Thai / English

ธปท. ชี้รายได้เฉลี่ยลูกจ้างไทยไม่พอยาไส้ ด้าน 7-11 หนุนค่าแรง 300 บาท

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดข้อมูลค่าจ้างเฉลี่ยลูกจ้างไทยยุคหมู-ไก่-ไข่แพงรายวันไม่พอยาไส้ ด้านบริษัทซีพีออลล์ บริษัทแม่ 7-11 ยันหนุนนโยบายรัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำเป็น 300 บาท พร้อมรับแรงงานปริญญาตรี 15,000 บาท

05 .. 54
ประชาไท

4 ส.ค. 54 – ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยข้อมูลค่าจ้างเฉลี่ยของผู้มีงานทำในประเทศไทยที่มีอาชีพลูกจ้างและพนักงาน ทั้งของรัฐบาลและเอกชน ล่าสุด สิ้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีผู้ที่มีงานทำที่เป็นลูกจ้างทั้งสิ้น 17,310,300 คน แบ่งเป็นลูกจ้างในภาครัฐบาล 3,560,000 คน และเป็นลูกจ้างในภาคเอกชน 13,750,300 คน พบว่า ค่าจ้างเฉลี่ยของลูกจ้างล่าสุด ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาพบว่า ลูกจ้างไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 9,775.1 บาทเท่านั้น

ทั้งนี้ หากแยกเป็นผู้มีงานทำที่เป็นลูกจ้างในภาคเกษตรกรรมพบว่า มีค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนเพียง 4,900.3 บาท ขณะที่ผู้ที่มีงานทำในภาคนอกภาคเกษตรกรรม ซึ่งหมายรวมถึงภาคก่อสร้าง ภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้า และภาคบริการ มีรายได้เฉลี่ย 10,501.5 บาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกจ้างในภาคการเกษตร

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ค่าจ้างเฉลี่ยของลูกจ้างโดยรวมปรับตัวดีขึ้น โดยสำหรับค่าจ้างแรงงานโดยรวม ปรับเพิ่มขึ้น 5% ค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยของแรงงานในภาคเกษตรกรรม ปรับเพิ่มขึ้น 11% ค่าจ้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ก่อสร้าง การค้า และการบริการ ปรับเพิ่มขึ้น 5.6%

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธปท. กล่าวว่า ภาวะตลาดแรงงานยังคงตึงตัว โดยสัดส่วนจำนวนตำแหน่งงานว่างและผู้ว่างงานยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าอัตราการว่างงานในช่วงต่อไปจะต่ำลงได้ เนื่องจากดัชนีชี้ความยากง่ายในการทำงาน ระบุว่า การหางานจะทำได้ง่ายขึ้นกว่าในเดือนที่ผ่านมา

ด้าน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องจำเป็น เพราะในขณะนี้รายได้ของลูกจ้างยังต่ำ จึงควรจะได้ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจ และไม่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ จนกระทั่งกลายเป็นการสร้างปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้งของสังคม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ควรจะขึ้นค่าจ้างแรงงานอย่างเดียว แต่ควรจะที่เร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และศักยภาพในการผลิต และทักษะแรงงานที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ค่าจ้างแรงงานใหม่ เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่เพิ่มขึ้นด้วย

ขณะที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น โดยตั้งแต่ ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน พบว่า อัตราการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหักเงินเฟ้อแล้ว ยังไม่ฟื้นตัว หรือมีระดับต่ำกว่าในช่วงปี 2540 หมายความว่า ผู้ใช้แรงงานยังไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และเท่าที่มีการประเมินค่าจ้างที่ขึ้น หักเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในระยะที่ผ่านมา ค่าจ้างแรงงานยังมีช่องว่างสามารถให้ปรับขึ้นได้ 10% แต่หากปรับขึ้นครั้งเดียว 300 บาท หรือประมาณ 40% อาจจะส่งผลให้ภาคธุรกิจปรับตัวไม่ทัน นอกจากนี้เมื่อมีการปรับขึ้นค่าแรงแล้วก็ควร เน้นพัฒนาอุตสาหกรรมที่ส่งผลดีต่ออนาคตประเทศควบคู่ไปด้วย

ด้านนายทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธปท. กล่าวถึงการผ่านร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้ของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ว่า เป็นมติที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้แล้วว่า ในที่สุดสหรัฐฯน่าจะแก้ปัญหาเพดานหนี้ของรัฐบาลได้ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาดังกล่าวถือเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้นให้ผ่านไปก่อนเท่านั้น แต่ในระยะยาวปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจสหรัฐฯที่อ่อนแอยังคงเป็นปัญหาที่กระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

ความอ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกของสหรัฐฯบ้าง ซึ่งสำหรับเศรษฐกิจไทยนั้น การส่งออกในช่วงต่อไปอาจจะได้รับผลกระทบบ้างจากกำลังซื้อจากสหรัฐฯที่ลดลง โดยประเทศไทยมีสัดส่วนที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ประมาณ 11% ของการส่งออกรวมของประเทศ อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ ผู้ส่งออกของไทยได้มีการกระจายการส่งออกไปยังภูมิภาคอื่นๆ ในจีน อาเซียน และอื่นๆ มากขึ้น โดย ธปท.คงต้องจับตาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อประเทศไทยในระยะต่อไป

7-11 หนุนนโยบายรัฐปรับค่าแรง 300

นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมง 7-11 กล่าวในงานเสวนาพิเศษ การปรับตัวของภาคธุรกิจในยุครัฐบาลใหม่ว่า ซีพีออลล์พร้อมปฏิบัติตามนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ของรัฐบาลถึงแม้ว่านโยบายดังกล่าว จะกระทบต่อต้นทุนการผลิต แต่ก็พร้อมปรับตัวด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพราะการปรับขึ้นค่าแรง ถือเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับลูกจ้าง

ขณะเดียวกัน ซีพีออลล์ มีความพร้อมที่จะรับแรงงานปริญญาตรีจบใหม่ 10,000 อัตรา เข้าทำงานในทันที นอกจากนี้ ยังฝากให้รัฐบาลชุดใหม่ ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนภาคบริการ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ใช่การออกกฎหมายควบคุมธุรกิจค้าปลีก ขณะเดียวกัน ต้องลดแรงงานภาคเกษตรลง