Thai / English

สภาพัฒน์หวั่นไตรมาส3คนตกงานพุ่ง ชี้มนุษย์เงินเดือนรายได้หด-จี้ลดความเหลื่อมล้ำ



01 .. 53
ข่าวสด

นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า จากการขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้ที่ 12% มีผลให้รายได้ที่แท้จริงโดยรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพราะภาวะเงินเฟ้อก็เพิ่มตามมาด้วย ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทยลดได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยพิจารณาจากมีการกระจายของการผลิตสินค้าเชิงสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นในชนบท ซึ่งสร้างรายได้เพิ่มขึ้นแก่ประชาชนในพื้นที่ แต่การกระจายรายได้ด้านอื่นๆ ยังคงมีน้อย

ทั้งนี้ จากสถิติรายได้ของคนไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาพบว่า ยังมีรายได้ประจำเป็นรายได้หลักถึง 82.8% โดยในช่วงเศรษฐกิจซบเซาตั้งแต่ปี"49 สัดส่วนรายได้จากค่าแรงและเงินเดือนลดลงต่อเนื่อง แต่รายได้กำไรจากการทำธุรกิจและรายได้จากทรัพย์สินมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ขณะที่เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว ค่าแรงและเงินเดือนแม้จะเพิ่มขึ้นแต่ก็ช้ากว่าส่วนที่เป็นกำไรของภาคธุรกิจ และเนื่องจากคนไทยที่มีรายได้ต่ำและปานกลางเป็นฐานใหญ่ของสังคม ดังนั้นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ต้องอาศัยการปฏิรูปทั้งระบบ ทั้งการปรับฐานเศรษฐกิจเพื่อสร้างฐานอาชีพและรายได้ ปรับระบบภาษีเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม

สำหรับการจ้างงาน เมื่อภาคการผลิตและบริการฟื้นตัวในไตรมาส 1/53 ทำให้อัตราการว่างงานลดลงเหลือ 1.1% หรือมีผู้ว่างงาน 4.3 แสนคน แต่ในไตรมาส 2-3 จำเป็นที่ต้องเฝ้าระวังการเพิ่มขึ้นของการว่างงาน เนื่องจากความเสียหายของภาคธุรกิจที่เกิดจากการชุมนุมและการก่อการจลาจล ทำให้นายจ้างลดชั่วโมงทำงานและลดการจ้างงานลง นอกจากนี้ยังมีปัญหาภัยพิบัติการเกษตรทั้งภาวะภัยแล้งและการระบาดของศัตรูพืช ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดของภาคเกษตรในการรองรับแรงงาน และปัจจัยสุดท้ายเกิดจากการทยอยเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้จบการศึกษาใหม่ตั้งแต่ปลายเดือนมี.ค.เป็นต้นมา ซึ่งแนวทางที่ผ่อนคลายปัญหานี้ได้คือมาตรการเยียวยาช่วยลดผลกระทบจากปัญหาการเมืองและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง

"เด็กจบใหม่จะเข้ามาแทนที่ความต้องการจ้างแรงงานเด็กและแรงงานต่างด้าวตามที่ภาคเอกชนขอมา ซึ่งส่วนนี้จะมีความรู้ความสามารถสอดคล้องกับความต้องการของภาคแรงงาน และจะช่วยให้การพัฒนาภาคแรงงานมีคุณภาพเพิ่มขึ้นด้วย" นางสุวรรณีกล่าว

ขณะเดียวกัน จากการติดตามความเคลื่อนไหวสถานการณ์ทางด้านสังคมในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ พบว่า ปัญหาสุขภาพจิตในสังคมมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นท่ามกลางปัญหาการเมือง ความขัดแย้งในสังคม และสภาพความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ โดยที่คนไทยยังขาดทักษะการจัดการความเครียดและภาวะวิกฤตในชีวิต ซึ่งเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มเกิดโรคนี้สูงจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพคน เสี่ยงเพิ่มอัตราฆ่าตัวตาย รวมถึง ผู้สูงอายุจะถูกทอดทิ้งมากขึ้นและเกิดโรคซึมเศร้ามากขึ้น