Thai / English

นักวิชาการหนุนปรับค่าจ้าง300บ.ชี้ไม่ถึงขั้นปิดโรงงาน

นักวิชาการหนุนปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศระบุผลกระทบไม่ถึงขั้นปิดโรงงาน ร้องขจัดคอรัปชั่น ทุจริต ที่ผู้ประกอบการต้องจ่าย30-40%

19 .. 54
กรุงเทพธุรกิจ

เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2554 นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในงานเสวนา”ผลของนโยบายค่าจ้างต่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขัน”ที่ศูนย์ศึกษาสาทรธานี ม.รังสิต เขตสาทร กรุงเทพฯว่า ผลการศึกษาเกี่ยวกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ พบว่าจะส่งผลให้ยกระดับกำลังซื้อ ทั้งนี้กำลังซื้อภายในไทยร้อยละ 42 มาจากเงินเดือนและค่าจ้าง ทั้งนี้ต้นทุนการผลิตในกลุ่ม SME ทั่วประเทศจะเพิ่มจากร้อยละ 17.06 เป็น 23.48 เฉลี่ยเพิ่มร้อยละ 6.42 ส่วนกิจการขนาดใหญ่ ต้นทุนการผลิตจะเพิ่มจากร้อยละ 14.14 เป็น 20.48 เฉลี่ยร้อยละ 6.34

นอกจากนี้ จะทำให้เพิ่มต้นทุนแรงงานเพียงเล็กน้อย แต่จะส่งผลดีให้นายจ้างสนใจเร่งปรับศักยภาพทักษะคนงาน และหันมาใช้นวตกรรม เทคโนโลยีใหม่ในการผลิตเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต productivity และจะเป็นการจูงใจให้คนเข้ามาทำงาน แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน รวมถึงลดการเคลื่อนย้ายถิ่น คนงานได้ทำงานในภูมิลำเนาเชื่อภาพรวมคุณภาพชีวิตคนไทยดีขึ้นมาก ครอบครัวอบอุ่น ลดปัญหาเด็กติดยาเสพติด

“ตัวเลขการทุจริต คอรัปชั่นที่ผู้ประกอบการต้องจ่าย เบี้ยร่ายรายทางที่สถานประกอบการต้องจ่ายในงานหนึ่งร่วม 30-40% รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจให้รวดเร็วขึ้น เชื่อว่าผู้ประกอบการจะพอใจที่จะเงินนั้นมาจ่ายเพิ่มให้กับคนงาน ที่ต้นทุนส่วนนี้เพิ่มเพียง 6% ถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำที่ไม่มีผลถึงขั้นให้หยุดกิจการ ปิดโรงงาน”นายอนุสรณ์กล่าว

คณะบดีเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวอีกว่า เชื่อว่าการเลิกจ้าง คนว่างงานมีน้อยมาก เนื่องจากขณะนี้ตัวเลขว่างงานต่ำมากเพียง 0.7% ซึ่งถือว่าต่ำมาก อีกทั้งอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีการคาดการณ์ 4-4.5% จึงเชื่อว่าการว่างงานจะไม่สูงกว่าเดิมนัก จึงเป็นสถานการณ์ที่เหมาะสมที่จะมีการปรับโครงสร้างค่าจ้างแบบอัตราก้าวหน้า เพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในเรื่องรายได้และลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้ค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริงถูกกดให้ต่ำมาตลอดในช่วงกว่า 10ปีที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยไม่สามารถที่จะใช้ยุทธศาสตร์กดค่าจ้าง ใช้แรงงานราคาถูกได้แล้ว

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อไปว่า แรงงานที่จะได้รับอนิสงค์การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทมีเพียงกว่า 9 ล้านคนที่ทำงานอยู่ในระบบอุตสาหกรรมและบริการ ที่ส่วนใหญ่มีเงินเดือนไม่ถึง 9,000 บาทต่อเดือน ทำให้ต้องดิ้นรนทำโอที.4-6ชม.ต่อวัน เพื่อให้มีรายได้ให้มากพอกับค่าครองชีพ ทั้งนี้แรงงานที่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน รวมถึงกลุ่มแรงงานข้ามขาติ โดยกฎหมายไม่คุ้มครองแรงงานภาคเกษตรกรรม ที่มี 23 ล้านคน

ด้านนายยศ อมรกิจวิกัย คณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า ขอเสนอให้รัฐบาลเตรียมมาตรการต่างๆเพื่อลดผลกระทบทั้งระยะสั้นเช่นมาตรการด้านภาษี การสนับสนุนกลุ่ม SME การเตรียมการรองรับการเลิกจ้าง ว่างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันการลักลอบใช้แรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้มาตรการระยะยาวควรส่งเสริมในเรื่องการเพิ่มมูลค่าสินค้า ผลิตภัณฑ์ และผลิตภาพการผลิตให้สูงขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยสนับสนุนมีการวิจัยและพัฒนา

ขณะที่ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ถือเป็นพันะธสัญญา ในการรณรงค์หาเสียงของพรรคเพื่อไทย เป็นที่คาดหวังของคนงาน โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากถึงกับลงทุนลาหยุดเพื่อกลับภูมิลำเนาไปลงคะแนนเลือกตั้ง จำนวนมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน จึงถือเป็นความรับผิดชอบทางการเมือง ทั้งนี้ได้มีการกำหนดที่จะปรับเพิ่มเป็น 300 บาทในเดือนม.ค.ปีหน้า ในช่วงนี้จึงต้องให้เวลารัฐบาลทำให้เป็นจริงและให้เวลาสถานประกอบการปรับตัว

น.ส.วิไลวรรณ กล่าวอีกว่า การปรับค้าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ ไม่ควรมีจะมีเงื่อนไขใดๆ เพราะเรื่องนี้เป็นนโยบายที่มีการนำเสนออย่างต่อเนื่อง จึงต้องเป็นเรื่องที่จะต้องมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้และมีมาตรการรองรับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินเฟ้อ ที่จะส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ปรับตัวสูงขึ้น จึงเป็นเรื่องที่รัฐต้องควบคุมราคาสินค้าให้ได้ เพื่อให้การปรับค่าจ้าง 300 บาทเกิดประโยชน์กับลูกจ้างอย่างแท้จริง ไม่ใช่ปล่อยให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น เงินที่ได้เพิ่มอาจไม่มีความหมายอะไรเลย

“ผู้ประกอบการมักผลักภาระในเรื่องต้นทุน ให้แก่ผู้บริโภค โดยปรับเพิ่มราคาสินค้าขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องควบคุม พูดทำความเข้าใจไม่ให้มีการปรับราคาสินค้าให้ได้”น.ส.วิไลวรรณกล่าว