Thai / English

HRW:แรงงานต่างด้าวในไทยถูกละเมิดหนัก 'อภิสิทธิ์' ติงข้อมูลบางส่วน 'ไม่รู้เอามาจากไหน'



24 .. 53
ผู้จัดการ

เอเจนซี/ASTVผู้จัดการรายวัน – “ฮิวแมน ไรต์ วอตช์” (HRW) องค์การเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชนที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิวยอร์ก วันนี้(23)เผยแพร่รายงานจากข้อมูลการสัมภาษณ์แรงงานต่างด้าวในไทย ระบุว่าแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยทั้งถูกขู่กรรโชก, ถูกจับกุมคุมขังตามอำเภอใจ, ถูกบังคับใช้แรงงาน, และยังถูกละเมิดร่างกาย โดยบางครั้งเป็นการลงมือจากฝ่ายเจ้าหน้าที่เสียเอง และภาครัฐก็ไม่คิดจะเอาผิดด้วย

HRWยังแสดงความเป็นห่วงเรื่องที่ทางการไทยกำหนดเส้นตายวันที่ 28 ก.พ. ให้แรงงานต่างด้าวกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศต้องเข้ากระบวนการพิสูจน์สัญชาติ มิฉะนั้นจะถูกส่งกลับประเทศทันที อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีท้วงติงว่า ไม่ทราบผู้เขียนรายงานไปเอาข้อมูลจากไหนมาเขียน

“แรงานต่างด้าวในไทยตกเป็นเป้าของการละเมิดหลายลักษณะด้วยกัน ตั้งแต่การถูกสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม, การทรมาน ไปจนถึงการจับกุมตามอำเภอใจ และการใช้ความรุนแรงทางเพศ” นายสุนัย ผาสุก ตัวแทนของHRWในไทยระบุ ในระหว่างการนำเสนอรายงานซึ่งรวบรวมขึ้นจากการสัมภาษณ์แรงงานชาวกัมพูชา พม่า และลาว 82 คน โดยที่แรงงานกลุ่มนี้มีอยู่ในราว 1.8 ล้านคน จากจำนวนแรงงานต่างด้าวทั้งหมด 3 ล้านคนทั่วประเทศ

“แรงงานต่างด้าวมีคุณูปการอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย แต่แทบไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ” นายแบรด แอดัมส์ ผู้อำนวยการของHRWประจำเอเชียกล่าว และเสริมว่า “แรงงานเหล่านี้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากข้าราชการและตำรวจทุจริต นายจ้างไร้ศีลธรรม และพวกนักเลงอันธพาล คนเหล่านี้รู้ดีว่าพวกเขาสามารถละเมิดแรงงานต่างด้าวได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีผลลัพธ์อะไร”

รายงานฉบับนี้ระบุว่า แรงงานต่างด้าวถูกมองเป็น “ตู้เอทีเอ็มเคลื่อนที่” อาจถูกตำรวจจับกุมโดยไม่มีเหตุผลและขู่กรรโชกเงิน ในขณะที่สถานภาพทางกฎหมายของคนกลุ่มนี้ก็ไม่แน่นอน ทำให้พวกเขาแทบไม่มีช่องทางจะขอความช่วยเหลือจากใครได้เลย

ทั้งนี้ ผู้ให้สัมภาษณ์รายหนึ่งคือ ซู ซู ได้เล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นกับแรงงานต่างด้าวชาวพม่าเมื่อปี 2007 ว่า เธอเห็นตำรวจสองนายในจังหวัดระนองเตะหนุ่มชาวพม่าคนหนึ่งจนตายคาที่ เพราะเขาไม่ตอบคำถามของตำรวจทั้งสองซึ่งถามเขาเป็นภาษาไทย

รายงานยังกล่าวหาอีกว่า ระบบบังคับใช้กฎหมายของไทยก็ล้มเหลวในการสืบสวนคดีอาญาทั่วไปที่เกิดขึ้นกับแรงงานต่างด้าว รวมทั้งคดีที่ฝ่ายนายจ้างเป็นผู้กระผิด แถมบางครั้งตำรวจก็สมรู้ร่วมคิดด้วย

เป็นต้นว่า มีกรณีหนึ่ง คนร้ายสองคนฆ่าชายพม่าคนหนึ่งซึ่งทำงานอยู่ในสวนยาง และข่มขืนภรรยาของเขา ทว่าแม้ตำรวจจะเก็บน้ำเชื้ออสุจิไปตรวจพิสูจน์และพบผู้ต้องสงสัย แต่กลับปล่อยคดีทิ้งไว้นานหนึ่งปี โดยอ้างว่าจะต้องหาหลักฐานเพิ่มเติม

HRWระบุว่า กระบวนการพิสูจน์สัญชาติของรัฐบาลไทยที่กำหนดเส้นตายในวันที่ 28 ก.พ.นั้นมีความซับซ้อน มีค่าใช้จ่ายสูง และไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยเฉพาะการพิสูจน์สัญชาติชาวพม่าซึ่งส่วนใหญ่หลบหนีเข้าประเทศมาอย่างผิดกฎหมาย เนื่องจากรัฐบาลทหารพม่าปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงและในประเทศมีปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่ารัฐบาลจะเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน “หากมีกรณีการละเมิดเกิดขึ้น เราจะไม่ยอมปล่อยปละละเลย”

นอกจากนั้น นายอภิสิทธิ์ยังแสดงความแปลกใจที่รายงานของ HRWพูดถึงการบังคับส่งแรงงานต่างด้าวกลับประเทศ ทั้งๆ ที่กระบวนการนี้คือการให้มาขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว ซึ่งนโยบายรัฐบาลนั้นมีมาตรการ มีขั้นตอนที่ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้มาขึ้นทะเบียน ขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติ ฉะนั้นไม่ทราบว่าตัวผู้เขียนได้รับข้อมูลตรงไหนอย่างไร

อนึ่ง เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา HRW ได้เผยแพร่รายงานสิทธิมนุษยชนทั่วโลกฉบับปี 2010 โดยในบทที่ว่าด้วยประเทศไทย เฉพาะส่วนที่เป็นบทคัดย่อนั้นมีการแปลเป็นภาษาไทยด้วย ทั้งนี้ได้พูดถึงเหตุการณ์ประท้วงรุนแรงของ “เสื้อแดง” ในเดือนเมษายน 2009 โดยกล่าวว่าทางการไทยใช้ทหารเข้าสลายการชุมนุม และมีผู้เสียชีวิตไป 2 คน

ครั้นถูกทักท้วงว่าการเขียนเช่นนี้ผิดความเป็นจริง หรืออย่างน้อยก็ชวนให้เข้าใจผิด เพราะผู้เสียชีวิตทั้ง 2 เป็นเพราะถูกเสื้อแดงยิงปืนใส่ ไม่ใช่เกิดจากการปะทะกับทหาร นายสุนัยแห่ง HRW อ้างเพียงว่า ในรายงานฉบับเต็มได้พูดถึงข้อเท็จจริงอย่างละเอียดถูกต้องแล้ว อย่างไรก็ตาม นายสุนัยไม่ยอมตอบคำถามว่าทำไมฉบับคัดย่อจึงมีข้อมูลที่ผิดพลาด ทำให้ถูกคอลัมนิสต์ของไทยบางคนเรียกร้องว่า HRW ควรต้องแสดงความรับผิดชอบในเรื่องนี้