ทีดีอาร์ไอไม่ห่วงแรงงานข้ามชาติ จัดระบบดีคุมได้แน่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย 10 .. 54 ประชาไท ทีดีอาร์ไอระบุ ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาติเพิ่ม 7 เท่า จาก 2.9 แสนคนเป็นกว่า 2 ล้านคนในปัจจุบัน พิสูจน์นโยบายผ่อนผันไม่ช่วยแก้ปัญหาได้ยั่งยืน เสนอเร่งจัดระบบการใช้แรงงานข้ามชาติอย่างเหมาะสมเท่าที่จำเป็น และปฏิบัติตามกฎกติกาอย่างจริงจัง จะควบคุมได้ ไม่เพิ่มจำนวน คาดอีก 5 ปี หมดยุคแรงงานราคาถูก ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยเปิดเผยประมาณการความจำเป็นในการใช้แรงงานข้ามชาติ โดยสำหรับการใช้แรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือนั้น อีก 5 ปีข้างหน้าจะหมดยุค แรงงานข้ามชาติราคาถูก แนะนายจ้างเร่งปรับตัวใช้เทคโนโลยี เครื่องจักรเข้ามาเสริมแรงงานคน ส่วนกลุ่มแรงงานข้ามชาติระดับบน(ฝีมือดี) ซึ่งรัฐละเลยมานานและเป็นจุดอ่อนเสมอมา คือ ปล่อยให้นักลงทุนข้ามชาติใช้เงื่อนไขด้านการค้าและการลงทุน นำคนของตัวเองเข้ามาทำงาน โดยมักอ้างคุณสมบัติความเชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น เฉพาะที่ผ่านช่องทางส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ มีจำนวนมากกว่า 2.3 หมื่นคน ทั้งที่มีแรงงานฝีมือไทยสายตรงที่สามารถทำได้เช่นสายวิทยาศาสตร์ ตกงานกว่า 3-4 หมื่นคน และหากต้องการแรงงานทั่วไปก็มีแรงงานไทยสายสังคมตกงานอีกกว่า 6-7 หมื่นคนซึ่งสามารถเพิ่มศักยภาพให้ทำงานได้ จึงไม่ค่อยยุติธรรมกับแรงงานไทยที่ยังว่างงานอยู่และมีศักยภาพเพียงพอ ยงยุทธ กล่าวว่า ความจำเป็นของการใช้แรงงานข้ามชาตินั้นมีมานานแล้ว ผู้ประกอบการบางส่วนจำเป็นต้องรับแรงานข้ามชาติเข้าทำงานในลักษณะงานที่แรงงานไทยไม่ทำหรือไม่มีทักษะเพียงพอ การจัดการของรัฐมุ่งเน้นไปที่กลุ่มแรงงานข้ามชาติระดับล่างซึ่งเป็นปัญหาและมีจำนวนมาก โดยในช่วง 15 ปี (พ.ศ.2540-2554) มีจำนวนเพิ่มขึ้น จาก 2.9 แสนคนในปี 2540 เป็น 1.3 ล้านคน (เฉพาะส่วนที่มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง)ในปี 2554 และเมื่อรวมกับจำนวนแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนสิ้นสุดไปเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมาซึ่งคาดว่ามีไม่น้อยกว่า 7 แสนคน จะทำให้มีจำนวนแรงงานข้ามชาติในปัจจุบันกว่า 2 ล้านคน และในช่วง 15 ปีก็พบว่าจำนวนแรงงานข้ามชาติขึ้นๆ ลงๆ มาตลอด เป็นผลจากนโยบายผ่อนผันที่ไม่ได้ผลและความไม่จริงจังในการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ รวมทั้งความไม่เข้มงวดเพียงพอของมาตรการ ตรวจ จับ ส่งกลับที่ ทำให้มีแรงงานย้อนกลับเข้ามาอยู่อย่างไม่ถูกต้อง ทำให้มีแรงงานข้ามชาติระดับล่างกว่า 40% ที่อยู่ในประเทศไทยในลักษณะกึ่งผิดกึ่งถูก อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวปัญหาแรงงานข้ามชาติไม่น่าวิตกเมื่อสามารถจัดการอย่างเป็นระบบ ซึ่งปัจจุบัน มีการควบคุมที่ชัดเจนขึ้นโดยครั้งนี้เป็นปีสุดท้ายที่เปิดให้มีการขึ้นทะเบียน และจะไม่มีการขยายจำนวนหรือผ่อนผันเพิ่มขึ้นอีก ยกเว้นในบางสาขาที่ปรับตัวไม่ทันก็อาจจำเป็นต้องใช้ภายใต้เงื่อนไข การนำเข้าแรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือจะเปลี่ยนไปใช้วิธีนำเข้าผ่าน MOU ซึ่งไทยทำไว้กับประเทศเพื่อนบ้าน 3 ชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา แต่ก็ไม่น่าห่วงเพราะแต่ละปีมีจำนวนเพียง 1% หรือราว 2 หมื่นคนของจำนวนแรงงานข้ามชาติทั้งหมดและในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างดีในการพิสูจน์สัญชาติ โดยเฉพาะประเทศพม่าซึ่งแรงงานมีปัญหาเรื่องการพิสูจน์สัญชาติมากที่สุดนั้น ก็สามารถพิสูจน์สัญชาติได้แล้วกว่า 5 แสนคน จึงคาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้าจำนวนแรงงานข้ามชาติโดยรวมไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปัจจุบัน การดำเนินการต่างๆ จะนำไปสู่การปรับโครงสร้างหน้าใหม่ของอุตสาหกรรมและการจ้างงาน จะไม่มีแรงงานราคาถูกอีกต่อไป และการนำเข้าแรงงานมาเติมความขาดแคลนระหว่างปีโดยผ่านช่องทาง MOU นั้น จะเป็นแรงงานถูกกฎหมาย และได้สิทธิสวัสดิการต่างๆ เช่นเดียวกับแรงงานไทย ซึ่งจูงใจที่จะทำให้มีการนำเข้าแรงงานผ่านช่องทางนี้เพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่า จะมีการนำเข้าได้ไม่มาก เนื่องจากแรงงานมีภาระต้นทุน ค่าหัว ในการเดินทางที่ต้องจ่ายทั้งในประเทศตนเองและประเทศปลายทาง โดยปัจจุบันค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจาก 1.2 หมื่นบาทเป็น 1.5-2 หมื่นบาท ซึ่งถือว่าสูงสำหรับแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนนายจ้างไม่เพียงมีต้นทุนค่าจ้างแรงงานเพิ่มแต่ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับโบรกเกอร์จัดหางานด้วย จึงเป็นต้นทุนที่สูง จึงต้องพิจารณาเรื่องการปรับตัวของอุตสาหกรรม การนำเทคโนโลยีและเครื่องจักร มาใช้ควบคู่กับการใช้จำนวนแรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือในจำนวนที่จำเป็นมาทำงานควบคู่กับแรงงานไทยซึ่งฝีมือดีกว่า ก็จะช่วยเพิ่มผลิตภาพและลดต้นทุนได้ ยงยุทธ กล่าวว่า ประเด็นที่น่าวิตกคือ ปัญหาคอร์รัปชั่นและการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งไทยเป็นประเทศที่ถูกจับตามองในเรื่องนี้ จึงต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา และต้องสร้างความชัดเจนในเชิงนโยบาย ทิศทางการใช้แรงงานของภาคอุตสาหกรรม ที่จะทำให้เกิดการใช้แรงงานระดับล่างหรือระดับกลางน้อยลง เพราะปัจจุบันเรามีปัญหามีแรงงานระดับสูงว่างงานจำนวนมาก ซึ่งการจะทำให้เกิดความชัดเจนได้นั้นควรเร่งรัดการออกกฎกระทรวงภายใต้ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ให้ออกมาอย่างครบถ้วนจะทำให้สามารถกำกับดูแลการใช้แรงงานข้ามชาติได้ชัดเจนทั้งในเชิงนโยบายและการปฎิบัติ อาทิ เรื่องการคุ้มครองอาชีพสำหรับคนไทย และการอนุญาตทำงานในช่วงเวลาต่างๆ ฯลฯ นอกจากนี้ควรติดตามประเมินผลการดำเนินตามนโยบายอย่างต่อเนื่อง และสิ่งสำคัญคือ หน่วยงานภาครัฐควรมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลแรงงานข้ามชาติซึ่งมีความจำเป็น เพราะการกำหนดโควต้าหรือจำนวนแรงงานข้ามชาติที่จะนำเข้ามานั้นมักมาจากการร้องขอของผู้ประกอบการแต่หน่วยงานกำกับดูแลและการตัดสินใจเชิงนโยบายไม่มีข้อมูลของตนเอง และไม่ได้ผ่านกลไกของสมาคมวิชาชีพต่างๆ ซึ่งในต่างประเทศ เช่น ประเทศเกาหลีหรือไต้หวัน จะให้ความสำคัญกับส่วนนี้ โดยภาครัฐกำหนดความต้องการของทั้งประเทศในแต่ละปี จากนั้นเป็นบทบาทของสมาคมวิชาชีพไปจัดสรรความต้องการแท้จริงของแต่ละสาขาอาชีพ สำหรับประเทศไทยไม่มีข้อมูลที่แท้จริงว่าจำเป็นต้องใช้แรงงานข้ามชาติในสาขาต่างๆ จำนวนมากน้อยแค่ไหน และควรจัดเก็บข้อมูลที่สามารถติดตามได้ว่าระหว่างมาทำงานนั้นแรงงานมีการย้ายที่อยู่หรือเปลี่ยนนายจ้างไปอยู่ที่ไหนอย่างไร ซึ่งตามเงื่อนไขของใบอนุญาตทำงานในปัจจุบันเป็นการทำผิดเพราะเขาไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างหรือไปทำงานนอกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตได้ ในอนาคตเรื่องแรงงานต่างด้าวในแง่จำนวนไม่น่าห่วง เพราะวงรอบของการใช้แรงงานต่างด้าวอยู่ในภาวะสูงสุดแล้ว และกำลังจะหยุดนิ่งและลดลง หากมีการจัดระบบควบคุมให้เป็นไปตามกฎกติกา อย่างจริงจังจึงจะทำให้มีการใช้แรงงานอย่างเต็มศักยภาพทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวในสัดส่วนที่ไม่สร้างผลกระทบต่อประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม อาชญากรรม ซึ่งต้องใช้งบประมาณดำเนินการทั้งสิ้น ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า สำหรับนโยบายของรัฐบาลการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทนั้นหากทำได้จริงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ให้กับโครงสร้างค่าจ้างและอุตสาหกรรมไทย ที่จะต้องปรับตัว และยกระดับการพัฒนาของประเทศขึ้นไปอีกขั้นหลังจากติดกับดักอยู่ในประเทศกำลังพัฒนามายาวนาน นโยบายนี้จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง หากทำได้สำเร็จก็จะเกิดคุณูปการแก่ตัวแรงงานและประเทศชาติในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อีกทางหนึ่ง. |