กก.ปฎิรูป ลั่นขึ้นค่าแรง 250 บาทไม่มากเกินไป จ้างต่างด้าวถูกแต่ห่วย เผยชีวิต"ลูกจ้าง"สุดลำเค็ญ08 .. 53 เครือมติชน กก.ปฎิรูป ลั่นขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 250 บาท/วันไม่มากเกินไป จ้างต่างด้าวถูกจริงแต่คุณภาพห่วย "ลูกจ้าง" โอดรับ206 บาท/วันสุดลำเค็ญ ไร้สวัสดิการ ต้องกู้ยืมมาประคองชีวิต จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) อันประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมฯ เห็นด้วยกับแนวคิดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 250 บาทต่อวัน อัตราเดียวกันทั่วประเทศ จากปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล 6 จังหวัดอยู่ที่ 206 บาทต่อวัน ข้อเสนอดังกล่าว คณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคี จะเป็นผู้ตัดสิน ท่ามกลางฝ่ายที่เห็นด้วยและคัดค้าน นั้น
เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ กรรมการปฎิรูปและสมัชชาปฎิรูป อาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬา เปิดเผยมติชนออนไลน์ว่า เป็นเรื่องที่สมควรแล้ว ที่จะมีการขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำให้กับกลุ่มลูกจ้าง เพราะก่อนหน้านี้ คนงานไม่เคยได้รับค่าจ้างขั้นต่ำตามภาระค่าครองชีพ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ว่าเหมาะสม หรือไม่นั้น ตามความเห็นตนมีเงื่อนไขหลักๆ อยู่ 4 ข้อ ดังนี้
1. พิจารณาตามสถานการณ์ครองชีพ พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ค่าจ้างขั้นต่ำไม่เป็นไปตามภาระครองชีพ หากเอาค่าครองชีพย้อนหลังของปีที่ผ่านมา ไปกำหนดค่าครองชีพในปีถัดไป มาเป็นเงื่อนไขในการเพิ่มค่าจ้างมันย่อมเพิ่มมากขึ้นอยู่แล้ว 2. ความสามารถของนายจ้าง ในตลาดแรงงาน มีนายจ้างอยู่หลายประเภท ถ้าปรับค่าจ้างขึ้น อาจมีทั้งนายจ้างที่ สามารถรับภาระในการจ่ายค่าแรงงานที่มากขึ้น กับนายจ้างบางประเภทที่ไม่สามารถแบกรับรายจ่ายได้ โดยเฉพาะพวกกลุ่มเอสเอ็มอี ดังนั้นหากมีการพิจารณาการขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ จะเอาแต่เฉพาะนายจ้างที่ไม่สามารถแบกรับภาระได้มาเป็นตัวตั้งอย่างเดียวไม่ได้ แต่ให้เอาค่าเฉลี่ยของนายจ้างที่รับได้ กับรับไม่ได้มาเฉลี่ยกัน ดังนั้น ทางแก้ของนายจ้างที่บ่นว่าไม่สามารถแบกรับรายจ่ายแรงงานที่เพิ่มขึ้นได้ ทางรัฐบาลเอง หรือสมาคมอุตสาหกรรมฯ ต้องเร่งรัดยกระดับฝีมือแรงงานให้มีประสิทธิภาพขึ้นมาด้วย ถึงจะสามารถชดเชยกันได้ ในเรื่องของกำลังการผลิตและเพื่อให้ได้สินค้ามาคุณภาพ 3.ความจำเป็นในระบบเศรษฐกิจมหภาค ต้องการกำลังซื้อ แต่ตลาดภายในกลับมีแรงงานน้อย ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญภาวะการจำกัดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ร่ำรวย อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมัน อังกฤษ ญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งพยายามรัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะการจำกัดสินค้านำเข้า ดังนั้นประเทศที่ทำการส่งออกสินค้าหลักๆ อย่างจีน หรือ ไทย ก็ได้รับผลกระทบ ซึ่งตนมองว่า ไทยต้องควรคิดหันมาพึ่งกำลังผลิตภายในประเทศ ต้องเพิ่มค่าจ้างขยายตลาดซื้อภายในประเทศ
4.เปรียบเทียบค่าจ้างกับต่างประเทศ ถ้าเทียบประเทศอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ใกล้เคียงกับไทยอย่าง ไต้หวัน มาเลย์ สิงคโปร์ เกาหลี จะพบว่า ค่าจ้างแรงงานของประเทศเหล่านี้สูงกว่าประเทศไทยหลายเท่า แล้วทำไมเขาถึงแข่งขันกับเราได้โดยไม่ขาดทุน ก็ต้องยอมรับว่า ความผิดพลาดของไทยเกิดจากนายจ้างและตลาด ที่มองว่า ถ้ามุ่งแต่ส่งออกจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับตัวผลิตภัณฑ์เท่านั้น ต้องมองว่า เราเป็นประเทศอุตสาหกรรม เราไม่สามารถยืนอยู่ได้โดยไม่ซื้อของ ทุกอย่างเป็นสินค้าหมด
ดังนั้นรายได้ก็มีความจำเป็น อยากให้มองว่า ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง มีความสำคัญเท่ากัน นายจ้างใช้เงิน ลูกจ้างใช้แรง จนให้ตั้งคำถามไปว่า ทำไมรายได้ของคนไทยถึงมีความต่างกันถึง 15 เท่า คำถามง่ายๆ เราเป็นประเทศอุตสาหกรรมขนาดกลาง ถ้านำสินค้าไปแข่งในระดับโลกก็ต้องมีคุณภาพ ไม่ใช่มุ่งหวังที่จะขายแต่ราคาถูกๆ เหมือนที่จีนทำ ซึ่งถ้าไทยเราจ้างแรงงานต่างด้าวมากเกินไป ฝีมือสินค้าของเราก็สู้เขาไม่ได้ เราคิดแต่จะขายสินค้าราคาถูก ถามว่า อยู่ได้ไหม ประเทศใกล้เคียงเขาเล่นตลาดกลางไปหมดแล้ว
ลั่น 250 บาทต่อวัน ไม่ได้มากมายอะไร
ส่วนที่ว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อาจส่งผลให้กลุ่มคนที่มีรายได้สูงกว่า ได้อานิสงค์ จากการปรับค่าแรงงานนั้น ดร.ณรงค์ มองว่า กลุ่มคนที่ทำงานราชการได้เพิ่มเงินเดือนก่อนลูกจ้างทุกปี ทั้งๆที่ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน ทำงาน 6 วัน ต่อสัปดาห์ และต้องทำโอทีเพิ่มขึ้นถึงจะได้รับเงินเท่ากับคนที่ทำงานราชการในระดับล่างสุด ที่ทำงาน 5 วัน ต่อสัปดาห์ จะเห็นได้ว่า 1 ปาก 1 ท้องเท่ากัน คนใช้แรงงานสร้างผลผลิตที่เพิ่มมุลค่าให้กับสินค้ามากกว่า เป็นรายได้หลักของประเทศ แต่ทำไมรายได้น้อยกว่า กลุ่มข้าราชการที่เงินเดือนมากจากภาษี ดังนั้น ณ วันนี้ ต้องคิดถึงตลาดภายในให้มาก ค่าจ้างเป็นแกนกลางตลาดภายใน จะพึ่งการส่งออกอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต่อไปตลาดมันต้องเปลี่ยนแปลง ตอนนี้ตลาดสินค้าในอาเซียนก็มาเป็นอันดับหนึ่ง "มองในแง่การกระจายรายได้ จะเห็นว่า การกระจายรายได้อุตสาหกรรมคิดเป็น 90% ของจีดีพีในประเทศ มูลค่าส่งออก 89 % ถามกลับว่า การส่งออกเป็นจีดีพีหลัก การส่งออกเยอะ แล้วส่วนแบ่งอยู่ไหน เพราะส่วนแบ่งไม่เป็นธรรมไง การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 250 บาท ต่อวัน ไม่ได้เพิ่มอะไรมากเลย แต่กลับเป็นสิ่งที่ชดเชยคนใช้แรงงานที่เขาถูกเอาเปรียบมาตลอด ดูเหมือนตัวเงินเพิ่มขึ้นจริง แต่รายได้พวกเขาไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย" ดร.ณรงค์ กล่าว
" ถ้าอย่างนั้นต้องถามกลับว่า เพิ่มค่าแรงเช่นนี้ นายจ้างยอมรับได้ไหม สมาคมใหญ่ๆ ยอมรับได้ไหม ถ้าจะดึงคนไทยที่มีฝีมือให้ยังคงอยู่ในตลาดแรงงานของเราไม่ใช่ไปทำงานในต่างประเทศที่ให้ค่าแรงมากกว่า แทนที่การจ้างแรงงานต่างด้าวฝีมือต่ำมาทำงานด้วยราคาที่ถูก แต่ไม่ได้ประสิทธิภาพ เป็นเรื่องที่ทางรัฐบาล หน่วยงานราชการ สมาคมด้านอุตสาหกรรมต้องพยายามที่จะจัดการมากกว่านี้ ไม่ใช่ทำเป็นไม่สนใจ " ดร. ณรงค์ กล่าว
ค่าครองชีพแต่ละท้องถิ่นไม่เท่ากัน
ขณะที่นายธรรมรักษ์ การพิศิษฎ์ กรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) ให้ความเห็นว่า การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำจาก 206 บาท ต่อวัน เป็น 250 บาท นั้น ต้องมีการตกลงกันหลายๆ ฝ่าย ตามหลักการแล้ว อัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้นไม่จำเป็นต้องเท่ากันทั้งหมด เนื่องจากต้องดูปัจจัยว่า พื้นที่การจ้างงานแต่ละแห่งค่าครองชีพมีไม่เท่ากัน แล้วแต่ค่าครองชีพแต่ละท้องถิ่น ไม่ใช่กำหนดจากส่วนกลาง
ทั้งนี้ ปรัชญาค่าจ้างขึ้นต่ำ ก็คือค่าครองชีพ ไม่เกี่ยวกับค่าจ้างที่สอดคล้องกับการผลิต รวมกับชีวิตความเป็นอยู่ ดัชนีผู้บริโภคไม่เหมือนกันทั่วประเทศ แต่ปัญหามันต้องมองที่ว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น อาจถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการผลักดันรายได้ให้กับคนที่มีรายได้สูงอยู่แล้วให้เพิ่มสูงขึ้นไปอีก เสมือนเป็นลูกระนาดที่ตีขึ้นไปเรื่อยๆ ตรงนี้ต้องระวังอย่าให้เกิดผลกระทบ ไม่เช่นนั้นปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง เรียกว่าแก้ไม่ถูกทาง แก้จากบนมาล่าง หากจะมีการขึ้นค่าจ้างแรงงานจริง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดูว่า คนงานที่ได้ประโยชน์ เสียประโยชน์มีเท่าไหร่
นายธรรมรักษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องสะท้อนค่าครองชีพจริงๆ การขึ้นเงินค่าจ้างควรให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทำอย่างไรให้ผู้ที่เดือดร้อนมีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในแต่ละวันที่เขาแบกรับเอาไว้ รวมถึงต้องถามความคิดเห็นของผู้ที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างด้วย อย่างไรก็ตาม ตนมองว่า ในปัจจุบัน เศรษฐกิจยิ่งโตขึ้น พวกเศรษฐีก็ยิ่งโต รัฐบาลมัวแต่ไปทำอะไรก็ไม่รู้ คนจนได้น้อย คนรวยได้มาก สิ่งที่เป็นข้อแนะนำคือ รัฐบาลต้องแก้ปัญหาที่ความเสมอภาคให้เป็นวาระแห่งชาติ ไม่ว่าจะทั้งด้าน การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ถึงจะเกิดเป็นความสมานฉันท์ได้ ไม่ใช่มัวจ้องแต่จะฆ่ากันอย่างปัจจุบัน เพราะตอนนี้ประเทศไทยก็เหมือนอยู่ไปวันๆ แล้วเราก็มัวแต่หลงประเด็นจนลืมความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นไป
ส่วนที่ว่า หากแนวโน้มการขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำนั้น จะเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้ผลิตและขายสินค้าอุปโภค บริโภคฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าหรือไม่นั้น อดีตรองเลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุว่า สินค้าขึ้นราคาเป็นแค่ภาพลวงตา ขึ้นอยู่กับกลไกลตลาด สินค้าบางประเภทผูกขาดด้านราคา แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ ดังนั้นถ้าใครขึ้นราคาสินค้าไม่สมเหตุผล ผู้บริโภคก็มีสิทธิที่จะไม่ซื้อได้ แต่ถ้าสินค้าขึ้นราคามากไป ก็เป็นเรื่องของกระทรวงพาณิชย์ที่จะต้องไปดูแล
เผยชีวิตลำเค็ญ พนง.ทำความสะอาดรับ 206 บาท/วัน ไม่พอยาไส้
ด้าน นางน้อม (นามสมมติ) อายุ 52 ปี พนักงานทำความสะอาดรายวัน ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับค่าจ้าง 206 บาท ต่อวัน กล่าวว่า ถ้าการเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 250 บาท ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะทุกวันนี้ตนก็ไม่มีเงินเหลือเก็บเลย เพราะได้มาเท่าไหร่ก็ต้องใช้จ่ายไปเท่านั้น ทั้งค่าเช่าห้อง ค่ารถ ค่ากิน ค่าซื้อของใช้ส่วนตัว เดือนหนึ่งตกประมาณ 6 พันบาท ก็แทบไม่พอใช้แล้ว
" ทุกวันนี้ต้องใช้จ่ายแบบประหยัด ข้าวก็ต้องห่อมากินในที่ทำงาน และทางบริษัทก็ไม่ได้ให้สวัสดิการอะไร เพราะเหมือนเป็นลูกจ้างรายวัน ขณะที่ในแต่ละเดือนก็ต้องถูกหักค่าประกันสังคมออกไปอีก ทั้งๆที่ การเบิกจ่ายค่ารักษาบางอย่าง เช่น การถอนฟัน ก็ต้องออกค่ารักษาเอง ทั้งที่เป็นค่าใช้จ่ายที่สูง หรือถ้า ลาหยุดงาน ก็โดนหักค่าแรงไปตามวันเลย ถ้าหยุดมากก็โดนหักไปมาก บางทีถ้าจำเป็นต้องใช้เงินมากขึ้นก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินคนอื่นๆ มาอีก " นางน้อม กล่าว |