Thai / English

แรงงานขาดถึงมือกกร. ขอบีโอไอใช้ต่างด้าว15% ผสมโรงถกขึ้นค่าแรง300บาท/วัน



06 .. 54
เครือมติชน

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน เตรียมยื่นหนังสือถึง BOI ค้านคำสั่งห้ามไม่ให้ผู้ประกอบการจ้างแรงงานต่างด้าว ระบุอุตสาหกรรมเจอปัญหาขาดแคลนแรงงานหนัก ชี้ตัวเลขความต้องการใช้แรงงานต่างด้าวเพิ่มกว่า 1 ล้านคน สภาผู้ส่งออกยื่นข้อเสนอขอผ่อนผันใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในแต่ละโครงการไม่เกินร้อยละ 15 ของจำนวนแรงงานทั้งหมด ผสมโรงขอถกปัญหาค่าจ้างแรงงาน 300 บาทต่อวัน

กรณีคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ทำหนังสือถึงบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนทุกบริษัท ขอให้ยกเลิกการจ้างแรงงานต่างด้าวและให้หันมาจ้างแรงงานไทยภายในระยะเวลา 6 เดือน (พฤศจิกายน 2554) ได้สร้างความกังวลใจให้กับผู้ประกอบการและมีการนำเสนอปัญหานี้เข้าสู่การประชุมของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) แล้ว

นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ส.อ.ท.ได้นำเสนอประเด็นปัญหาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเลิกจ้างแรงงานต่างด้าวตามเงื่อนไขของ BOI เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ให้รับทราบแล้ว และเร็ว ๆ นี้ทาง กกร.จะทำหนังสือไปยัง BOI เพื่อร้องขอให้มีการทบทวนหรือผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว

ทั้งนี้ BOI ได้ให้เหตุผลการบังคับให้ผู้ประกอบการเลิกจ้างแรงงานต่างด้าวว่า มาจากข้อบังคับในการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในเรื่องของความมั่นคง ที่ผู้ขอรับการส่งเสริมจะต้องจ้างแรงงานไทยเข้าทำงาน แต่ในความเป็นจริงปัจจุบันหลายอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร, อุตสาหกรรม สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น

ดังนั้นการใช้แรงงานต่างด้าวจึงเป็นฐานกำลังที่สำคัญของการผลิต จากรายงานของกระทรวงแรงงานปรากฏว่ามีตัวเลขการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งในปีนี้ทางกระทรวงแรงงานได้เปิดให้มีการจด ทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่ คาดว่าจะมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาจดทะเบียนเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ขณะที่ ผู้ประกอบการเองที่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวต่างก็ดำเนินตามขั้นตอนของกฎหมายในการจ้างแรงงานต่างด้าวอยู่แล้ว "ดังนั้น BOI จึงน่ามีความเข้าใจถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานมากกว่านี้"

นอกจากการทำเรื่องถึง BOI เพื่อขอผ่อนผันให้มีการจ้างแรงงานต่างด้าวในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนผ่านทาง กกร.แล้ว ส.อ.ท.ได้สั่งให้สมาชิกชี้แจงรายละเอียดของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเลิกจ้างแรงงานต่างด้าว พร้อมทั้งทำหนังสือขอเข้าพบ นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ควบคู่กันไปด้วย เพื่อร้องขอให้ BOI ทบทวนและผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว

"ส.อ.ท.อยากให้ BOI ทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่หาก BOI พิจารณาและยืนยันที่จะคงมาตรการเดิมไว้ เข้าใจว่าผู้ประกอบการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนส่วนใหญ่คงไม่สามารถเลิกจ้างแรงงานต่างด้าวได้ และในเมื่อผู้ประกอบการไม่มีทางเลือก สุดท้ายก็คงต้องยอมให้ BOI ยกเลิกบัตรส่งเสริมการลงทุน ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีที่เคยได้รับอีก" นายทวีกิจกล่าว

ล่าสุดมีรายงานข่าวจากสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยเข้ามาว่า ในการประชุมสภาวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมานี้ ที่ประชุมได้นำปัญหาการเลิกจ้างแรงงานต่างด้าวเข้าสู่การพิจารณา พร้อมกับได้ข้อสรุปว่า การจ้างแรงงานต่างด้าวยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมภายในประเทศอยู่ และที่ประชุมมีข้อเสนอแนะปัญหานี้ต่อ BOI 3 ประการ คือ

1)เพื่อป้องกันการปิดตัวของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ไปแล้ว ทาง BOI ควรจัดให้มีการผ่อนผันการห้ามใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือออกไปอีกระยะเวลาหนึ่ง แต่จะต้องมีการออกประกาศอย่างชัดเจน 2)เสนอแนะให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์อนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวตามประกาศ ป.4/2553 เพื่อให้โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนสามารถว่าจ้างแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือได้อย่างเท่าเทียมกัน และ 3)BOI ควรอนุญาตให้โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนสามารถว่าจ้างแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือที่ "ถูกต้องตามกฎหมาย" มีจำนวนไม่เกินร้อยละ 15 ของแรงงานทั้งหมดในแต่ละโครงการต่อไปได้

ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทย มีนโยบายจะปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างแรงงานไม่ต่ำกว่าวันละ 300 บาท ตามที่หาเสียงไว้นั้น จัดเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ผู้ประกอบการกังวล เนื่องจากอัตราค่าจ้างแรงงานดังกล่าว "สูงเกินไป" จนผู้ประกอบการไม่สามารถรับได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีรายได้และกำไรจากผลประกอบการไม่สูงมากนัก แม้รัฐบาลจะมีนโยบาย ลดภาษีนิติบุคคลธรรมดาจาก 30% เหลือ 23% ก็ตาม ก็ไม่ได้ประโยชน์ เพียงพอที่จะนำเงินไปจ่ายค่าแรงที่ปรับ เพิ่มขึ้น

"เราไม่ถึงขั้นคัดค้านการปรับเพิ่มค่าแรง แต่ทุกอย่างมันต้องอยู่ร่วมกันได้ ควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ขึ้นทันที 300 บาท/วัน เอกชนคงรับไม่ได้ ควรจะให้เวลา 2-3 ปี โดย ส.อ.ท.ขณะนี้ก็อยู่ในระหว่างรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ภายหลังจากที่มีการจัดตั้งฟอร์มทีมรัฐบาลได้แล้ว ส.อ.ท.คงจะต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจะแสดงจุดยืนต่อนโยบายดังกล่าว" นายทวีกิจกล่าว