Thai / English

นายจ้างโอดค่าแรง 300 บ.ต่างชาติขยับย้ายหนี "ซับคอนแทร็ค" หวั่นเจ๊ง



14 .. 54
ประชาไท

ผู้ประกอบการขู่นโยบาย ค่าแรง 300 ทำบ.ต่างชาติขยับย้ายหนี ด้านบริษัทเหมาช่วง (ซับคอนแทร็ค) กินหัวคิวแรงงานน้อยลง หวั่นสูญพันธุ์

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 54 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ร่วมกับ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ และกระทรวงแรงงานจัดการสัมมนาทวิภาคีเชิงปฏิบัติการเรื่อง ทางออกของนโยบาย การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เพื่อรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการ เพื่อนำมาวางมาตรการผู้ประกอบการโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ วันละ 300 บาท โดยมีนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน เป็นประธานการเปิดสัมมนา

นายเผดิมชัย กล่าวว่า ในเบื้องต้นได้มีการประสาน กับกระทรวงการคลังในการออกมาตรการภาษีช่วยเหลือ เช่น การลดหย่อนภาษีนิติบุคคลในปี 2555 จาก 30% เหลือ 27% และประสานกับกระทรวงพลังงานการไฟฟ้า การประปา ในการหาแนวทางลดค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้าตาม ที่ภาคเอกชนเสนอ รวมถึงยังมีมาตรการลดการส่งเงินสมทบ ประกันสังคมในส่วนของนายจ้าง ซึ่งปัจจุบันส่งอยู่ที่ 5% ของค่าจ้าง ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาอัตราที่ดีที่สุด เพื่อให้ เป็นตัวเลขที่นายจ้างและลูกจ้างรับได้และเป็นมาตรการชั่วคราว รวมทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงานให้คุ้มกับค้าจ้าง

"อยากให้ผู้ประกอบการเร่งส่งข้อเสนอที่ต้องการ ให้รัฐบาลช่วยเหลือจากผลกระทบในการปรับค่าเพิ่มรายได้ไม่ต่ำกว่า 300 บาทต่อวัน ให้แก่แรงงานมาโดยเร็ว เพื่อที่รัฐบาลจะได้ออกมาตรการช่วยเหลือให้ทันการปรับค่าเพิ่มรายได้ใน 7 จังหวัดนำร่องได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานีและภูเก็ต ในวันที่ 1 มกราคม 2555 และจะนำอัตราที่เพิ่มขึ้น 40% ไปบวกเพิ่มให้ 70 จังหวัด เพื่อปรับ ฐานค่าจ้างให้สูงขึ้นก่อนปรับให้มีอัตรา 300 บาทต่อวัน เท่ากันทั่วประเทศ"รมว.แรงงาน กล่าว

ด้าน นายอนันตชัย คุณานันทกุล ประธานสภา องค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จะเร่งสรุปปัญหา และข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อเสนอ ให้กระทรวงแรงงาน เร่งวางมาตรการช่วยเหลือ ซึ่งขณะนี้กลุ่ม บริษัทเหมาช่วง (ซับคอนแทร็ค) ประสบปัญหากับนโยบายนี้ มากเนื่องจากต้นทุนของกลุ่มนี้คือค่าแรงเพียงอย่างเดียว ซึ่งมีบางบริษัทที่ย้ายฐานผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน บ้างแล้ว หากรัฐบาลไม่ออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มนี้ด้วย เกรงว่าบริษัทซับคอนแทร็คจะค่อยๆ หมดไป นายเชียรช่วง กัลยาณมิตร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แม็กซอน ซิสเต็ม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการต่างชาติ โดยเฉพาะธุรกิจเครื่องใช้ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เริ่มขยับตัวเตรียมที่จะย้ายฐาน การผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่าตรงแนวตะเข็บ ชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก และแนวเขตติดกับ จ.กาญจนบุรี รวมถึงที่เกาะกง และปอยเปต ประเทศกัมพูชา เนื่องจาก ต้นทุนค่าแรงถูกกว่ามาก ซึ่งอยู่ที่ระดับ 80 บาทต่อวัน

นายเชียรช่วงกล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบต่างชาติ กังวลกับนโยบายค่าจ้าง 300 บาทมาก หากเป็นจริงหลายรายไปแน่ เพราะรายได้เท่าเดิม และต้นทุนค่าแรง ลดลง ซึ่งตนเองก็ได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่เพื่อเตรียม หาฐานการผลิตใหม่ รวมทั้งเพื่อนๆ ผู้ประกอบการที่เป็น หุ้นส่วนชาวเกาหลีพบว่าพื้นที่ที่น่าสนใจและเนื้อหอม มากที่สุดตอนนี้คือที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา เนื่องจาก ค่าแรงถูก และมีระบบสาธารณูปโภคพร้อมรองรับ

นายดรากันด์ เรสดิก ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายนายจ้าง องค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวว่า รัฐบาลควรมีมาตรการอื่นมาช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีกว่า 3 แสนแห่ง เนื่องจากมาตรการด้านภาษีกลุ่มเอสเอ็มอี ไม่ได้รับด้วย เพราะไม่ได้เสียภาษี ทั้งนี้เห็นว่าการปรับค่าจ้างควรปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป และเกรงว่านโยบาย ค่าจ้าง 300 บาท จะทำให้กลุ่มจบใหม่เสี่ยงตกงานมากขึ้นเพราะนายจ้างต้องการจ้างผู้มีประสบการณ์

นายวินิจฉัย ศรียะราช ผู้จัดการแผนกบริหาร ค่าจ้างและเงินเดือน บริษัท เอ็มเอ็กซ์ พี แมนูแฟคเจอริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด กรุงเทพฯ ซึ่งผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ให้สัมภาษณ์ว่าบริษัทมีพนักงานรายวัน และรายเดือน รวม 1,460 คน จึงอยากให้รัฐบาลปรับ ค่าจ้างแบบขั้นบันไดภายในเวลา 4 ปี เพื่อให้นายจ้างได้มี เวลาปรับตัว รวมทั้งให้จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือธุรกิจที่ไม่ได้ประโยชน์จากมาตการภาษีนิติบุคคล เพราะหากปรับ ค่าจ้างเป็น 300 บาทต่อวัน อาจจำเป็นต้องลดสวัสดิการที่เป็นเงินลงไปบ้างเพื่อนำมาโปะเงินค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น

ด้านนายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การ ลูกจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนได้เตรียมเสนอโมเดล ในการปรับค่าจ้าง 300 บาท โดยที่ทั้งนายจ้างและลูกจ้างไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งขณะนี้ตนได้นำไปทดลองใช้ที่โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร

โดยให้นายจ้างปรับขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาท แต่ ให้คงฐานรายได้เดิมเอาไว้ใช้ในการคำนวณสวัสดิการอื่นๆ เป็นเวลา 1 ปี เช่น เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินกองทุนประกันสังคม เงินโบนัส ค่าโอที จากนั้น ปี 2556 ก็จะนำฐานรายได้ใหม่มาใช้คำนวณเหมือนเดิม เนื่องจากนายจ้างจะได้ไม่ต้องแบกรับต้นทุนถึง 2 เด้งในปีแรก ซึ่งนายจ้างก็ยอมรับโมเดลนี้

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการแรงงาน สมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า วันนี้เราต้องการให้มีการ คุยกันทั้ง 3 ฝ่าย ระหว่างรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง ซึ่ง ฝ่ายลูกจ้างก็ไม่ได้ต้องการให้นายอยู่ไม่ได้ แต่ในเมื่อมันเป็น นโยบายของรัฐบาล ก็ต้องเดินหน้าไปสู่การปรับขึ้นค่าจ้าง เพราะต้องยอมรับว่าค่าครองชีพในปัจจุบันเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ ในขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำในบางจังหวัดยังต่ำมาก

วันเดียวกัน ที่กระทรวงแรงงาน ผู้แทนสมาคม ผู้ประกอบการด้านรักษาความปลอดภัยได้เข้าพบ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน เพื่อหารือผลกระทบปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดย นายปัณณพงศ์ อิทธิ์อรรถนนท์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ประกอบการด้านรักษา ความปลอดภัยกล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการด้านนี้มี 3,500 แห่ง มีลูกจ้าง 5 แสนคน มีความกังวลใจเรื่องการปรับค่าจ้างวันละ 300 บาท จะทำให้ต้นทุนค่าจ้างขึ้นมาก จนอาจทำให้บริษัทขนาดเล็กไม่สามารถอยู่รอดได้เพราะ ไม่สามารถขึ้นค่าบริการจากผู้ว่าจ้างเพิ่มได้ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทจะจัดเก็บค่าบริการเฉลี่ยอยู่ที่หัวละ 15,000 บาท และหากมีการปรับค่าจ้าง 300 บาท ต้องเรียกเก็บค่าบริการเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นหัวละ 22,000 บาท จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาให้รอบคอบในเรื่องปรับค่าจ้าง 300 บาท และการปรับเพิ่มค่าจ้างจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ หากราคาสินค้าได้มีปรับตัวนำหน้าไปก่อนแล้ว ดังนั้น รัฐบาลควรปรับค่าราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้ได้ก่อน

นพ.สมเกียรติ ฉายะวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงมาตรการลดการส่งเงินสมทบประกันสังคมในส่วน ของนายจ้างซึ่งปัจจุบันส่งอยู่ที่ 5% ของค่าจ้างเพื่อช่วย ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างเป็น 300 บาท ต่อวันว่า เรื่องนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อกองทุนชราภาพ ของประกันสังคม หากจะลดเงินสมทบก็จะลดสิทธิประโยชน์ ในการรักษาพยาบาล อย่างไรก็ตาม หากกองทุนรักษา พยาบาลมีเงินไม่เพียงพอรัฐบาลก็จะสนับสนุนเพิ่ม