Thai / English

5พรรคฟุ้งขายฝันแรงงาน

5 พรรคการเมืองขายสารพัดฝันแรงงานเกทับค่าแรงถึง400บาท นักวิชาการสับไม่รู้จริงระบบค่าแรง

22 .. 54
โพสต์ทูเดย์

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) จัดเวทีสมัชชาแรงงาน เรื่องจุดยืนและข้อเสนอต่อนโยบายแรงงานของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง 2554 โดยมีตัวแทน 5 พรรคการเมืองตอบคำถามเกี่ยวกับนโยบายด้านแรงงานในมิติต่างๆ

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หากได้เป็นรัฐบาลจะปรับปรุงการบริหารงานของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ พร้อมสนับสนุนแนวคิดให้บอร์ดสปส.มีที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ต้องพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้งว่าจะเลือกแบบ1 คน 1 เสียงหรือลงคะแนนตามกลุ่มอาชีพ ขณะเดียวกันจะปรับการเข้าสู่ระบบประกันสังคมของแรงงานนอกระบบมาตรา 40 โดยแยกเก็บเงินสมทบแยกตามกลุ่มอาชีพ เนื่องจากแต่ละอาชีพมีรายได้ไม่เท่ากัน อัตราเงินสมทบก็ควรต่่างกันไปตามกำลังความสามารถ

"ส่วนเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ถือว่าเป็นการปรับฐานการเก็บเงินสมทบเข้าประกันสังคมด้วย เพราะทุกวันนี้นายจ้างจ่ายค่าจ้างไม่เต็มแต่ไปเพิ่มเงินจากการทำโอทีแทน เวลาหักสมทบเข้าประกันสังคม รายได้เฉลี่ยของแรงงานจึงหลอกอยู่แค่ 5-6 พันบาท ทั้งที่รายได้รวมโอทีอาจอยู่ที่หมื่นบาท การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท จึงปรับฐานการเก็บสมทบให้สอดคล้องกับความเป็นจริง"นายจารุพงศ์ กล่าว

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หลังเลือกตั้งพรรคพร้อมจะนำร่างพรบ.ประกันสังคม ฉบับที่ยกร่างโดยขบวนการแรงงานมาพิจารณาควบคู่กับร่างของรัฐบาลซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของวุฒิสภา เพื่อให้สปส.เป็นองค์กรอิสระเช่นเดียวกับองค์กรอิสระอื่นๆ รวมทั้งจะเสนอ ครม. ลงนามอนุสัญญารับรองสิทธิการรวมตัวตั้งสหภาพและสิทธิการเจรจาต่อรองของผู้ใช้แรงงานภายใน 1 เดือนหลังเลือกตั้ง

ขณะที่นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 25% ใน 2 ปีแบบค่อยเป็นค่อยไปสามารถทำได้จริง แต่หากปรับค่าแรง 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศจะเกิดผลกระทบ 2 อย่างคือ 1.โรงงานแบกภาระไม่ไหว คนตกงาน 2.ขาดการลงทุนในภาคอีสานมากขึ้น

นายมนัส โกศล ผู้สมัครสส.เขต 4 จ.สมุทรปราการ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า พรรคเตรียมเปิดตัวแคมเปญหาเสียงเพิ่มอีก 2 รายการคือ 1.แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ โดยแรงงานนอกระบบที่ไม่มีสลิปเงินเดือนสามารถออมเงินวันละ 100 บาท ติดต่อกัน 100 วัน โดยสามารถกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ได้ 1 แสนบาท ดอกเบี้ย 0% และ

2. เพิ่มสิทธิประโยชน์แก่แรงงานนอกระบบที่เข้าประกันสังคมมาตรา 40 โดยเพิ่มสิทธิการรักษาพยาบาลด้วย ในอัตราจ่ายสมทบเท่าเดิมคือ 100 บาท และ 150 บาท จากเดิมที่ให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 ต้องใช้บริการทางการแพทย์จากบัตรทอง

นายมนัส กล่าวว่า นโยบายเรื่องค่าแรงจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน ยกเลิกคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดและให้ค่าจ้างอัตราเดียวเท่ากันทั่วประเทศ

นายโอฬาร กาญจนกาศ ผู้สมัครสส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า พรรคมีนโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน ทั่วประเทศเท่ากัน โดยเพิ่มปีละ 50 บาท เพราะหากเพิ่มทันทีจะทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงเกินไป

ขณะเดียวกันยังมีนโยบายแจกคูปองสำหรับการรักษาพยาบาล5,000 บาท/ปี ใบละ 100 บาท โดยคูปองนี้สามารถนำมาใช้จ่ายสมทบมาตรา 40 โดยที่ผู้ประกันตนจ่ายเพิ่มอีกเพียง 50 บาท เทียบเท่ากับที่จ่ายในปัจจุบัน

นายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ กล่าวว่า แรงงานไม่ควรจ่ายเงินสมทบสำหรับการรักษาพยาบาล เพราะคนอีกกลุ่มที่ใช้บัตรทองยังรักษาฟรี ดังนั้นควรเลิกเก็บเงินแล้วเอาเงินไปใส่ในกองทุนชราภาพ เพื่อให้แรงงานได้รับเงินบำนาญหลังเกษียรเพิ่มมากขึ้น

นายแล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากข้อเสนอที่พรรคการเมืองหาเสียงสะท้อนว่านักการเมืองไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเร่ืองนี้เลย เช่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่เกทับไปมาเหมือนเป็นบ่อนการพนันจนถึง 400 บาท ไม่ใช่สิ่งที่พอเป็นรัฐบาลแล้วจะชี้นิ้วได้ เพราะกลไกการขึ้นค่จ้างต้องทำผ่านคณะกรรมการไตรภาคีซึ่งประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐ ลูกจ้างและนายจ้างซึ่งหากขึ้นค่าจ้างสูงขนาดนี้ตัวแทนนายจ้างไม่มีทางยอมอยู่แล้ว

"อะไรที่ทำให้นักการเมืองคิดว่าจะบงการค่าแรงได้ การกำหนดนโยบายแบบนี้แสดงว่าไม่มีความรู้ในเรื่องนี้เลยใช่ไหม"นายแล กล่าว