สหภาพแรงงานถกปัญหาการจ้างงานชั่วคราวปาลิดา ประการะโพธิ์ 08 .. 53 ประชาไท 7 มี.ค. 53 - ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์การศึกษาแรงงาน และคณะกรรมการ ICEM ประเทศไทยได้จัดงานระดมความคิดในหัวข้อ คนงานชั่วคราวกับเสรีภาพการรวมกลุ่ม และการเจรจาต่อรองร่วมในการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้ความรู้กับคนงานถึงความหมายและความสำคัญของมาตรฐานแรงงานสากล ว่าด้วยเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรองร่วม นำเสนอตัวอย่างในการทำงานของสหภาพแรงงานในการรวมกลุ่ม คนงานชั่วคราว และเพื่อหาแนวทางร่วมกันในการส่งเสริมการรวมกลุ่มให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดยสมาชิกสหภาพแรงงานทั้งภาครัฐ, รัฐวิสาหกิจและเอกชน รวมทั้งสื่อมวลชน นักศึกษา บุคคลทั่วไป กว่า 100 คน เข้าร่วมเสวนาระดมความคิดเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาการจ้างงานแบบชั่วคราว นักวิชาการชี้ สังคมต้องมีการพูดเรื่องแรงงานให้มากขึ้น พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่านักวิชาการสมัยใหม่ไม่ค่อยแตะต้องเรื่องแรงงาน ปัจจุบันมีการอ้างถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่มักจะไม่ค่อยเห็นการพูดถึงเรื่องของแรงงาน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญของสังคมเพราะเด็กที่เรียนในมหาวิทยาลัยยังไม่รู้ตัวเลยว่าจบออกไปแล้วจะไปเป็นแรงงาน
ทั้งนี้ พิชญ์ยังได้ให้ความหมายของการจ้างงานแบบยืดหยุ่น ว่าคือการจ้างงานที่ไม่ได้มีการเซ็นสัญญาอย่างเป็นระบบ คำนี้มีเสน่ห์อยู่ 2 เรื่อง หนึ่งคือนายจ้างชอบ เพราะจ้างง่าย เลิกจ้างง่าย และสองคือการจ้างงานตามฤดูกาล สามารถเอางานกลับมาทำที่บ้านได้ แรงงานยืดหยุ่นสวัสดิการน้อย การจ้างงานแบบชั่วคราวอาจจะดีสำหรับบางกลุ่ม เช่น การรับงานมาทำที่บ้าน แต่ถ้ามองในระยะยาว สวัสดิการและความมั่นคงน้อย
เราอาจจะได้เงินเยอะ ในขณะที่ความมั่นคงน้อยลง แต่มันมีความมั่นคงมากกว่าการทำเกษตรกรรม ที่ต้องพึ่งดินฟ้าอากาศและได้เงินน้อยกว่า ปัญหาของการจ้างงานชั่วคราวมันทำให้ความมั่นคงน้อยลง เราอาจจะได้เงินมาก แต่ถ้าเวลาเราป่วยหรืออะไรจะไม่มีสวัสดิการรองรับ พิชญ์ กล่าว
คุณภาพชีวิตแรงงานต่างกัน ส่อความเหลื่อมล้ำในองค์กร ระวัย ภู่ผะกา สหภาพแรงงานองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า พนักงานประจำไม่มีการใส่ใจกับการทำงาน เลยเกิดการจ้างงานแบบใหม่ซึ่งก็คือการจ้างงานแบบชั่วคราว เพื่อรับกระแสโลกาภิวัฒน์ โดยแรงงานในส่วนนั้นจะถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างมาก ทั้งที่ลูกจ้างชั่วคราวทำงานเหมือนลูกจ้างประจำทุกประการ แต่ลูกจ้างชั่วคราวกลับไม่ค่อยได้มีโอกาสในการรับสวัสดิการต่างๆ เช่น การขึ้นเงินเดือน ทั้งความเป็นอยู่ระหว่างแรงงานสองประเภทนี้ต่างกัน ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ส่งผลให้มององค์กรในแง่ลบและความจงรักภักดีกับองค์กรหายไป ซึ่งเหล่านี้อาจจะก่อให้เกิดปัญหาในภายหลังได้
สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าสหภาพฯต้องยื่นมือเข้าไปช่วย แต่มีปัญหาคือลูกจ้างไม่ยอมสมัครเข้าสหภาพฯ สิ่งที่ผมกลัวที่สุดคือ เมื่อผมเรียกโบนัสให้ลูกจ้างไม่ประจำ ลูกจ้างประจำก็ไม่พอใจ เพราะจะไปเป็นตัวหาร
การรวมตัวจะไม่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นอย่างเชื่องช้า เนื่องจากลูกจ้างไม่ให้ความสำคัญกับสหภาพฯ ระวัยกล่าว
แรงงานอย่าหวังพึ่ง เทวดาสามองค์มากนัก ย้ำให้สู้ด้วยตนเอง สุพจน์ พงษ์สุพัฒน์ สหภาพแรงงานข้าราชการและคนทำงานภาครัฐ กล่าวว่า ILO 87,98 เป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศ แต่มันไม่ได้เป็นยาวิเศษ ไม่ได้มีบทแซงชั่นอย่างเป็นทางการ อย่างดีก็ได้แค่ประจานในที่ประชุมเท่านั้น ที่เจ็บปวดที่สุดสำหรับลูกจ้างชั่วคราวคือ ค่าจ้างค่าตอบแทนไม่เป็นธรรม สถานะไม่มั่นคง ไม่มีอนาคต เรียกลูกจ้างด้อยสิทธิ
กลุ่มที่ด้อยที่สุดในประเทศไทยคือ พวกข้าราชการอย่างพวกผม โดนตัดหมด ลางาน ลาป่วย ไม่น่าเชื่อว่าอยู่ในกรมสวัสดิการฯ กระทรวงแรงงาน ดูแลสิทธิของคนงานเสียเองยังโดน
กุญแจสำคัญคือคุณต้องรวมตัวกัน แล้วต่อรองให้ได้ ไม่อย่างนั้นคุณไม่มีทาง เวลานี้ลูกจ้างชั่วคราวจะรวมตัวกันได้อย่างไร สหภาพต้องเปิดช่องให้เข้าไปให้ได้ ให้เขารวมตัวกันให้ได้" สุพจน์กล่าว
ฟรีแลนซ์ก็เหมือนผี...ไร้ตัวตน ปราณี ศรีกำเนิด สหภาพแรงงานสื่อสารมวลชนไทย (เนชั่น) กล่าวถึงการทำงานในวงการสื่อว่า นายจ้างใช้ช่องในการทำงานแบบฟรีแลนซ์ในการจ้างงาน แต่ไม่มีสหภาพฯ เหมือนเป็นผี สวัสดิการต่างๆก็ไม่ได้เลย ทั้งๆที่ทำงานเหมือนลูกจ้างประจำทุกอย่าง อยู่กันมาอย่างนี้ คีย์เวิร์ด คือคนที่มีปัญหาต้องรวมตัวกัน เราค่อนข้างโชคดีอย่างหนึ่งคือบริษัทของเราหน้าบาง ทั้งยังกล่าวว่าลูกจ้างจะต้องรู้กฎหมาย กฎหมายจะช่วยให้เจรจาได้ง่ายขึ้น
ถ้าเรารวมตัวกันได้ รู้กฎหมายจะช่วยได้มาก แต่ไม่ใช่ทุกครั้งที่จะประสบความสำเร็จ ปราณีกล่าว
ประกอบ ปริมล สร.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตกล่าวว่าคนงานคือคนที่สร้างสรรพสิ่งทุกอย่างในโลก ในยุโรปเขาสู้มาเป็นร้อยๆปี เราเพิ่งมาสู้ 50 ปี อย่าเพิ่งท้อ เรากำลังรณรงค์ให้เราสร้างสหภาพแรงงาน สหภาพฯเป็นตัวหลักที่สำคัญ ผมกล้าพูดได้ว่าบริษัทต่างๆที่ไม่มีการรวมตัวเป็นสหภาพว่า การอยู่รอดนั้นยาก ผมว่าปีนี้เป็นปีเริ่มแรก ที่แรงงานจะต้องไปในทางเดียวกัน ในวันที่ 1 พ.ค. นี้เราต้องร่วมเดินขบวนร่วมกัน การต่อสู้กับอำนาจรัฐนั้นบางทีสู้ไม่ไหว ก็ต้องขอความร่วมมือกับแรงงานต่างชาติ เราต้องหาทางชนะอย่างเดียว ถ้าแพ้หมายความว่าเราจะต้องตกงาน
ความหมายที่แท้จริงของ ILO 87 ,98 คือ การรับลูกจ้างชั่วคราวมาเป็นลูกจ้างประจำ พรวิษณุ พื้นผา อดีตลูกจ้างชั่วคราวจาก สร.ไทยอินดัสเตรียลแก็ส ได้เล่าว่า ความเจ็บปวดของการเป็นแรงงานจ้างเหมา คือการไม่สามารถเข้าร่วมกับสหภาพฯ ซึ่งเคยถูกชักชวนให้เข้าสหภาพฯ เมื่อครั้งยังเป็นลูกจ้างชั่วคราว แต่ถูกข่มขู่จึงไม่กล้าสมัครสมาชิก มาถึงตอนที่ถูกเลิกจ้างจึงได้แจ้งสหภาพฯ สิ่งที่ได้คือ 1.คนงานจ้างเหมาเข้าร่วมสหภาพได้ การรับสมาชิกหรือไม่รับขึ้นอยู่กับสหภาพ 2. สหภาพเป็นตัวแทนเจรจาให้กับคนงานได้
กุญแจอยู่ที่การรวมตัว อรัญญา ภคภัทร ผู้ประสานงาน ICEM ได้สรุปว่า การจ้างงานประจำและสมาชิกสหภาพแรงงานลดลงไปเรื่อยๆ เพราะเกษียณอายุ และคนรุ่นใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน ลูกหลานพนักงานประจำ เข้ามาทำงานก็มาเป็นคนงานชั่วคราว เพราะเขาไม่รับเป็นประจำ กุญแจจึงอยู่ที่การรวมตัวกัน สหภาพเองก็ต้องเป็นหัวจักรในการต่อรองโดยมีสมาชิกร่วมกันขับเคลื่อนและยังกล่าวว่าสหภาพแรงงานเป็นองค์กรประชาธิปไตย มาจากการจัดตั้งของคนงาน ดังนั้นการดำรงอยู่ของสหภาพแรงงานและการจัดตั้งขึ้นอยู่กับคนงานเอง
ส่วนอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 (สิทธิในการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรองร่วม) เป็นอนุสัญญาหลักซึ่งการเป็นอนุสัญญาหลักมาจากการตกลงกันในที่ประชุมระดับโลกระหว่างแรงงาน นายจ้าง และรัฐ ความหมายของการเป็นอนุสัญญาหลักคือ คนงานทุกคนมีสิทธิตามหลัก 87 และ 98 คือการสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพ และการเข้าร่วมในการใช้สิทธิการเจรจาต่อรองร่วม ดังนั้นเราจะต้องศึกษาเรื่องนี้ให้ลึกซึ้ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริง เพราะถ้าไม่มีสหภาพเราจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ |