นายกรัฐมนตรีเปิดงานและร่วมเสวนาเรื่องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แรงงานไทยดีจริงหรือ นายกรัฐมนตรีคาดหวังเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 25% ภายใน 2 ปี โดยพิจารณา 2 ส่วน คือเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ลดต้นทุนให้ธุรกิจ ลดภาษี ฝ่ายลูกจ้างเสนอควบคุมราคาสินค้า
วันที่7 เมษายน 2554เวลา 08.30 น. ณ ห้องมหิตลาธิเบศร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการเสวนาทางวิชาการเรื่อง"ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แรงงานไทยดีจริงหรือ" (ครั้งที่ 2) จัดโดย มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ร่วมกับกระทรวงแรงงาน ผู้ร่วมงานประกอบด้วย หน่วยงานจาก ภาคเอกชนทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง นักวิชาการ ผู้นำแรงงาน อาทิ นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายมนัส โกศล ประธานองค์การสภาลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อดังกล่าว ให้ได้มุมมองที่หลากหลาย รอบด้านมากยิ่งขึ้น
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเปิดการเสวนาทางวิชาการว่า เรื่องแรงงานมีความสำคัญและเกี่ยวโยงกับหลายส่วนในสังคม โดยจะต้องมีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ เพื่อดูแลแรงงานทั้งระบบ โดยตัวเลขการปรับขึ้นค่าแรงจะต้องพิจารณาจาก 2 ส่วน คือ การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน และการลดต้นทุนให้กับภาคธุรกิจหรือนายจ้าง เช่น การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และการหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งกระทรวงการคลังกำลังศึกษารายละเอียดในการลดต้นทุน ให้สอดคล้องกับการเพิ่มค่าแรง
พร้อมกล่าวว่า นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 25% ปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับตัวโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องการให้ความเป็นธรรมระหว่างรายได้และค่าใช้จ่ายของประชาชน ปัจจุบันการที่จะราคาสินค้าในปัจจุบันนั้นทำได้ยาก เมื่อสินค้ามีราคาแพงขึ้นก็ต้องมีการปรับรายได้ให้กับประชาชน รวมทั้งมีเงินออม ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ก็ยังค่าจ้างสูงกว่า ตอนนี้ประเทศไทยมีแรงงานประมาณ 2 ล้านคนขึ้นไป ที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ รัฐบาลจึงพยายามแก้ปัญหาเพื่อให้สามารถครองชีพได้ บวกกับมาตรการอื่น ๆ ซึ่งมั่นใจว่าเศรษฐกิจจะเข้มแข็งขึ้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบายขึ้นค่าแรง 25% ภายใน 2 ปีว่า จะยึดโยงสองส่วนคือ การปรับค่าจ้างยึดกับค่าครองชีพ และโยงกับเรื่องของประสิทธิภาพที่ไม่ฝืนตลาด แต่ถ้าขึ้นเท่ากันทั่วประเทศคิดว่า จะเป็นปัญหากับโครงสร้าง โดยยืนยันว่า การขึ้นค่าแรงงานเพื่อให้แรงงานอยู่ได้ เพราะข้าราชการได้ขึ้นเงินเดือนขึ้นให้แล้ว 5% รัฐวิสาหกิจเงินเดือนต่ำกว่า 5 หมื่นบาทปรับขึ้น 5% ส่วนท้องถิ่นกำลังพิจารณาอยู่ ซึ่งรัฐบาลจะพยายามให้ทุกคนอยู่ได้ ในสภาวะที่ค่าครองชีพที่สูงขึ้น หลังจากนั้นจะพิจารณาว่า การปรับขึ้นค่าจ้างแบบก้าวกระโดดต้องทำพร้อมกับการลดต้นทุนการผลิตอื่นๆ ฉะนั้นไม่สามารถขยับได้พรวดเดียว แต่เป้าหมายสุดท้ายคือเราอยากเห็นค่าจ้างขั้นต่ำภายใน 2 ปี ส่วนจะขึ้นให้เท่ากันทั้งประเทศนั้น ต้องดูรายละเอียดตัวเลขและอื่น ๆ ก่อน แต่เบื้องต้นอาจมีการขึ้นค่าแรงให้เท่ากันในรอบแรกก็ได้ หรืออาจจะไม่เท่ากันในรอบแรก แต่อาจชดเชยให้ในรอบที่สอง อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศไทยได้ผ่านวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ การว่างงานไม่ได้เพิ่มขึ้น ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นตามสมควร ลูกจ้างและนายจ้างไม่ได้ทะเลาะขัดแย้งกันเหมือนหลายประเทศ และเมื่อผ่านวิกฤติเศรษฐกิจแล้ว ตัวชี้วัดเรื่องการกระจายรายได้ของประเทศไทยกลับดีขึ้น
ส่วนค่าแรงของแรงงานต่างด้าวนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มีแง่มุมที่หลายคนเป็นห่วง กรณีที่จะทำได้คืออาจเป็นลักษณะของเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ต้องยอมรับว่า ถ้าช่องว่างค่าจ้างต่างมากขึ้นยิ่งเป็นปัญหาว่า นายจ้างพยายามแสวงหาลูกจ้างแรงงานข้ามชาติเข้ามามากขึ้น ซึ่งต้องขึ้นค่าจ้างให้ เพียงแต่ต้องมีเหตุผลเป็นกรณีพิเศษ อย่างเช่นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และไม่กังวลว่าถ้าต่อไปในอนาคตภาคอุตสาหกรรมจะย้ายฐานการผลิตไปเพื่อนบ้าน เพราะในทางกลับกันเมื่อมีอุตสาหกรรมหนึ่งย้ายออกไป แต่มีบางอุตสาหกรรมย้ายเข้ามา ส่วนการใช้เครื่องจักรจำนวนมากขึ้นก็ไม่มีปัญหา เพราะช่วงนี้ที่ค่าเงินบาทถือว่าแข็งขึ้น แต่ยอมรับว่าถ้าสองเรื่องนี้เกิดขึ้นคนจะว่างงานหรือไม่ ฉะนั้นรัฐบาลจะต้องต้องดูการสร้างงานอย่างต่อเนื่องด้วย
รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ค่าจ้างขั้นต่ำควรปรับอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากการปรับปลายปีที่ผ่านมาได้ปรับขึ้นเพียงประมาณร้อยละ 5 ซึ่งเมื่อเทียบกับต้นทุนสินค้าทุกชนิดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นไม่ถึงร้อยละ 1 แต่ราคาสินค้าส่วนใหญ่จะปรับราคาขึ้นถึงร้อยละ 20 สะท้อนระบบเศรษฐกิจที่ไม่สมบูรณ์มีการผูกขาด รัฐบาลต้องแก้ไขไม่เช่นนั้นการปรับค่าจ้างไม่ว่าจะมากขึ้นเท่าใดก็ไม่เกิด ประโยชน์กับผู้ใช้แรงงาน ทั้งนี้ ต้องการให้เปรียบเทียบแรงงานเป็นปัจจัยการผลิตที่มีต้นทุนเหมือนต้นทุน ประเภทอื่น ซึ่งต้องได้รับผลตอบแทนอย่างน้อยร้อยละ 10
นายชิณโชติ แสงสังข์ ประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติปีนี้ กล่าวว่า ค่าจ้างควรปรับขึ้นเพราะส่งผลดีต่อผู้ใช้แรงงาน แต่ต้องมีการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้ขึ้นตามด้วย ปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำในไทยถือว่า แปลกที่สุดในโลกเพราะเป็นค่าจ้างที่ต่ำมาก แต่คนงานอยู่ได้เพราะทำงานล่วงเวลา ยืนยันว่าจากการตรวจสอบจากภาคเอกชนขนาดใหญ่คิดว่าการขึ้นค่าจ้างไม่ใช่ อุปสรรคในการผลิตของนายจ้าง
ด้านนายทวีกิจ จตุรเจริญกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสายแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมกำลังหวาดผวากับที่ภาครัฐไม่เห็นใจภาคอุตสาหกรรม เช่น กรณีนายกรัฐมนตรีระบุว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกร้อยละ 25 ในอีก 2 ปีแม้จะมีข้อแลกเปลี่ยนในการลดภาษีให้ แต่ต้นทุนดังกล่าวเป็นคนละส่วน เชื่อว่าหากเป็นจริง อุตสาหกรรมขนาดเล็กจะอยู่อย่างยากลำบากและอาจอยู่ไม่ได้