เฉลิมชัย ยันขึ้นค่าจ้างมาจากความจำเป็นไม่ใช่หาเสียงเลือกตั้ง26 .. 54 ผู้จัดการ ปลัดแรงงาน สั่งอนุฯ ค่าจ้างจังหวัด เร่งรายงานตัวเลขค่าครองชีพแต่ละพื้นที่ ก่อนนัดพิจารณาขึ้นค่าจ้างช่วงปลายเดือน พ.ค.นี้ หนุนปรับโครงสร้างค่าจ้าง ขณะที่ รมว.แรงงาน ยืนยันนโยบายขึ้นค่าจ้างมาจากความจำเป็น ไม่ได้หาเสียงช่วงเลือกตั้ง วันนี้ (25 เม.ย.) นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง กล่าวว่า ขณะ นี้กำลังให้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เร่งสำรวจอัตราค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ของแต่ละพื้นที่ และส่งข้อมูลมาที่ส่วนกลางให้แล้วเสร็จภายในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ก่อนที่ในช่วงปลายเดือนจะได้มีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง หรือ บอร์ดค่าจ้าง เพื่อพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างกลางปี โดยเชื่อว่า การสำรวจครั้งนี้ อัตราค่าครองชีพจะเพิ่มสูงขึ้นมาก ตามภาวะราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนจะปรับขึ้นค่าจ้างได้มากน้อย เพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลและความจำเป็น รวมถึงมาตรการที่รัฐจะช่วยบรรเทาภาระที่เพิ่มสูงขึ้นของนายจ้างด้วย
ส่วนกรณีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศว่า จะมีการปรับค่าจ้างในอัตราร้อยละ 25 ภายใน 2 ปีนั้น มองว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้คณะทำงานสำรวจและศึกษาอัตราค่าจ้างที่เหมาะสม และเพียงพอต่อการดำรงชีพของผู้ใช้แรงงานแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ก็จะนำเข้าประกอบการการพิจารณาในการประชุมบอร์ดค่าจ้าง
นายสมเกียรติ ยังกล่าวถึงกรณีที่ผู้นำแรงงาน เรียกร้องให้มีการปรับโครงสร้างค่าจ้าง โดยออกกฎหมายเฉพาะ ว่า ตนเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว โดยจะต้องปรับนิยามการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ให้เป็นค่าจ้างแรกเข้า และการกำหนดระยะเวลา หลังจากทำงานเกิน 1 ปี สถานประกอบการจะต้องปรับค่าจ้างให้ตามที่กำหนด อย่างไรก็ตามต้องใช้เวลาในการพิจารณากลั่นกรอง ก่อนที่จะออกมาเป็นกฎหมาย
ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงาน กล่าวว่า การ เตรียมปรับขึ้นค่าจ้างในครั้งนี้ ไม่ได้พิจารณาเฉพาะช่วงที่จะมีเลือกตั้ง แต่ดูที่เหตุผลและสภาพความเป็นจริง ซึ่งตนได้สั่งให้ปลัดกระทรวงแรงงาน สำรวจตัวเลขค่าจ้างที่เหมาะสมตั้งแต่ 2-3 เดือนที่แล้ว ที่ผ่านมาทุกพรรคมีนโยบายจะขึ้นค่าจ้าง แต่จะทำได้หรือไม่ เป็นอีกเรื่อง ที่ดูจะโม้หน่อยก็ 300 บาท พร้อมยืนยันว่า ตนไม่ได้เข้าไปแทรกแซงการขึ้นค่าจ้าง แต่ในฐานะรัฐมนตรีมีหน้าที่กำหนดนโยบาย ให้ผู้ใช้แรงงานมีความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งผู้เกี่ยวข้องจะต้องเอาเหตุผลไปให้คณะกรรมการค่าจ้างที่เป็นไตรภาคี และมีหน้าที่ในเรื่องนี้โดยตรงไปพิจารณา |