Thai / English

ครม.เห็นชอบมาตรการแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมืองทั้งระบบ

(26 เม.ย.54) ในการประชุมคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองทั้งระบบ ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ดังนี้

27 .. 54
ประชาไท

1. มาตรการการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่ลักลอบทำงานอยู่ใน ประเทศไทย ดำเนินการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่อยู่ในประเทศไทยซึ่งมี ผู้ประสงค์จะจ้างงาน รวมทั้งผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรอายุไม่เกิน 15 ปี โดยใช้มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับไม่เกิน 1 ปี และไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และใช้มาตรา 5 และมาตรา 8/2 แห่งพระราชบัญญัติการจดทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 จัดทำทะเบียนประวัติราษฎรคนต่างด้าว รวมทั้งใช้มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 อนุญาตให้ทำงานชั่วคราวในระหว่างการรอการส่งกลับ ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณากำหนดรายละเอียดก่อนเริ่มดำเนินการ

2. มาตรการป้องกันสกัดกั้น และการปราบปราม จับกุม ดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองเน้นดำเนินการในการสกัดกั้นและ ป้องกันการเข้ามาใหม่อย่างเด็ดขาด จริงจังและต่อเนื่องทั้งก่อนการจดทะเบียน ระหว่างการจดทะเบียน และหลังสิ้นสุดการจดทะเบียนและเน้นการปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดจริงจังทั้งนายจ้าง ผู้ให้ที่พักพิง ผู้ที่เกี่ยวข้อง และแรงงานต่างด้าวที่ไม่มาเข้าระบบ รวมทั้งเน้นการดำเนินการมิให้มีการลักลอบกลับเข้ามาใหม่อีกหากพบว่าแรงงาน ต่างด้าวลักลอบกลับเข้ามาซ้ำอีกต้องถูกดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมายอย่าง เคร่งครัด และพร้อมจะทำบัญชีรายชื่อห้ามมิให้เข้าประเทศ

3. มาตรการนำเข้าแรงงานต่างด้าวรายใหม่อย่างถูกกฎหมายดำเนินการตามมติคณะ รัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2548 โดยเร่งรัดดำเนินการนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมายจากประเทศพม่า ลาวและกัมพูชาให้สามารถตอบสนองความต้องการของนายจ้างผู้ประกอบการได้อย่าง ทันท่วงที

4. มาตรการปรับโครงสร้างคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) โดยการปรับปรุงแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารแรงงาน ต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง พ.ศ. 2544 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2546 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 ให้ครอบคลุมการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองทั้งระบบรวมทั้ง ปรับโครงสร้าง กบร. ให้มีคณะอนุกรรมการทั้งในส่วนกลาง และในระดับจังหวัด

5. มาตรการยกระดับหน่วยงานเลขานุการ กบร. เพื่อให้สามารถดำเนินการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองได้อย่าง เบ็ดเสร็จทั้งระบบโดยการยกระดับสถานะสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวขึ้นเป็น หน่วยงานระดับกรม สังกัดกระทรวงแรงงาน ให้มีหน่วยงานทั้งในส่วนกลาง และระดับจังหวัด โดยให้กระทรวงแรงงาน และสำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมพิจารณาความเป็นไปได้ในการดำเนินการดังกล่าวต่อไป

กบร.มีมติขึ้นทะเบียนต่างด้าวครั้งใหม่

ก่อนหน้านี้ กบร.มีมติขึ้นทะเบียนต่างด้าวครั้งใหม่ เก็บลายนิ้วมือ-โครงหน้า หวังดึงแรงงานใต้ดินเข้าระบบ เฉลิมชัยเชื่อได้แน่ร้อยละ90 เอื้อแรงงานประมงย้ายเรือได้

เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่กระทรวงแรงงาน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) โดยมี พล.ต.สนั่น ขจรประสาสน์ เป็นประธานการประชุม ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม 22 หน่วยงานว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการเปิดจดทะเบียนต่างด้าวที่ไม่มีใบ ทร.38/1 รอบใหม่ โดยจะสามารถดำเนินการได้หลังจากที่ พล.ต.สนั่น นำเรื่องเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาเพื่อให้มีการอนุมัติ จึงจะดำเนินการประชาสัมพันธ์แก่ผู้ประกอบการและลูกจ้างทั่วประเทศ ทั้งนี้การจดทะเบียนดังกล่าว ทางกรมจัดหางานจะจัดให้มีหน่วยงานในการรับจดทะเบียนในแต่ละจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการเป็นหัวหน้าศูนย์ประจำจังหวัด อย่างไรก็ตามระบบการรับจดทะเบียนจะมีการจัดเก็บข้อมูลโดยการทำไบโอดาต้า จัดเก็บลายนิ้วมือทั้ง 10 นิ้ว และโครงสร้างใบหน้า จากนั้นจึงจะออกใบอนุญาตทำงาน (เวิร์คเพอร์มิต) เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้

นายเฉลิมชัยกล่าวต่อว่า ในส่วนของการจดทะเบียนครั้งนี้ มั่นใจว่าจะมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาจดทะเบียนประมาณร้อยละ 90 ซึ่งช่วงเวลาในการลงทะเบียนเปิดครั้งนี้แค่ครั้งเดียว หากผู้ประกอบการไม่นำลูกจ้างมาจดทะเบียนจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งนี้ในส่วนแรงงานต่างด้าวที่ประกอบอาชีพประมงจะขยายเวลาให้เป็นพิเศษ ซึ่งใช้วิธีจัดเก็บข้อมูลต่างจากแรงงานปกติ เนื่องจากแรงงานส่วนนี้ทำงานในทะเลเป็นส่วนใหญ่ และอยู่ไม่เป็นที่ โดยจะจัดทำเป็นรูปแบบสมาคม เพื่อแก้ปัญหาการย้ายข้ามเรือที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง

“การจดทะเบียนครั้งนี้มีมาตรการที่ชัดเจนและเป็นหัวใจคือการบังคับใช้ กฎหมาย ซึ่งผู้ประกอบการที่ไม่มาจดทะเบียนหรือละเมิดก็จะถูกดำเนินคดี ซึ่งโทษที่รุนแรงที่สุดคือข้อหาการค้ามนุษย์ ที่สำคัญการเปิดโอกาสให้จดทะเบียนในครั้งนี้ถือเป็นมาตรการจูงใจที่ดีที่สุด เพราะปัจจุบันแรงงานส่วนนี้ก็ทำผิดกฎหมายอยู่แล้ว” นายเฉลิมชัยกล่าว