สรส.ร้อง "ไอแอลโอ" คนงานพม่าเข้าไม่ถึงกองทุนเงินทดแทนผู้นำแรงงานไทยร้ององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ณ นครเจนีวา ระบุไทยยังกีดกันแรงงานข้ามชาติจากพม่า ขัดกฎหมายระหว่างประเทศ14 .. 54 ประชาไท วันนี้ (13 มิ.ย. 2554) เวลา 14.00 น. ตามเวลาประเทศไทย หรือ 9.00 น. เวลาประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ยื่นหนังสือต่อองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อร้องเรียนกรณีที่รัฐบาลไทยละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศด้านการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ หลังพึ่งกลไกในประเทศ ทั้งรัฐบาลและศาลไม่ได้ เพราะยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ แม้ว่าองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และองค์การสหประชาชาติได้ร้องขอให้รัฐบาลไทยยุติการละเมิดแรงงานข้ามชาติจากพม่าในประเทศไทย แต่รัฐบาลไทยกลับเพิกเฉย นายสาวิทย์ แก้วหวาน ได้ยื่นหนังสือร้องเรียน พร้อมเอกสารประกอบกว่า 500 หน้า แสดงหลักฐานยืนยันถึงการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบ ต่อแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า ในการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) หลังแรงงานข้ามชาติได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน การปฏิเสธสิทธิของแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน ตามหนังสือเวียน สปส. ที่ รส. 0711/ว 751 เป็นข้อห่วงใยในปี 2553 ของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญแห่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศด้านการมีผลบังคับของอนุสัญญาและข้อเสนอแนะและผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนของแรงงานย้ายถิ่นที่เรียกร้องให้รัฐบาลไทย ทบทวน หนังสือเวียนฉบับดังกล่าวและให้นำแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบกองทุนเงินทดแทน แต่รัฐบาลไทยยังนิ่งเฉย และยังคงปฏิเสธสิทธิของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าที่จะได้รับเงินทดแทนกรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานจากกองทุนเงินทดแทน ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (14 มิ.ย. 2554) กระทรวงแรงงานจะขอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติการจัดตั้งกองทุนประกันอุบัติเหตุเอกชนสำหรับแรงงานข้ามชาติซึ่งให้สิทธิประโยชน์น้อยกว่ากองทุนเงินทดแทน เพื่อจ่ายเงินทดแทนให้แรงงานข้ามชาติที่ประสบอุบัติเหตุและเจ็บป่วยจากการทำงาน แยกต่างหากจากกองทุนเงินทดแทน นายสาวิทย์ กล่าวจากนครเจนีวาว่า จากความพยายามหลายปีของการเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมระหว่างแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ โดย สรส.อย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลยังคงปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ และการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งที่รัฐบาลมีพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน (เรื่องเงินทดแทนกรณีอุบัติเหตุ) ค.ศ. 1925 (อ.ที่ 19) ในวันพรุ่งนี้กระทรวงแรงงานวางแผนจะเสนอให้รัฐบาลอนุมัติโครงการการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลขึ้น เพื่อที่จะจ่ายค่าชดเชยให้กับ แรงงานข้ามชาติ ที่ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งเป็นแผนการที่คลุมเครือและมิได้ผ่านการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ยิ่งไปกว่านั้นนโยบายที่อ้างว่าจะปกป้องสิทธิแรงงานของแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก แต่มีการแยกระบบของแรงงานข้ามชาติออกจากแรงงานไทย เป็นการเลือกปฏิบัติอย่างชัดแจ้ง นโยบายของรัฐบาลไทยที่ปฏิเสธการเข้าถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนยังคงส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการดำรงชีวิตของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าที่ทำงานในประเทศไทยซึ่งมีประมาณ 2-3 ล้านคน ที่ยังคงมีความเสี่ยงสูงที่อาจได้รับบาดเจ็บและเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน การปฏิเสธสิทธิภายใต้กองทุนเงินทดแทนนี้ จึงทำให้แรงงานข้ามชาติหลายต่อหลายคนที่ได้รับบาดเจ็บอย่างร้ายแรงเนื่องจากการทำงานนั้น กลับไม่ได้รับการช่วยเหลือทางด้านการเงินแต่อย่างใด นายสาวิทย์ กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติที่ตกเป็นเหยื่อจากการประสบอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน สมควรได้รับการรับประกันการเยียวยาจากรัฐโดยผ่านกองทุนเงินทดแทน เพราะหากไปรอพึ่งให้นายจ้างมาเยียวยาแต่เพียงประการเดียวแล้วนั้น ก็คงเชื่อถือไม่ได้ ดังเช่นที่ สรส. ได้รับรายงานมาแล้ว ในหลายกรณี นายจ้างก็หลบหนี หรือแจ้งตำรวจมาจับแรงงานข้ามชาติ เพื่อจะได้ไม่ต้องรับภาระแรงงานที่บาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน เราไม่สามารถยอมรับโครงการประกันอุบัติเหตุสำหรับแรงงานข้ามชาติโดยเอกชน ที่ให้สิทธิประโยชน์น้อยกว่ากองทุนเงินทดแทน และการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่แยกต่างหากจากแรงงานไทยเป็นระบบที่ไม่อาจยอมรับได้ แรงงานข้ามชาติทุกคนในประเทศไทยต้องได้รับสิทธิในด้านแรงงานโดยไม่คำนึงถึงสัญชาติ และถึงเวลาแล้วที่แรงงานข้ามชาติเหล่านี้จะต้องได้รับความคุ้มครองเมื่อได้รับบาดเจ็บเนื่องจากการทำงานเฉกเช่นเดียวกับแรงงานไทย อนึ่ง สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เป็นสมาพันธ์แรงงานของสมาคมแรงงานพนักงานรัฐวิสาหกิจในประเทศไทย 43 แห่ง ประกอบด้วยสมาชิกกว่า 170,000 คน และเป็นสมาชิกของสมาพันธ์แรงงานระหว่างประเทศ |