Thai / English

ทุนนิยาม101: สหภาพแรงงานและนโยบายค่าแรง 300 บาท



28 .. 54
ประชาไท

รายการทีวีออนไลน์ "ทุนนิยาม 101" (Introduction to Capitalism 101) โดยกลุ่มทุนนิยมที่สังคมกำกับ (Embedded Capitalism) ดำเนินรายการโดย "เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร" นำเสนอตอนที่สอง "สหภาพแรงงาน และนโยบายค่าแรง 300 บาท" โดยเชิญ รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ อนุชา มีทรัพย์ อดีตประธานสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ร่วมถก

โดยรายการ "ทุนนิยาม101" ตอนนี้ "อนุชา มีทรัพย์" เล่าถึงการก่อตั้งสหภาพแรงงานแห่งแรกในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน ซึ่งมีแรงผลักดันมาจากการถูกตัดสวัสดิการของคนงานในโรงงานเจียระไนอัญมณี คนงานในโรงงานเจียระไนอัญมณีดังกล่าวอาศัยวันหยุดในแต่ละสัปดาห์เรียนรู้กฎหมายสิทธิแรงงาน ว่านายจ้างทำอะไรได้บ้าง ลูกจ้างทำอะไรได้บ้าง

"สหภาพแรงงานเป็นทางออกเดียวที่หากว่าลูกจ้างอย่างเราๆ จะอยากเปลี่ยนแปลงชีวิต ไม่ใช่เงินทองก็ได้ อยากเปลี่ยนเป็นสภาพการจ้างที่ไม่ปลอดภัยก็ได้"

หลังการตั้งสหภาพแรงงาน อนุชาและแกนนำสหภาพแรงงาน ต้องเผชิญการทำลายสหภาพแรงงานโดยฝ่ายผู้บริหาร มีอนุชาถูกฟ้องเลิกจ้างหลายครั้ง รวมทั้งการกดดันหลายรูปแบบในสถานที่ทำงาน แต่คนงานทั้งในโรงงานที่เขาทำงาน และโรงงานอื่นที่ประกอบกิจการเจียระไนอัญมณีเหมือนกันก็สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน

ด้านอาจารย์ "วรวิทย์ เจริญเลิศ" กล่าวว่า ในกรณีนี้เมื่อมีการตั้งสหภาพแรงงาน ก็มักจะมีการเลิกจ้าง เพื่อทำให้สหภาพแรงงานล้มลง ในการจัดตั้งสหภาพแรงงานจะต้องได้รับการคุ้มครองจริงๆ ก็ต้องมีการยอมรับเสรีภาพในการตั้งสหภาพแรงงาน ตามอนุสัญญาขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งรัฐบาลไทยก็ยังไม่ยอมรับอนุสัญญาดังกล่าว เมื่อยังไม่ยอมรับอนุสัญญาดังกล่าว เวลาผู้นำแรงงานถูกเลิกจ้างก็ต้องไปใช้วิธีฟ้องร้องในศาล ซึ่งเสียเปรียบ

ในกรณีที่ไทยลงนามในอนุสัญญา ILO ฉบับดังกล่าว ถ้ากรรมการสหภาพแรงงานถูกเลิกจ้าง ทางสหภาพแรงงานก็สามารถทำเรื่องร้องเรียนไปยัง ILO ให้ตรวจสอบได้ ซึ่งถ้าไม่เป็นธรรม ILO ก็จะทำรายงานให้รัฐบาลไทยเข้าไปดู คือจะไม่ใช่เรื่องระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างหรือศาลเท่านั้น แต่จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะสามารถร้องเรียนหากเกิดการละเมิด

ส่วนในการที่ดีที่สุดที่คนงานจะรักษาสหภาพแรงงานไว้ได้ ขึ้นอยู่กับว่าสหภาพแรงงานจะเข้มแข็งมากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้นเมื่อตั้งสหภาพแรงงานแล้วมีการเลิกจ้างผู้นำสหภาพแรงงาน ผู้นำและคนงานในสหภาพแรงงานก็ต้องเป็นเสียงเดียวกัน จึงคิดว่าไม่ใช่แค่อนุสัญญา ILO เท่านั้นจะช่วย ที่จริงอยู่ที่พลังของผู้ใช้แรงงาน

วรวิทย์ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า สหภาพแรงงานส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขณะที่ในนิคมอุตสาหกรรมใน จ.ลำพูน เพิ่งมีสหภาพแรงงาน 2 แห่ง โดยที่คนงานไม่ทราบสิทธินี้เลย และเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานมีแนวโน้มที่จะให้คนงานประนีประนอม แทนที่จะรักษาสิทธิให้คนงานกลับให้คนงานยอมเสีย ให้เรื่องมันจบไป เพื่อรักษาบรรยากาศในการลงทุน และลักษณะพิเศษของ จ.ลำพูน คือมีนิคมอุตสาหกรรม เป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวสูงกว่าเชียงใหม่ แต่ค่าแรงขั้นต่ำกลับต่ำกว่า จ.เชียงใหม่ และลำพูนแรงงานมีอยู่มากมายแต่แทนที่รัฐจะเข้ามารักษาสิทธิ กลับการเป็นรัฐกับทุนในยุคกลับไปสนับสนุนซึ่งกันและกัน ผู้ใช้แรงงานเลยรู้สึกอำนาจต่อรองไม่ดี รัฐควรเข้ามาเสริมให้คนที่อ่อนแอกว่ามีอำนาจต่อรองและให้เขาเจรจากัน ทำให้สังคมมันอยู่กันได้ แต่รัฐกลับเป็นอุปสรรคด้วย ส่วนนายจ้างโดยปกติเขาก็คิดว่าอยู่เมืองไทยแล้ววันหนึ่งเขาก็ไป

ส่วนกรณีนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทที่พรรคเพื่อไทยเสนอนั้น อดีตประธานสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์กล่าวว่า ทุกวันนี้รายได้ของคนงาน นอกจากค่าแรงขั้นต่ำ รวมกับสวัสดิการอื่นๆ และการทำงานล่วงเวลา ก็ได้รายได้ต่อวันเกิน 300 บาทแล้ว โดยอนุชาประเมินว่าการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 น่าจะทำได้จริง ไม่มีปัญหา แต่โรงงานอาจใช้วิธีไปตัดสวัสดิการออก แต่ยังดีเพราะสวัสดิการ กับเงินเดือนหรือค่าแรงขั้นต่ำนั้นต่างกัน ค่าแรงขั้นต่ำถ้าเรามาทำงานก็ได้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทแล้ว แต่สวัสดิการ ถ้าเราเจ็บป่วยมาทำงานไม่ได้ก็ไม่ได้สวัสดิการ นอกจากนี้ถ้าค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มเป็นวันละ 300 บาท ก็จะทำให้การทำงานล่วงเวลา และทำงานวันหยุดก็จะยิ่งได้ค่าตอบแทนเพิ่ม คิดถ้าเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ๆ น่าจะทำได้ แต่อุตสาหกรรมเล็กน่าจะมีปัญหา

ส่วนการทำงานโดยรับแค่ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 169 บาท ถามว่าพอไหม ตอบได้เลยว่าไม่ได้ ที่คนงานอยู่ได้ทุกวันนี้อยู่กันด้วยการทำโอทีและการทำงานวันหยุด ถ้ารับค่าแรงขั้นต่ำจริงๆ ไม่มีใครอยู่ได้ ถ้าอยู่แบบทำ 8 ชั่วโมงล้วนๆ ได้ค่าสวัสดิการนิดหน่อย ค่ากับข้าว 20 บาท ค่าน้ำมัน 10 บาท ไม่มีโอที ไม่มีฮอลิเดย์ ได้วันละ 200 กว่าบาท คิดว่าอยู่กันไม่ได้

ด้านวรวิทย์ กล่าวว่า "ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ต่างเห็นด้วยกับนโยบายขึ้นค่าแรง พรรคประชาธิปัตย์เสนอขึ้นค่าแรง 25% เพื่อไทยเสนอ 300 บาท ก็คือขึ้นค่าแรง 45% เพราะฉะนั้นถ้าคนเขาเลือกเพื่อไทยมาถือว่ามีนัยยะที่สำคัญ คือ เขาเลือกการเมืองแบบนี้"

"ถามว่า 300 บาทควรไหม ควร เพราะคนงานกว่าจะทำงานได้วันละ 300 บาท ต้องทำงานวันละ 8 ชั่วโมง บวก 3 ชั่วโมงคือโอที คือคนงานไทยทำงานมากเกินไป ควรทำงานวันละ 8 ชั่วโมง แล้วมีวันหยุดอย่างน้อย 2 วัน"

ส่วนข้อโต้แย้งจากฝ่ายทุนที่ว่าการขึ้นค่าแรงจะเป็นการเพิ่มต้นทุนนั้น วรวิทย์กล่าวว่า อาจเป็นการเพิ่มต้นทุนสำหรับผู้ประกอบการที่เน้นการใช้แรงงานราคาถูก ส่วนกิจการที่ใช้แรงงานที่มีทักษะ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์เขาพยายามดึงแรงงานที่มีฝีมือเข้ามาทำงาน โดยให้ค่าจ้างสูงกว่า 300 บาทต่อวัน คือจริงๆ แล้วเขาจ่ายได้ แล้วเราต้องการให้แรงงานไทยเป็นแรงงานใช้ฝีมือและรัฐต้องสนับสนุน คือไทยต้องออกจากการพัฒนาแบบนี้ที่เน้นใช้ค่าแรงถูกเป็นความได้เปรียบในการแข่งขัน

วรวิทย์ประเมินว่านโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาทนี้น่าจะทำได้ ขณะเดียวกันต้องทำเป็นระยะ ไม่ใช่ดำเนินมาตรการนี้ทีเดียว เช่น รัฐบาลควรกำหนดว่าสองปีนี้จะไปสู่จุดนี้ และถ้าไปสู่จุดนี้จะมีมาตรการอื่นอย่างไร เช่น จะทำอย่างไรไม่ให้สินค้าราคาสูง ขณะเดียวกันจะมีวิธีการอื่นไหมที่จะช่วยผู้ประกอบการที่ติดนิสัยใช้แรงงานราคาถูก ให้ปรับยุทธวิธีมาทำในสิ่งที่ทำให้ชีวิตของคนงานดีขึ้น

"อีกอย่างที่ควรทำควบคู่กันคือจะทำอย่างไรไม่ใช่แค่ให้ค่าจ้าง 300 บาท แต่ควรคิดว่าจะจัดสวัสดิการให้แรงงานกลุ่มอื่นอย่างไร อย่างน้อยแรงงานที่อยู่นอกระบบอย่างน้อยก็ต้องได้รายได้ที่เป็นธรรม หรือมีสวัสดิการ ถ้าเน้นทั้งค่าจ้างและสวัสดิการก็จะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น" วรวิทย์กล่าว