Thai / English

ค่าแรงขั้นต่ำ250บาท 'ประชานิยม' ประชาธิปัตย์



17 .. 53
ไทยรัฐ

หลังจากมีรายงานว่าที่ประชุมคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำในเขต กทม. มีข้อสรุปว่าจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นอีก 7 บาท จาก 206 บาทต่อวัน เป็น 213 บาทต่อวัน ตามภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น โดยระบุว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นที่พอใจของทั้งตัวแทนฝ่ายนางจ้างและลูกจ้าง

ทว่าพลันที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เอ่ยถึงตัวเลข 250 บาทต่อวัน ได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย โดยเฉพาะความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น

ไทยรัฐออนไลน์ ได้สอบถามไปยังนายปัณณพงศ์ อิทธิ์อรรถนนท์​ เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการค่าจ้างกลางฝ่ายนายจ้าง ถึงกรณีนี้ โดยนายปัณณพงศ์ เห็นว่าเป็นเพียงแนวคิดของนายกฯ เท่านั้น เพราะผู้ที่มีอำนาจในการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ คือ คณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนลูกจ้าง ตัวแทนนายจ้าง และภาครัฐ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราค่าจ้างสำหรับแรงงานที่ไร้ฝีมือเดินเข้าสู่ตลาดแรงงานวันนี้ หากนายกฯ ต้องการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจริงนายกฯ จะใช้อำนาจในข้อใดมาปรับ

"ในเมื่อเป็นอำนาจของคณะกรรมการ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็คงต้องไปแก้กฎหมายคุ้มครองกระมัง ว่าต่อไปนี้นายกฯ อยากจะให้ขึ้นเท่าไหร่ก็ให้เป็นไปตามมติ ครม.เลย ผมไม่ได้ปฏิเสธที่ลูกจ้างที่ร้องมา ส่วนที่จะขึ้นได้เท่าไหร่นั้น ในคณะกรรมการไตรภาคีก็มีตัวแทนของลูกจ้างอยู่แล้ว ก็ต้องมานั่งพูดคุยกัน แต่ถ้าหากว่ามติที่ประชุมมองแล้วด้วยองค์ประกอบทั้งหลายทั้งปวงว่ามันควรจะถึง 250 บาทมันก็ใช่" นายปัณณพงศ์ให้ความเห็นอย่างดุเดือด

เลขาธิการสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าไทย กล่าวต่อว่า ขณะนี้คณะกรรมการค่าจ้างเองได้ดำเนินการเรื่องอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน เช่น ช่างไฟฟ้าระดับ 1 ได้เท่านี้ ระดับ 2 ได้เท่านี้ ระดับ 3 ได้เท่านี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุกรรมการ เชื่อว่าพิจารณาเสร็จแล้วกว่า 90% คาดว่าจะสามารถใช้ได้ประมาณต้นปี 2554 ในบางสาขาอาชีพ แต่มาตรการดังกล่าวทางคณะกรรมการต้องพิจารณาอีกครั้งว่าหากมีการประกาศใช้แล้วจะเป็นผลดีหรือผลเสียต่อลูกจ้าง เช่น มีคนถือกระดาษรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานเข้ามาในอุตสาหกรรมเย็บผ้า ซึ่งเย็บจักรได้ขนาดนี้ ต้องการค่าแรง 500 บาท แต่อีกคนเดินข้ามาไม่มีใบรับรอง แต่เย็บผ้าได้พอกับคนที่ถือใบรับรอง แต่ต้องการค่าจ้างเพียง 250 บาท ถามว่านายจ้างจะจ้างใคร ก็ต้องจ้างคนที่ค่าแรง 250 บาท หรืออีกตัวอย่าง มีช่างเชื่อมอายุ 25 ปี ฝีมือเชื่อมตรงได้เกรดเอ แต่พออายุ 35 ปี มือเริ่มสั่น ตาเริ่มสั้น ฝีมือเชื่อมไม่ตรงเหมือนเดิม ช่างเชื่อมคนเดิมจะต้องลดหรือต้องเพิ่ม เพราะแม้งานจะไม่ดีแต่อายุงานมากขึ้น ซึ่งอันนี้คือตัวปัญหาที่คณะกรรมการกำลังคิดว่าหากเป็นเช่นนั้นจะใช้มาตรฐานแบบไหนอย่างไร

"คนที่จะตรวจสอบมาตรฐานฝีมือจริงๆ คือ กรมมาตรฐานฝีมือแรงงาน ก็ต้องถามกลับอีกว่ากรมพัฒนาฝีมือแรงงานทำทันหรือเปล่า และภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดยอมรับแล้วหรือยัง อันนี้ก็เป็นประเด็นที่เราคิดถึงปัญหาที่มันจะเกิด หากคณะกรรมการค่าจ้างต้องการผลงาน ประกาศวันนี้พรุ่งนี้ก็ได้ เพราะกฎหมายก็แก้จบหมดแล้ว หลายแขนงอาชีพก็พิจารณาเสร็จแล้ว แต่หากเราประกาศใช้ออกไปแล้วเกิดปัญหากลับมาก็ไม่คุ้มกัน เพราะฉะนั้นอะไรที่มันเป็นเรื่องใหม่ช้านิดนึงแล้วหาทางที่ออกไปแล้วเนี่ยมันสมประสงค์กันทั้ง 2 ฝ่ายคือนายจ้างและลูกจ้าง"

นายปัณณพงศ์ กล่าวอีกว่า ยังมีสิ่งที่ตนอยากให้เกิดแต่ไม่มีคนพูดถึง คือ การทำโครงสร้างค่าจ้างของเอกชน เช่น โรงงาน ก. และโรงงาน ข. เป็นโรงงานแบบเดียวกันมีขนาดเท่ากัน แต่โรงงาน ก.มีการปรับขึ้นค่าจ้างปีละ 5% แต่โรงงาน ข. มีการปรับขึ้นค่าจ้างปีละ 10% ลูกจ้างก็จะมีสิทธิ์เลือกว่าอยากทำงานกับโรงงานใด เชื่อว่าจุดนี้น่าจะเป็นมาตรฐานสำหรับแรงงานจริงๆ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คณะกรรมการมองอยู่ทุกวันนี้คือ ลูกจ้างอยากได้ค่าแรงแบบก้าวกระโดด แต่ถามว่าแรงงานไทยมีการพัฒนาฝีมือแบบก้าวกระโดดหรือไม่

เลขาธิการสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าไทย กล่าวว่า ตนในฐานะคณะกรรมการค่าจ้างยังยืนยันว่าการปรับค่าจ้างให้เท่ากันที่ 250 บาททั่วประเทศ เป็นไปไม่ได้ และก็ไม่สามารถบอกได้ว่าการปรับค่าจ้างสูงสุดเท่ากันทั่วประเทศจะอยู่ที่เท่าไร เนื่องจากการปรับอัตราค่าจ้างนั้นแต่ละจังหวัดจะมีกรรมการค่าจ้างจังหวัดเป็นผู้พิจารณา โดยมีผู้ว่านั่งเป็นประธานอนุกรรมการโดยตำแหน่ง เพราะฉะนั้น คณะกรรมการค่าจ้างกลางก็ต้องฟังอนุกรรมการจังหวัดเหมือนกันว่า พร้อมที่จะรับและจ่ายกันที่เท่าไร เพราะคณะกรรมการได้กระจายอำนาจให้ไปแล้วจึงไม่ควรขีดเส้นให้เดินว่าต้อง 250 บาทนะ อย่างไรก็ตาม แม้ตนจะเป็นคณะกรรมการฝ่ายนายจ้าง แต่ก็ไม่ได้เข้าข้างนายจ้างตลอด ตนได้บอกกับนายจ้างทั่วไปว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่สถานประกอบการทั้งหลายต้องมีคุณธรรม พอสิ้นปีก็ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างเลยไม่ต้องรอฟังว่าคณะกรรมการค่าจ้างจะขึ้นค่าจ้างกี่บาท ซึ่งทุกวันนี้ไม่เป็นอย่างนั้นสถานประกอบการส่วนหนึ่งคอยฟังว่ากรรมการค่าจ้างจะขึ้นค่าแรงกี่บาทแล้วก็มาปรับให้แรงงานแค่นั้น

"ผู้นำแรงงานที่ไปบอกว่าต้องการ 250 บาทนะต้องขึ้น 250 บาทนะ ผมไม่ทราบว่าอนุกรรมการจังหวัดจะพอใจหรือเห็นด้วยหรือไม่แนวทางนี้ ผมว่าคนที่เสนออย่างนี้น่าจะเสนอไปกับอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ว่าเออมีแนวคิดว่าจะให้ขึ้น 250 บาท อนุกรรมการจังหวัดว่าอย่างไร ให้ประชุมกันในจังหวัด แต่ข้อเสนอของสมานฉันท์แรงงานไทย ทางคณะกรรมการค่าจ้างกลางเอง ก็ได้ยื่นไปให้อนุกรรมการจังหวัดดูเช่นกัน ผมไม่อยากจะเห็นว่าการปรับอัตราค่าจ้างนี้ เป็นเรื่องทางการเมือง เพราะจะไม่ส่งผลดีต่อทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ในทางตรงกันข้ามมันอาจจะเป็นดาบ 2 คม ที่กลับคืนขึ้นมาทำลูกจ้างไทยตกงานก็ได้ ในอนาคตเพราะแรงงานต่างด้าวจ้องมาทำงานสวมอยู่ " นายปัณณพงศ์ กล่าว

นายปัณณพงศ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ตนอยากเห็นจริงๆน่าจะเป็นเรื่องของโครงสร้างการปรับอัตราค่าจ้างมากกว่า ที่จะนั่งเถียงกันว่าปีนี้จะปรับเท่าไหร่ ปีหน้าจะปรับเท่าไหร่ และอีกเรื่องที่ไม่สบายใจและพูดมาหลายครั้งแล้วคือ การขึ้นเงินเดือนข้าราชการทำไมคณะรัฐมนตรีหรือนายกฯจะต้องมาประกาศให้เป็นข่าว ซึ่งพอเป็นข่าวแล้วการปรับขึ้นเงินเดือนก็ไม่ได้ปรับเลย แต่กว่าจะปรับก็เม.ย.ปี2554 แต่ราคาสินค้าไปข้างหน้าแล้ว ซึ่งหากรัฐบอกมีกรมการค้าภายในควบคุมอยู่ แต่จริงๆพอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเดินตรวจตลาดสดและเป็นข่าว แม่ค้าพ่อค้าก็นำราคาตามเกณฑ์มาตั้ง แต่พอผู้ตรวจกลับก็นำออก นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่เป็นจริงในสังคม ที่เราจะร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างไร ตรงนี้เป็นปัญหา

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการสมานฉันท์ออกมาบอกว่าค่าใช้จ่ายของแรงงานอยู่ประมาณ วันละ 360-400 บาท เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น หากมีการทานข้าวนอกบ้านทั้งกลางวันและเย็นแต่คิดกลับหรือไม่ หากสามีกลับถึงบ้านก่อนสามีเก็บข้าวเดี๋ยวภรรยาหิ้วแกงมา นั่งกินกันพร้อมที่บ้าน ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเคยเอาเข้ามาจับหรือไม่ เพราะฉะนั้นตัวเองก็ยังเฟ้อไปตามสังคมหลงใหลไปในวัตถุ ซึ่งผู้ใช้แรงงานบางคนพกโทรศัพท์มือถือแพงกว่าตนอีก ตนขอถามว่ามีความจำเป็นหรือไม่ ค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เวลาไปทานข้าวน้ำเปล่าก็ทานได้ทำไมต้องเป็นน้ำอัดลม ถ้าเอาตรงนั้นมาใส่เข้าจริงๆเนี่ยตนว่าสิ่งฟุ่มเฟือยมากกว่าส่ิงจำเป็นที่ดำรงชีพอยู่นะ

ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า สมานฉันท์แรงงานไทยยืนยันตามแนวคิดนายกรัฐมนตรี คือ การปรับค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศที่ 250 บาท ในครั้งเดียว เพราะที่ผ่านมาการปรับค่าจ้างเกิดความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมกันมาตลอด ใน 4-5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าพี่น้องต่างจังหวัดไม่ได้ปรับค่าจ้างเลย ซึ่งข้อเสนอดังกล่าว หากคนงานที่มีฝีมือและมีอายุงาน 1 ปี ควรจะได้ตามค่าจ้างขั้นต่ำ แต่หากมากกว่า 1 ปี ก็ควรดูในเรื่องของโครงสร้างค่าจ้างเงินเดือน แต่หลักๆ ตอนนี้ สมานฉันท์แรงงานไทยยังยึดตามแนวคิดของเรา เพราะจากการศึกษาข้อมูลค่าใช้จ่ายของคนงานที่จะอยู่ได้ประมาณ 360 บาทต่อวัน ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำทุกวันนี้ในเขต กทม.และปริมณฑล คือ 206 บาทต่อวัน แต่ที่แรงงานยังอยู่ได้เพราะทำโอที อย่างน้อยวันละ 3-4 ชั่วโมง ถึงจะอยู่ได้

"ถ้าไม่มีโอทีจะอยู่ไม่ได้นะ ส่วนคนที่ไม่มีโอทีก็ต้องไปหารายได้พิเศษ ไม่ว่าจะขายเครื่องสำอางหรือหารายได้พิเศษอย่างอื่นทำกัน 250 อยู่ได้อย่างไร ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าส่งให้ลูกที่บ้าน ค่าส่งพ่อแม่ จิปาถะ คิดง่ายๆ แค่ค่าน้ำ ค่าไฟ เดือนนึงอย่างต่ำเท่าไหร่แล้ว 1,600 บาทถูกสุด เดือนนึง ไหนจะค่ารถ ค่าอยู่ค่ากินแต่ละวัน อันนี้จะเห็นค่าใช้จ่ายจิปาถะที่เกิดขึ้นกับคนงานกับอาหารการกินที่อยู่ได้ ถ้า 250 จะไม่มีเงินเก็บเงินออมเลย ค่าของใช้อุปโภคบริโภคต่างๆ ไหนจะค่านมลูกอีกหล่ะ นมกระป๋องละเท่าไหร่ อันนี้จะเห็นชัด"

ต่อข้อถามที่ว่า หากนายจ้างไม่รับข้อเสนอค่าจ้างขั้นต่ำ 250 บาท จะทำอย่างไร น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า อย่าลืมว่าสถานการณ์ขณะนี้อุตสาหกรรมหลายอุตสาหกรรม ปรับค่าจ้างตามฝีมือมากกว่า 300 ก็มี มากกว่า 250 ก็มี ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านั้นจะไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างในครั้งนี้ แต่หากพูดเรื่องผลกระทบก็มีแต่ต้องดูว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน ถ้าดูตัวเลขสำนักงานประกันสังคม ตนมองว่าที่ผ่านมาบริษัทเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของสวัสดิการและการปรับค่าจ้างให้ลูกจ้างเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม จึงทำให้ฐานค่าจ้างห่างกันมาก และพอมีการเรียกร้องค่าจ้างสูงๆ จึงทำให้นายจ้างมีความรู้สึกว่าอยู่ไม่ได้ จริงๆ แล้วลูกจ้างต้องทนมาโดยตลอด ที่จะต้องเป็นคนที่ต้องทำงานหนักทำโอที

ไม่ว่าสุดท้ายแล้วแรงงานขั้นต่ำ 250 บาทต่อวัน จะเป็นจริงได้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ นายกฯ อภิสิทธิ์ คงได้ใจจากบรรดาลูกจ้างแรงงานไปเต็มๆ ซึ่งคงไม่ผิดหากจะบอกว่า นี่คือ "ประชานิยม" อีกแบบของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์.