ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท...จากมุมมอง ผู้ใช้แรงงานต่อคำสัญญารัฐบาลผมฟังทุกฝ่ายเกี่ยวกับเรื่อง ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท แล้วก็ได้ความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับประเด็นปัญหานี้อย่างมาก06 .. 54 กรุงเทพธุรกิจ ข้อแรกที่น่าจะเป็นอุทาหรณ์สำหรับนักการเมืองคือ การประกาศนโยบายช่วงหาเสียงนั้น อย่าได้คิดว่าเป็นเพียง เทคนิคการหาเสียง เป็นอันขาด เพราะประชาชนทุกวันนี้เอาจริงเอาจังกับคำมั่นสัญญาของพรรคการเมือง และจะตรวจสอบทุกรายละเอียด และอ้างไม่ได้อีกว่า นโยบายของพรรคไม่ใช่คำมั่นสัญญาว่าจะทำตามนั้น เพราะเท่ากับเป็นการแสดงความไม่รับผิดชอบของผู้อาสาเข้ามาทำงานของประเทศชาติ กรณี ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เป็นตัวอย่างคลาสสิกที่วันนี้เป็นประเด็นที่ต้องตรวจสอบกันทุกด้าน กระทรวงแรงงานประกาศว่าจะทำตามนโยบายที่แถลงช่วงหาเสียง แต่จะ นำร่อง แค่ 7 จังหวัดก่อน นั่นคือ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม นนทบุรี สมุทรปราการ และภูเก็ต เป็นการปรับขึ้น 40% จากฐานเดิม...สำหรับ 6 จังหวัดแรกปรับจาก 215 บาท และภูเก็ตเดิม 221 บาท เสียงจากผู้นำแรงงานที่ผมได้ยินผ่านสื่อทั้งหลายคือพรรคเพื่อไทย หาเสียงไว้อย่างชัดเจนว่าถ้าได้เป็นรัฐบาลก็จะปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ และจะทำทันที จึงได้เทคะแนนเสียงให้ ผู้นำแรงงานบอกว่าความจริงใน 7 จังหวัดที่กระทรวงแรงงานบอกว่าจะทำเป็น นำร่อง นั้น รายได้ของคนงานก็ได้เกิน 300 บาทอยู่แล้ว เพราะรวมถึงค่าทำงานล่วงเวลา ค่ากะ เบี้ยขยัน หากค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเป็น 300 บาทจริง ค่าล่วงเวลาและเบี้ยขยันก็จะสูงกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ทุกวันนี้ ค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศมี 32 อัตรา ต่ำสุดอยู่ที่พะเยา 159 บาท และสูงสุดที่ภูเก็ต 221 บาท เดิมค่าจ้างขั้นต่ำแบ่งเป็นสามโซน นั่นคือ กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นโซนแรก จังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรมเป็นโซนสอง และรอบนอกคือโซนที่สาม แต่ต่อมาปล่อยให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ลอยตัว จึงมีมากถึง 32 อัตรา หากมองลึกลงไปจะเห็นว่าจังหวัดที่อยู่ติดกัน แต่อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำไม่เท่ากันก็มีไม่น้อย เช่น ชลบุรีอยู่ที่ 196 บาทกับสมุทรปราการอยู่ที่ 215 บาท อยุธยา 190 บาทและปทุมธานี 215 บาท ทั้งๆ ที่อยู่รอยตะเข็บต่อกันเท่านั้น ในแง่ของผู้ใช้แรงงานแล้ว ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันต่างจังหวัดก็ไม่ได้แตกต่างกับกรุงเทพฯ เท่าไหร่แล้ว เพราะต้องพึ่งพิง Big C และ Lotus เหมือนกัน ดังนั้นค่าครองชีพจึงไม่ได้แตกต่างกันมากเหมือนแต่ก่อนแล้ว ฝ่ายแรงงานก็ได้ทำการสำรวจค่าครองชีพโดยเฉลี่ยของคนงาน เช่นแถวอยุธยา พบว่า ที่นั่นค่าแรงขั้นต่ำ 190 บาท เงินเดือนตกเดือนละ 4,940 (ทำงาน 26 วัน) หักเงินค่าประกันสังคม 5% ก็คือ 247 บาท บวกค่ารถไปทำงานวันละ 30 วันก็ตก 780 บาท ค่าอาหารวันละ 100 บาทก็ตกเดือนละ 3,000 บาทและค่าเช่าบ้านประมาณเดือนละ 2,000 บาท บวกค่าใช้จ่ายประจำวันเช่นยาสีฟัน สบู่ ยารักษาโรคเดือนละประมาณ 800 บาท เขาสุ่มตัวอย่างนี้แล้ว สรุปว่าค่าใช้จ่ายต่อเดือนของคนงานทั่วไปก็ตกเดือนละ 6,827 บาท ถ้าได้ค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบันวันละ 190 บาทก็มีรายได้ต่อเดือน 4,940 บาท เท่ากับติดลบอยู่ 1,887 บาท แต่ที่อยู่ได้ทุกวันนี้เพราะมีรายได้เพิ่มจากเบี้ยขยัน ค่าทำงานล่วงเวลา ซึ่งรวมกันแล้วทำให้รายได้อยู่ใกล้เคียง 300 บาทต่อวันที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียง แน่นอนว่าฝ่ายนายจ้างและฝ่ายรัฐก็มีข้อมูลเหล่านี้อยู่ในมือ ส่วนจะเห็นตรงกันหรือไม่อย่างไร ผลกระทบต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นเช่นไร ก็จะต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาล เอกชน นายจ้าง ลูกจ้าง นักวิชาการจะต้องถกแถลงกันให้แจ่มชัด อย่างน้อยก็ทำให้ประเด็นเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำได้รับการศึกษาค้นคว้าวิเคราะห์และถกแถลงกันอย่างรอบด้านเป็นครั้งแรก |