Thai / English

UN HRC ถกประเด็นไทยละเมิดเสรีภาพออนไลน์และสิทธิแรงงานข้ามชาติ



08 .. 54
ประชาไท

องค์กรสิทธิมนุษยชนเผยในที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุไทยละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้น โดยเจ้าหน้าที่รัฐ นายจ้างและบุคคลทั่วไป ด้านเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตถูกจำกัดมากพอๆ กับปากีสถาน โดยใช้ ป.อาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ อย่างเข้มงวด

เว็บไซต์บางกอกโพสต์รายงานเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ระบุสถานการณ์การละเมิดเสรีภาพในอินเตอร์เน็ต และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศไทยถูกนำมาอภิปรายในที่ประชุม คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN HRC) ในกรุงเจนีวา เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และองค์กรฮิวเมนไรท์วอช ได้ร่วมกันออกแถลงว่า แรงงานข้ามชาติจำนวน 2 -3 ล้านคนในประเทศไทยต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในชีวิตประจำวัน

การละเมิดสิทธินั้นรวมไปถึงการใช้ใช้กำลังหรือการสังหารทั้งโดยปัจเจกบุคคลและโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทย มีการทรมาน และทารุณกรรมในระหว่างถูกควบคุมตัว การละเมิดทางเพศ การละเมิดสิทธิแรงงานอย่างกว้างขวาง รวมถึงการรีดไถซึ่งมีอยู่อย่างแพร่หลาย

การอ่านแถลงการณ์ดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจาก จอร์จ บุสตามานเต ผู้นำเสนอรายงานต่อที่ประชุมของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาติ โดยเขาบรรจุประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงานในไทยลงไปในรายงานดังกล่าว

เขากล่าวว่า การละเมิดสิทธิของแรงงานข้ามชาติในไทยนั้นเพิ่มสูงขึ้น และมีแนวโน้มว่าแรงงานเหล่านี้จะถูกมองเป็นทรัพย์สินมากว่าทีจะเป็นมนุษย์ซึ่งมีสิทธิมีเสียง

ฮิวแมนไรท์วอชและมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนายังได้อ้างถึงรายงานซึ่งถูกนำเสนอเมื่อปีที่แล้ว โดยรายงานดังกล่าวใช้ชื่อว่า “หนีเสือปะจระเข้: การละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย” ซึ่งเป็นรายงานที่แสดงให้เห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแรงงานข้ามชาติอย่างกว้างขวางโดยเจ้าหน้าที่รัฐไทย ตำรวจ บุคคลทั่วไปและนายจ้าง ซึ่งแรงงานที่ถูกละเมิดเหล่านั้นเป็นขาวพม่า ลาวและกัมพูชา ทั้งที่มีเอกสารการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามและไม่มีเอกสาร

“ทุกๆ พื้นที่ที่เราได้เข้าไปสำรวจ ทั้งในเขตจังหวัดที่ห่างไกลจนถึงเขตอุตสาหกรรมใกล้ๆ กรุงเทพฯ การละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติล้วนเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ และผู้ที่ร้องเรียนจะต้องเผชิญกับการโต้ตอบในทันทีจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ เจ้าหน้าที่รัฐ และนายจ้าง”

แถลงการณ์ที่กล่าวต่อหน้าคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนจำนวน 47 คนนั้น ยังระบุต่อไปด้วยว่า ฮิวแมนไรท์วอชได้เสนอข้อเสนอ 30 ข้อต่อรัฐบาลไทยและกระทรวงที่เกี่ยวข้องแล้ว เช่น การเสนอให้ตั้งคณะกรรมการพิเศษที่เป็นอิสระขึ้นมาสืบสวนสอบสวนกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนแรงงานข้ามชาติ เพื่อที่จะหยุดยั้งการทรมานและการกระทำทารุณกรรมต่อแรงงานข้ามชาติที่ถูกควบคุมตัว รวมถึงเรียกร้องให้ปรับแก้กฎหมายแรงงานเพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติรวมตัวตั้งสหภาพแรงงานเพื่อปกป้องสิทธิของตน

“ทว่าหนึ่งปีหลังจากนั้น รัฐบาลไทยก็ล้มเหลวโดยไม่สามารถนำข้อเสนอไปปฏิบัติให้เป็นจริงได้แม้แต่ข้อเดียว มันถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยจะต้องทำให้นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเคารพสิทธิมนุษยชนปฏิบัติได้จริง รวมถึงต้องมีกรอบการทำงานที่นำไปสู่การยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ” ตัวแทนองค์กรสิทธิมนุษยชนกล่าวต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

ในประเด็นสิทธิแรงงานข้ามชาตินี้ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเจนีวา ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลไทยในการประชุมปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวทันที โดยระบุว่า ทางการไทยนั้นมีความพร้อมอยู่แล้วที่จะแลกเปลี่ยนและร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาดังที่ได้กล่าวมา

อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกัน คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนได้รับฟังข้อมูลจาก ปูจา ปาเตล ตัวแทนจากองค์กรฟอรัมเอเชียซึ่งให้ข้อมูลเรื่องการละเมิดเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ต

โดยเธอกล่าวว่า เป็นที่น่าเสียใจที่การคุกคามผู้ใช้อินเตอร์เน็ตนั้นเพิ่มขึ้นในหลายประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยและปากีสถาน ซึ่งรัฐบาลยังคงตีความสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นซึ่งได้รับการคุ้มครองตาม กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) มาตรา 19 (3) ตามอำเภอใจ และนำมาสู่การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นผ่านอินเตอร์เน็ต

ปูจา กล่าวด้วยว่า มาตรการทางกฎหมายที่รุนแรงเกินไปซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 พระราชบัญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 นั้น ถูกนำมาใช้มากขึ้นเพื่อจัดการกับผู้ใช้อินเตอร์เน็ต

ทั้งนี้ โทษจำคุกตามกฎหมายทั้งสองมาตราถูกกำหนดไว้สูงมาก คือ 10-15 ปี และส่วนใหญ่แล้วผู้ต้องหาไม่ได้รับการประกันตัว

Mr. Frank La Rue ผู้จัดทำรายงานด้านเสรีภาพในการแสดงความเห็นเพื่อเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาติ ได้แจ้งแก่คณะมนตรีว่ารัฐบาลไทยและปากีสถานได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อบล็อกเนื้อหา มอนิเตอร์ เจาะจงตัวนักเคลื่อนไหวและนักวิจารณ์

เขากล่าวด้วยว่าไม่กี่เดือนมานี้ คณะผู้จัดทำรายงานพบว่ามีความเติบโตของขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่เรียกร้องความเปลี่ยนแปลงเพื่อความยุติธรรม ความเท่าเทียม ความรับผิดชอบของผู้มีอำนาจและเรียกร้องการเคารพในสิทธิมนุษยชนในระดับที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ลักษณะเฉพาะตัวของอินเตอร์เน็ต ซึ่งเปิดช่องทางให้ปัจเจกชนได้เผยแพร่จ้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็วทันทีทันใดเพื่อที่จะรวมตัวกัน และเพื่อที่จะสื่อสารกับโลกให้รับรู้ถึงสถานการณ์ที่ไม่เป็นธรรมและไม่เท่าเทียม ก็ได้สร้างความกลัวให้เกิดขึ้นในหมู่รัฐบาลและผู้มีอำนาจ ซึ่งเขากล่าวว่า ข้อจำกัดในการถ่ายเทข้อมูลข่าวสารผ่านอินเตอร์เน็ตนั้นควรมีให้น้อยที่สุด โดยเหตุผลที่เป็นข้อยกเว้นอย่างยิ่งและกรณีที่จะจำกัดเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตนั้นต้องเป็นกรณีที่กำหนดโดยกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ปูจา ปาเตล กล่าวว่า รัฐบาลไทยยังไม่ได้เปิดเผยรายชื่อยูอาร์แอลที่ถูกบล็อกจำนวน 75,000 ยูอาร์แอล รวมทั้งยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดถึงความจำเป็นและความชอบธรรมในการบล็อกยูอาร์แอลเหล่านั้น

เธอให้ข้อมูลต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนถึงกรณีของจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทด้วยว่า กรณีของจีรนุชเป็นกรณีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล ซึ่งคดีดังกล่าวเกืดขึ้นจากกรณีที่มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตรายอื่นโพสต์ข้อความลงในเว็บไซต์ที่จีรนุชเป็นผู้ดูแล โดยตัวแทนจากฟอรัมเอเชียอ้างถึงความเห็นของ Mr. Frank La Rue ว่า “ตัวกลาง” ไม่พึงถูกดำเนินคดีด้วยข้อความที่ตนไม่ได้เป็นผู้เขียน และไม่ควรถูกบังคับให้ต้องทำการเซ็นเซอร์ในนามของรัฐ

“เราเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 15 พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ซึ่งกำหนดให้ตัวกลางต้องรับผิด” ตัวแทนจากฟอรัมเอเชียกล่าว

ไม่มีรายงานว่า ตัวแทนรัฐบาลไทยมีท่าทีอย่างไรต่อประเด็นเสรีภาพในการแสดงความเห็นที่ถูกหยิบยกขึ้นในที่ประชุม

สำหรับการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติสมัยที่ 17 นี้ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม ซึ่งเป็นสมัยประชุมสุดท้ายของเขาในตำแหน่งประธานคณะมนตรีฯ