครึ่งหนึ่งของกลุ่มธุรกิจไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์พร้อมทำได้เลยตามเงื่อนไขนี้ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งยังไม่มีพร้อมก็ให้ปรับเป็นขั้นบันได โดยค่อยๆปรับขึ้นในระยะเวลา 3 ปี เพราะการปรับครั้งนี้เป็นการปรับโครงสร้างของประเทศ ทำให้นายจ้างปรับต้นทุนการผลิตไม่ทัน
ทุกวันนี้แรงงานในกลุ่มธุรกิจไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รับรายได้ทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 10,000-12,000 บาทต่อเดือน ถ้าไม่รวมโอทีจะอยู่ที่ประมาณ 8,000 บาท ซึ่งถ้ามีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดยไม่นำค่าสวัสดิการมาคิดรวมด้วยอาจจะเกิดการยกเลิกโอที ค่าประกันสุขภาพ เงินกองทุนสะสมที่ให้กัน 5-10% ที่ให้เมื่อตอนออกจากงาน ก็อาจจะต้องล่มสลายไป เพราะกลุ่มธุรกิจนี้เกือบทั้งหมดไม่ได้ประโยชน์จากการลดภาษีนิติบุคคลเพราะได้ใช้สิทธิ์บีโอไอ ซึ่งได้สิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่แล้ว นายสัมพันธ์ กล่าว
นายสัมพันธ์ กล่าวอีกว่า คิดว่าคนน่าตกงานกันมากขึ้น เพราะบริษัทใหญ่ๆ มีทางที่จะปรับตัวเอง ใช้เครื่องจักรมากขึ้น คัดกรองคนงานมากขึ้น ส่วน SME คงจะย้ายฐานการผลิตมากขึ้น ถ้ามีการปรับขึ้นในส่วนของ 7 จังหวัด แรงงานจะเทมาที่ 7 จังหวัดที่ได้ 300 บาท ส่วนจะมาปรับ 300 ให้ครบทุกจังหวัดในปีต่อมา เชื่อว่าพนักงานก็อิ่มตัวแล้ว ไม่อยากเคลื่อนย้ายอีก ซึ่งผมมองว่าควรสนับสนุนเพิ่มค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานมากกว่า ส่วนเรื่องจะพัฒนาแรงงานฝีมือเป็นแรงงานฝีมือรวดเดียว 3 เดือน คิดว่าเป็นไปได้ยาก เพราะแค่ธุรกิจไฟฟ้าที่มีแรงงานกว่าแสนคน 80% เป็นแรงงานไร้ฝีมือ คิดว่าต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการพัฒนาฝีมือ
นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การเสนอสิ่งหนึ่งออกมาเป็นปกติที่ต้องมีบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย แต่ผมต้องเคาะระฆัง เพื่อเป็นแนวทางเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้ากลุ่มไหนมีผลกระทบ ผมก็จะประสานหลายๆ หน่วยงานให้ ซึ่งตอนนี้ถ้ามีปัญหาอะไรก็จะขอแลกเปลี่ยน ผมมองว่า ที่ทำตามนโยบายนี้ก็เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ได้มีในเรื่องของผลประโยชน์หรือการทุจริต แต่เป็นการปรับรายได้ขั้นต่ำที่มีประโยชน์ต่อลูกจ้าง เพราะที่ผ่านมามีการปรับขึ้นเพียงไม่กี่บาท ซึ่งพอมีการปรับขึ้นแล้วเงินเฟ้อก็ตามทัน ซึ่งคิดว่านโยบายนี้จะช่วยแรงงานจริงๆ โดยในปีแรกอาจจะมีผลกระทบบ้างแต่ก็ต้องทำ
ข้อดีของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 2 ระดับ เช่น มีเวลาให้นายจ้างปรับตัว มีเวลาให้แรงงานพัฒนาฝีมือแรงงาน และยังช่วยลดการกดดันของแรงงานที่คาดหวังในนโยบายนี้ โดยเห็นว่าการนำค่าสวัสดิการมารวมเป็นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นขึ้นอยู่กับสัญญาที่นายจ้างตกลงกับลูกจ้างซึ่งสามารถทำได้ และเชื่อว่าหากมีการไล่คนงานออกจะมีสถานประกอบการอื่นๆ รองรับ ปลัดแรงงาน กล่าว
นางกรพินฐ์ พนาสันติภาพ ผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประมาณ 10 ปี การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 40 บาท แต่ตอนนี้ภายในปีเดียวจะต้องปรับขึ้นไปกว่า 80 บาท ซึ่งคิดว่ากระชากเกินไป แล้วแรงงานเดิมที่ทำงานอยู่ก็ต้องขยับปรับขึ้นไปอีก เพื่อความเป็นธรรม ส่วนการยกระดับผลิตภาพแรงงานคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเราได้ทำอยู่แล้ว จากธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงทำให้ต้องมีการพัฒนาฝีมือแรงงานอยู่ตลอดเวลา ส่วนการใช้สิทธิ์การลดค่าใช้จ่ายสองเท่าจากการพัฒนาฝีมือแรงงานเราได้ใช้สิทธิ์ตรงนี้อยู่แล้ว ส่วนเรื่องจะให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เราก็มีภาระตรงนี้อยู่แล้วเพราะไม่มีสินทรัพย์ไปให้กู้แล้ว
ทั้งนี้มีการนำแนวทางเหล่านี้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลางอีกครั้งในวันที่ 5 ต.ค.นี้ |