Thai / English

กนง.มีมติขึ้น ดบ.นโยบาย 0.25% ตามคาด เชื่อ ศก.ครึ่งปีหลังฟื้นตัว

บอร์ด กนง.มีมติขึ้น ดบ.นโยบาย 0.25% ตามคาด มั่นใจ ศก.ครึ่งปีหลังฟื้นแน่ ชี้ การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน-ขรก.ดันเงินเฟ้อปี 54 ปรับตัวสูงขึ้น

15 .. 53
ผู้จัดการ

มีรายงานข่าวการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้ ที่ประชุมมีมติ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จากระดับ 1.25% เป็น 1.5% เนื่องจาก กนง.ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งรัฐบาลยังมีนโยบายขึ้นเงินเดือน ข้าราชการ และการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นจะมีผลต่อตลาดเงินทันที

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวว่า กนง.มองภาพเศรษฐกิจโลก โดยเห็นว่า น่าจะมีการฟื้นตัวต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี และจะสามารถเติบโตได้ดีในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการคลังของหลายประเทศที่ทยอยสิ้นสุดลง และจากปัญหาหนี้สาธารณะและสถาบันการเงินในยุโรป สำหรับเศรษฐกิจเอเชียยังขยสายตัวได้อย่างเข้มแข็ง และเริ่มเห็นสัญญาณแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะต่อไป

ส่วนเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2553 ได้รับผลกระทบจากการเมืองในวงจำกัด ภาคท่องเที่ยวมีสัญญาณว่าจะฟื้นตัวได้เร็ว ส่วนการบริโภคและการผลิตได้รับผลกระทบเล็กน้อย และมีแนวโน้มจะขยายตัวต่อไปได้ในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่การส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำให้เศรษฐกิจทั้งปีขยายตัวได้ดีกว่าที่ประมาณไว้เดิม แม้แรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในขณะนี้ยังมีไม่มาก แต่คาดว่า ในปีหน้าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า การพิจารณาดอกเบี้ยของ กนง.ดูทั้งจากปัจจัยภายในและเศรษฐกิจโลกด้วย ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะมีความไม่แน่นอนหากมองไปข้างหน้า ผู้ทำนโยบายต้องชั่งน้ำหนักบวกลบให้ดี แต่ถ้ามองระยะกลาง คงไม่มีปัญหา Double-Dip อีก แม้ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะโตไม่เท่าครึ่งแรก เพราะแรงกระตุ้นของหลายประเทศหมดไป แต่ทั้งปีเศรษฐกิจโลกยังขยายตัวดี ซึ่งเศรษฐกิจไทยจะได้รับอานิสงส์ในครึ่งปีหลัง

สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองได้รับผลกระทบจากการเมืองในวงจำกัด ภาคท่องเที่ยวมีสัญญาณว่าจะฟื้นตัวได้เร็ว ส่วนการบริโภคและการผลิตได้รับผลกระทบเล็กน้อย และมีแนวโน้มจะขยายตัวต่อไปได้ในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่การส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำให้เศรษฐกิจทั้งปีจะขยายตัวได้ดีกว่าที่ประมาณการไว้เดิมแม้แรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในขณะนี้ยังมีไม่มาก แต่คาดว่าในปีหน้าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ธปท.จะมีการปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยใหม่ โดยจะแถลงในการเปิดเผยรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับใหม่ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2553 โดยมองว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2553 รับผลกระทบจากการเมืองค่อนข้างจำกัด ขณะที่ท่องเที่ยวมีสัญญาณการฟื้นตัวเร็ว การบริโภคและการผลิตได้รับผลกระทบเล็กน้อย มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่การส่งออกก็ขยายตัวได้ดีมาก ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีกว่าที่ประมาณการเดิมเมื่อเดือนเมษายน 2553 ที่ 4.3-5.8%

โดยในส่วนเงินเฟ้อขณะนี้ การเร่งตัวยังไม่มาก แต่ในปี 2554 จะเร่งตัวสูงมากตามการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่ง กนง.เห็นชัดเจนว่า เศรษฐกิจขยับตัวขึ้น ดังนั้น ความจำเป็นในการพึ่งพานโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากๆ เป็นพิเศษลดน้อยลง

สำหรับผลกระทบของตลาด นายไพบูลย์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการคาดการณ์ของตลาดว่า กนง.จะปรับดอกเบี้ยอาร์/พีต่อเนื่อง หรือมากน้อยขนาดไหน ซึ่งขณะนี้ตลาดรับรู้ไปแล้ว ขณะที่เศรษฐกิจในเอเชียปรับตัวสูงกว่า G3 ดังนั้น ไม่ว่าไทยจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ ก็จะมีแรงกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยนอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ไทยใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่น คงไม่มีปัญหาอะไร และปรับตัวได้อยู่แล้ว

“วัฏจักรดอกเบี้ยมันปรับเปลี่ยนแล้ว หมดยุคดอกเบี้ยต่ำแล้ว แม้ช่วงสั้นอัตราเงินเฟ้อจะไม่เร่งขึ้นมาจากมาตรการลดค่าครองชีพภาครัฐ ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ขึ้นอยู่กับเงินฝาก สภาพคล่อง ซึ่งยากจะคาดเดาว่าแบงก์จะปรับดอกเบี้ยตาม กนง.หรือไม่ แม้จะชัดเจนว่าหมดยุคดอกเบี้ยต่ำแล้ว ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยควรปรับขึ้นทั้ง 2 ขา” นายไพบูลย์ กล่าวสรุป