ม็อบแรงงานตะวันออกบุกกรุงหลังจนท.เมินแก้ปัญหาม็อบ 3 โรงงานในภาคตะวันออก เดินเท้าจากระยองเข้ากรุงเทพ หลังเจ้าหน้าที่ไม่ช่วยแก้ปัญหาพิพาทระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้าง07 .. 54 โพสต์ทูเดย์ นางสุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าปัญหาผู้ใช้แรงงานกว่า 1,000 คนที่อยู่ระหว่างการเดินเท้าจากจ.ระยอง เข้ามากรุงเทพ สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขในพื้นที่ ปัญหาสะสมและขยาย บานปลายซึ่งในเรื่องนี้เกิดขึ้นมากในพื้นที่อุตสาหกรรม โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออก ที่มีความรุนแรง ปัญหาพิพาทระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง ถูกปล่อยให้เป็นความขัดแย้ง บานปลาย กลไกการบริหารจัดการในพื้นที่ล้มเหลว เจ้าหน้าที่รัฐปล่อยปละละเลยไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบ แทรกแซงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม "สิ่งที่เห็นว่าเป็นการละเลย คือการที่บริษัทพีซีบี เซ็นเตอร์ จำกัด ปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงานในกลายม.ค.ที่ผ่านมา แต่กลับไม่มีการบังคับให้จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย จนเมื่อคนงานเข้าร่วมชุมนุม เจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานจึงได้มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินค่าชดเชย เพื่อหวังหยุดยั้งไม่ให้คนงานชุมนุม ถือเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการละเลย ที่ส่งผลเสียหายต่อลูกจ้าง"นางสุนีกล่าว ทั้งนี้กลุ่มคนงานที่เดินเท้าเข้ากทม.เป็นกลุ่มคนงาน 3 บริษัท เช่นบริษัทแม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่นิคมอุตสาหกรรมอิสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง นายจ้างใช้สิทธิปิดงาน เนื่องจากการเจรจาข้อเรียกร้องไม่ยุติ คนงานบริษัท พีซีบี เซ็นเตอร์ ในเครือสหพัฒน์ เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย โดยอ้างเหตุไฟไหม้โรงงาน ที่เริ่มเดินทางเข้ากรุงเทพตั้งแต่วันที่ 1 กพ.ที่ผ่านโดยมีคนงานทั้งชาย หญิง และลูกของคนงาน รวมถึงหญิงที่ตั้งครรภ์ ร่วมเดินทาง (หญิงตั้งครรภ์ นั่งรถ) เพื่อให้มีการแก้ปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ที่เป็นรูปธรรมโดยเรียกร้องต่อ รัฐบาล กระทรวงแรงงานและบีโอไอ บริษัทพีซีบี เซ็นเตอร์ ผลิตแผงวงจรอิเลคทรอนิกส์ ส่งให้ต่างประเทศ มีพนักงาน 500 คน เมื่อ 23 มิย. 53 ได้เกิดเพลิงไหม้ในส่วนที่เป็นสายการผลิตหลัก โดยที่ผ่านมาได้มีการให้พนักงานหยุดงานชั่วคราว โดยใช้มาตรา 75 พรบ.แรงงานสัมพันธ์ โดยจ่ายเงินทดแทนในอัตราร้อย75 และสื่อสารให้คนงานวางใจว่าจะมีการปรับปรุงโรงงานเพื่อให้กลับเข้ามาทำงาน ได้อีก แต่ท้ายสุดได้มีการแจ้งปิดกิจการและเลิกจ้างในกลางมค.ที่ผ่านมา โดยแจ้งว่ามีเงิน 6.5 ล้านบาท ที่จะต้องแบ่งเป็นค่าชดเชยให้กับคนงานทั้งหมด ที่จะไม่ได้ค่าชดเชย ตามอายุงานที่กำหนดตามกฎหมาย ทั้งนี้ค่าชดเชยรวมทั้งสิ้นประมาณ 40 ล้านบาท ไม่รวมค่าจ้างค้างจ่ายและวันหยุดพักร้อนที่พนักงานไม่ได้ใช้สิทธิ นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่าคนงานในภาคตะวันออก ไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ได้แล้ว เพราะไม่มีใครช่วยเหลือให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ ทั้งนี้ที่ผ่านมาคนงานยื่นหนังสือร้องเรียนถึงทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นรม ว.แรงงาน คณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร รวมถึงนายกรัฐมนตรี ในเวทีสมัชชาแรงงาน ทุกคนจึงพากันเดินเท้าปรับเปลี่ยนวิธีการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานในมุมมองใหม่ เพื่อบอกให้สังคมได้รับรู้สภาพคนงานที่เดือดร้อนจากการจ้างงานที่ไม่เป็น ธรรม จากการละเมิดสิทธิต่างๆที่นายจ้างกระทำต่อลูกจ้าง คนงานที่มีครอบครัวต่างจูงมือพากันเดินเท้าชี้แจงต่อสาธารณะชน นายชัยรัตน์ บุษรา ประธานสหภาพแรงงานแม็กซิส ประเทศไทย กล่าวว่าการเจรจาข้อเรียกร้องในระยะแรกจบลงด้วยดี โดยบริษัทตกลงในการแก้ไขสภาพการจ้างเรื่องโบนัส เงินปรับประจำปี แต่ขณะนั้นยังไม่มีการลงนามในข้อตกลง ที่ต่อมานายจ้างได้เสนอข้อเรียกร้องต่อสหภาพ แต่การเจรจาไม่สามารถหาข้อยุติได้ โดยสหภาพฯเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อลูกจ้างอย่างมาก เช่นเปลี่ยนเวลาทำงานจากเดิม 2 กะ เป็น 3 กะ ที่ส่งผลกระทบต่อเบี้ยการผลิต ซึ่งคนงานกินเดือนต่ำเพียงกว่า 6000 บาท ที่ต่ำมากกับค่าใช้จ่ายในการครองชีพ ที่อยู่ได้เนื่องจากการทำโอ.ที. รวมถึงตัดลดเงินช่วยเหลือค่าเช่าบ้านจากเดิม 800 บาท เหลือ 600 บาท ตัดลดรถรับส่งพนักงาน นายชัยรัตน์ กล่าวว่าการเจรจากว่า 10 ครั้ง ไม่ยุติ ซึ่งในเรื่องนี้พวกเราอยากให้การเจรจาที่มีบรรยากาศที่ดี ยุติการใช้สิทธิปิดงาน เพื่อให้พนักงานกลับเข้าทำงาน ไม่ใช่ปล่อยให้พวกเราอยู่นอกโรงงานและจ้างพนักงานเหมาค่าแรงและแรงงาน ต่างด้าวเข้ามาทำงานแทน |