Thai / English

สหภาพฯขสมก.ป่วนเมล์เอ็นจีวี

สหภาพฯ ขสมก.สุดป่วน เล็งตบเท้าพบไตรรงค์ขอเปลี่ยนแผนรถเมล์ 4,000 คัน ทั้งให้ซื้อรถเมล์แทนเช่า พร้อมชะลอใช้อีทิกเก็ตถึงเออร์ลี รีไทร์

18 .. 53
โพสต์ทูเดย์

นายวีระพงษ์ วงศ์แหวน รองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า สหภาพฯ จะยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางการปรับโครงสร้าง ขสมก. ต่อนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานดูแลเรื่องโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน โดยต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดโครงการหลายประการ ตั้งแต่แนวทางการจัดหารถเมล์ที่ต้องการให้ซื้อแทนการเช่า หรือเช่าซื้อ เพื่อที่ ขสมก.จะได้มีรถเมล์เป็นสินทรัพย์ของตัวเอง

ทั้งนี้ ต้องการให้ชะลอการใช้ระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีทิกเก็ตออกไปจนกว่าจะมีรถเข้ามาครบเต็มโครงการ เพื่อให้สอดคล้องกับการเกษียณอายุของพนักงาน และโครงการเออร์ลี รีไทร์ของพนักงานที่เกี่ยวข้อง เพราะสหภาพฯ ขสมก. ต้องการให้พนักงานสมัครใจลาออกมากกว่าการบังคับให้ลาออก

“จากการประมาณการที่ระบุว่าในปี 2555 ขสมก.จะต้องลดพนักงานให้เหลือเพียง 2,000 กว่าคนนั้นก็ให้เดินหน้าทำไป แต่ควรสร้างแรงจูงใจให้พนักงานมากกว่าที่กระทรวงการคลังกำหนดให้ชดเชยไม่เกิน 30 เท่าของเงินเดือนงวดสุดท้าย เป็น 40 เท่าของเงินเดือน” นายวีระพงษ์ กล่าว

นอกจากนี้ หากรัฐต้องการเป็นรัฐสวัสดิการอาจจัดให้มีรถร้อนบริการ 2,000 คัน ที่เหลืออีก 2,000 คัน เป็นรถปรับอากาศเพื่อบริการเชิงพาณิชย์ แต่รัฐบาลก็ต้องจ่ายชดเชยในส่วนของรถร้อนด้วย

“หากนโยบายรัฐต้องการให้สวัสดิการประชาชน โดยให้บริการรถเมล์ฟรี สำหรับรถร้อนก็ทำได้ และต้องจ่ายค่าชดเชยให้ขสมก.เช่นเดียวกับการให้บริการรถเมล์ฟรี 800 คัน อีกทั้งการดำเนินการเรื่องรถนั้น จะต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดก็ตาม ซึ่งขสมก.จำเป็นต้องมีรถใหม่เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ” นายวีระพงษ์ กล่าว

นายวีระพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันรถเมล์ร้อนและรถแอร์เสีย จอดทิ้งอยู่กว่า 500 700 คัน ทำให้มีรถอื่นที่ผิดกฎหมายออกมาวิ่งให้บริการประชาชน ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย สร้างปัญหาการจราจรและกระทบต่อสังคมโดยรวม

นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานจากบริษัท การบินไทย ถึงแนวทางการจัดตั้งสายการบินภูมิภาคแห่งใหม่ จึงไม่เข้าใจวัตถุประสงค์การจัดตั้ง แต่ในเบื้องต้นเห็นว่าการขยายตลาดภูมิภาคสามารถดำเนินการได้โดยใช้การบริหารจัดการที่ดี ถ้าเห็นว่าเครื่องบินที่มีอยู่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตลาด การบินไทยก็ควรจัดหาเครื่องบินที่มีความเหมาะสมกับตลาดมาให้บริการ ซึ่งในปัจจุบันการบินไทยให้บริการทั้งเส้นทางระหว่างทวีปและเส้นทางภูมิภาคอยู่แล้ว จึงไม่แน่ใจว่าการตั้งสายการบินภูมิภาคแห่งใหม่ที่จะให้บริการเต็มรูปแบบ จะซ้ำซ้อนและมีผลกระทบต่อการให้บริการของการบินไทยหรือไม่

"ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องตั้งสายการบินใหม่เพื่อมาให้บริการเฉพาะเส้นทางภูมิภาค เพราะการบินไทยให้บริการในเส้นทางภูมิภาคอยู่แล้ว ขณะที่สายการบินไทย ไทเกอร์ แอร์เวย์ส ก็จะให้บริการเส้นทางบินในประเทศและเส้นทางภูมิภาคเช่นกัน สิ่งที่กังวลคือเมื่อตั้งมาแล้วจะเกิดการแข่งขันกันเองหรือไม่ ปัจจุบันการดำเนินงานของการบินไทยมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี ซึ่งกระทรวงคมนาคมต้องการให้การบินไทยพัฒนา เพื่อเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนมากกว่า"นายโสภณ กล่าว

ส่วนปัญหาความล่าช้าในการติดตั้งเก้าอี้ชั้นประหยัดในเครื่องบินแอร์บัส เอ 330-300 จำนวน 5 ลำนั้น ตนได้เสนอให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทยตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในการว่าจ้างบริษัทโคอิโตะ เพื่อให้รู้ว่าใครเป็นผู้อนุมัติว่าจ้างโคอิโตะ และความเสียหายที่เกิดขึ้นมาจากความประมาทเลินเล่อหรือเป็นเหตุสุดวิสัย เพื่อจะชี้แจงต่อสังคมได้ แม้การบินไทยจะว่าจ้างบริษัทใหม่ให้มาติดตั้งเก้าอี้ชั้นประหยัดแทนโคอิโตะในเครื่องบินแอร์บัส 5 ลำดังกล่าว แต่ค่าจ้างบริษัทใหม่ทั้งสองราย สูงกว่าวงเงินที่ว่าจ้างโคอิโตะ แม้การบินไทยจะเรียกร้องค่าเสียหายจากโคอิโตะ แต่กระบวนการเรียกร้องต้องใช้เวลา

"การว่าจ้างโคอิโตะเกิดขึ้นก่อนที่ผมหรือกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทยจะมารับตำแหน่ง แต่ในเมื่อเป็นผู้บริหารอยู่ในปัจจุบัน ต้องมีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้รู้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นต้องมีผู้รับผิดชอหรือไม่ และใครต้องรับผิดชอบ แม้สายการบินอื่นจะได้รับผลกระทบเหมือนกัน นั่นเป็นเรื่องของเขา แต่ของเราต้องมีคนรับผิดชอบ"นายโสภณ กล่า