15 ปีคดีฝุ่นฝ้าย ศาลฎีกาพิพากษายืน ให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายคนงาน10 .. 53 ประชาไท ศาลฎีกาพิพากษายืนชดเชยค่าเสียหายให้อดีตคนงานที่เจ็บป่วยจากฝุ่นฝ้ายรายละ 6 หมื่นถึง 1 แสนบาทต่อราย หลังสู้คดีมาราธอน สมบุญ สีคำดอกแค ระบุแม้จะเงินที่ชดเชยที่ได้จะไม่ครอบคลุมความเสียหายทั้งหมด แต่จะเป็นคดีตัวอย่างของผู้ใช้แรงงานคนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานให้ลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง สืบเนื่องจากคดีที่นางสมบุญ สีคำดอกแค ร่วมกับผู้เสียหายอีก 37 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัทโรงงานทอผ้ากรุงเทพ กรณีที่ลูกจ้างได้รับฝุ่นฝ้ายจากการทำงานจนเป็นโรคบิสซิโน ซิส หรือโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย ตั้งแต่ปี 2538 โดยเรียกค่าเสียหายรายละ 1-2 ล้านบาท ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 50 ศาลได้วินิจฉัยตัดสินให้จำเลยชดเชยค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 6 หมื่นถึง 1 แสนบาทต่อราย และต่อมา จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลแรงงานกลางต่อศาลฎีกา วันนี้ (8 พ.ย.) ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าโจทก์แต่ละคนใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่ได้เป็นโรคบิสซิโนซิสทุกคน ผ้าปิดจมูกและปากที่จำเลยจัดให้ได้มาตรฐานแล้วและจำเลยมิได้ฝ่าฝืนกฎหมาย เรื่องความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับภาวะแวดล้อม ฯลฯ นั้น เป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 และวินิจฉัยว่า แม้ฝุ่นฝ้ายซึ่งเป็นวัตถุอันตรายและเป็นมลพิษจะรั่วไหลหรือแพร่กระจายภายใน โรงงานของจำเลย ไม่จำต้องรั่วไหลหรือแพร่กระจายออกไปนอกโรงงาน ก็ถือว่าเป็นการแพร่กระจายของมลพิษตามบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว จำเลยเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโรงงานซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษจึงมี หน้าที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 96 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน สำหรับคดีนี้ ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ รายละ 60,000-110,000 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,670,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (9 พ.ค. 2538) จนกว่าจะชำระเสร็จ นางสมบุญ สีคำดอกแค อดีตคนงานบริษัทโรงงานทอผ้ากรุงเทพ ในฐานะโจทก์ที่ 1 กล่าวแสดงความดีใจที่มีการพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และว่า แม้จำนวนเงินที่จะได้รับจะไม่สามารถชดเชยความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด แต่ก็ดีใจที่คดีนี้จะเป็นคดีตัวอย่างของผู้ใช้แรงงานคนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานให้ลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง ทั้งนี้ นางสมบุญ เสนอด้วยว่า ในการสืบคดีของคนงานที่เป็นโรคจากการทำงาน ควรมีผู้เชี่ยวชาญพิเศษเรื่องสารเคมีและสารพิษโดยเฉพาะ เพื่อทำให้กระบวนการสืบเป็นไปด้วยความรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังเสนอให้สืบคดีประเภทนี้แยกจากคดีแรงงานปกติอย่างการลาออกหรือเลิกจ้าง เพราะเรื่องความเจ็บป่วยเป็นเรื่องความเป็นความตาย จึงควรมีกระบวนการที่รวดเร็ว เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมเร็วขึ้น พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล แพทย์ประจำโรงพยาบาลราชวิถี ในฐานะแพทย์ผู้วินิจฉัยโรคของคนงานกลุ่มนี้ กล่าวยืนยันในผลการวินิจฉัยโรคของคนงานและชื่นชมที่ศาลแรงงานรับฟังข้อเท็จ จริงทางการแพทย์อย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้ มองว่า คำพิพากษาคดีนี้จะเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ทำให้คนที่ถูกละเมิดเห็นว่าหากเอาข้อเท็จจริงเข้ามาต่อสู้ในศาลก็จะสามารถ ยุติความไม่เป็นธรรมได้ นายบุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก กล่าวว่า แม้จะใช้เวลายาวนานถึง 15 ปี แต่อย่างน้อยคำพิพากษานี้ก็ทำให้เห็นว่า มีคนที่ไม่ยอมจำนนกับอุปสรรคหรือปัญหาที่เข้ามาบั่นทอน ทั้งนี้ มองว่า การรวมตัวกันเป็นสภาเครือข่ายผู้ป่วยฯ ของคนงานกลุ่มนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้การต่อสู้ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ เขาระบุว่า ปัจจุบัน คนงานที่ป่วยด้วยโรคจากการทำงานมีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะคนงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ พออายุงานถึงปีที่ 5 ก็เริ่มเป็นโรคเกี่ยวกับหมองรองกระดูก หรือกล้ามเนื้อ เพราะต้องทำงานในท่าทางเดียวและจังหวะเดียวกันเป็นเวลานาน และทำงานกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่ค่าชดเชยที่ได้จากกองทุนเงินทดแทนนั้นไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิด ขึ้นจริง โดยเขาเสนอว่า นอกจากค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทนแล้ว ควรมีกระบวนการทางแพ่งให้คนงานสามารถฟ้องร้องต่อนายจ้างได้โดยปรับให้ค่าใช้ จ่ายในการดำเนินคดีน้อยลง มีกระบวนการที่รวบรัด รวดเร็วขึ้น สำหรับบรรยากาศในการรับฟังคำพิพากษาในวันนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเป็นไปด้วยความคึกคักโดยนอกจากอดีตคนงานกว่า 30 คนที่มารับฟังคำพิพากษาในฐานะโจทก์แล้ว ยังมีแพทย์ผู้วินิจฉัยโรค ผู้นำแรงงาน นักกิจกรรมและสื่อมวลชน ให้ความสนใจเข้ารับฟังคำพิพากษาจำนวนมาก |