แกนนำสหภาพแรงงานเคเอฟซี เผยเจรจาไม่คืบ26 .. 54 ประชาไท สหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทยและสหภาพธนาคารกรุงเทพ ร่วมแสดงความยินดีในการก่อตั้งสหภาพของพนักงานบริษัทยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ด้านแกนนำที่ถูกเลิกจ้างระบุการเจรจายังไม่คืบ ยันอยากกลับเข้าทำงานเพราะเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม วันนี้ (25 พ.ค.54) เวลา 12.00น. ที่หน้าอาคารทูแปซิฟิกเพลส เขตคลองเตย ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (ชั้น 15) ผู้ให้บริการ ผู้บริหาร และผู้ให้สิทธิแฟรนไชส์ร้านอาหารบริการด่วน เคเอฟซี และพิซซ่าฮัท ในประเทศไทย ตัวแทนสหภาพแรงงานอาหารและบริการ ประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งโดยพนักงานของบริษัทยัมฯ รับมอบดอกไม้แสดงความยินดีจากตัวแทนสหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทยและสหภาพธนาคารกรุงเทพ ในโอกาสจดทะเบียนก่อตั้งสหภาพแรงงานได้สำเร็จ กฤษ สรวงอารนันท์ อดีตผู้จัดการเขต (area coach) ในฐานะประธานสหภาพแรงงานอาหารและบริการ ประเทศไทย กล่าวว่า สหภาพแรงงานอาหารและบริการ ประเทศไทย ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีสมาชิกราว 200 กว่าคน จากพนักงาน 8,000 คน โดยสหภาพแรงงานที่ตั้งขึ้นเป็นสหภาพระดับผู้บังคับบัญชา ขณะนี้กำลังรับสมัครสมาชิกระดับผู้ปฏิบัติงานเพิ่ม เพื่อเปิดประชุมต่อไป ส่วนที่ก่อนหน้านี้ พนักงานบริษัท ยัมฯ จำนวนหนึ่งยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อบริษัท ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 13 โดยพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานนัดทั้งสองฝ่ายไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ในวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น กฤษเปิดเผยว่า ฝ่ายนายจ้างได้ส่งตัวแทนมาแต่ยังไม่ได้มีการเจรจากันแต่อย่างใด แม้ครั้งนี้ถือเป็นการนัดไกล่เกลี่ยครั้งที่สี่แล้วก็ตาม เมื่อถามถึงกรณีที่เขาและเพื่อนพนักงานอีกสองคนคือ ศิวพร สมจิตร และอภันตรี เจริญศักดิ์ถูกเลิกจ้าง โดยนายมิลินท์ พันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยัมฯ เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า การที่ต้องให้พนักงานทั้งสามพ้นจากสภาพการเป็นพนักงาน เนื่องจากทั้งสามคนละเมิดต่อกฎระเบียบของบริษัท โดยใช้อีเมลบริษัทส่งข้อมูลที่ผิดไปจากความเป็นจริงส่งไปยังพนักงานในระดับตำแหน่งต่ำกว่าเพื่อให้เข้าใจข้อมูลที่ผิดๆ กฤษชี้แจงว่า พวกเขาเพียงแต่ใช้อีเมลในการส่งข้อเรียกร้อง 10 ข้อให้พนักงานทุกคนทราบเท่านั้น โดยข้อเรียกร้องเหล่านี้เป็นข้อมูลที่เปิดเผยทั่วไป ไม่ว่าผู้บริหารหรือทางกระทรวงแรงงานเองก็มีข้อมูลนี้ พร้อมยืนยันว่าไม่ได้ส่งข้อมูลปลุกปั่นแต่อย่างใด โดยพวกเขายังยืนยันที่จะกลับเข้าทำงาน เพราะรู้สึกว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และได้ยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤตแรงงานแล้ว กฤษ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ในบริษัทขณะนี้เป็นไปด้วยความตึงเครียด โดยมีการให้ข้อมูลเท็จกับพนักงาน ทำให้หวาดกลัวกับการมีสหภาพฯ สำหรับกรณีที่มีผู้ร่วมลงชื่อ 141 รายเพื่อขอให้บริษัทยัมฯ มีแรงงานสัมพันธ์ที่ดีนั้น กฤษกล่าวว่า ทราบข่าวแล้ว และรู้สึกดีใจที่หลายองค์กรรวมถึงนักวิชาการช่วยกันปกป้องสิทธิของพนักงานที่ไม่ได้รับการดูแล |