Thai / English

4 องค์กรแรงงาน ยื่นจม.ถึงรัฐขอทบทวนพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติ



17 .. 53
เครือมติชน

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ คณะทำงานติดตามสถานการณ์ด้านแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ประกอบด้วย เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ANM) เครือข่ายองค์กรด้านแรงงานข้ามชาติ (MWG) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ทั้ง 4 เครือข่ายและตัวแทนแรงงานข้ามชาติได้เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี ณ.ทำเนียบรัฐบาล เพื่อแสดงความห่วงใยต่อความมั่นคงปลอดภัยของแรงงานข้ามชาติจาก ประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา กว่า 2 ล้านคน ที่อาจต้องถูกผลักดันกลับประเทศหลังเลยกำหนดในการขึ้นทะเบียนเพื่อขอพิสูจน์สัญชาติในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 นี้

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์กล่าวในระหว่างการยื่นหนังสือต่อ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศองค์การสหประชาชาติหรือยู.เอ็นและ ตัวแทนผู้อำนวยการ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านกิจกรรมแรงงานไอ.แอล.โอ ว่าเนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที19 มกราคม 2553 .ให้มีการขยายเวลาในการพิสูจน์สัญชาติแก่แรงงานข้ามชาติกว่า 1.3 ล้านคนหากมีการยินยอมในการกรอกข้อมูลในการพิสูจน์สัญชาติก่อนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 53 โดยจะได้รับการผ่อนให้สามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ไม่เกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 55 ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลขยายเวลาถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ชัดเจนและสัมฤทธิผลเนื่องจากขณะนี้เหลือเวลาอีกไม่กี่วันที่จะครบกำหนดการตรอกแบบฟอร์มขอพิสูจน์สัญชาติแต่ยังมีแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติรวมทั้งแรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนให้ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานชั่วคราว ซึ่งคาดว่าจะมีไม่น้อยกว่า 1 ล้านคนที่ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ทันในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้อย่างแน่นอน คณะทำงานติดตามสถานการณ์ด้านแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคล มีข้อเสนอต่อองค์การแรงงานระหว่างประเทศและรัฐบาลดังต่อไปนี้ รัฐบาลควรขยายระยะเวลาการพิสูจน์สัญชาติจากวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 ออกไป เพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ และเพื่อยุติการส่งกลับครั้งใหญ่ เพราะจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่ต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติ ภาครัฐควรควบคุมบริษัทเอกชนที่ช่วยดำเนินการในการพิสูจน์สัญชาติหรือบริษัทนายหน้าในการพิสูจน์สัญชาติให้กับนายจ้างและแรงงานข้ามชาติ เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทเหล่านี้ได้แสวงหาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติโดยเรียกเก็บค่าบริการสูงเกินสมควร และภาครัฐควรบังคับให้บริษัทเอกชนเหล่านี้ต้องจดทะเบียนกับกรมการจัดหางาน และควรจัดตั้งเครื่องมือในการรับเรื่องร้องเรียนจากแรงงานข้ามชาติในแง่ของการแสวงหาประโยชน์ รัฐบาลควรเจรจาอย่างต่อเนื่องกับรัฐบาลพม่าในการให้ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติในประเทศไทย เพื่อให้กระบวนการทำได้ง่ายขึ้นและใช้ระยะเวลาน้อยลง รวมทั้งเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นต่างๆ และเพิ่มความปลอดภัยให้กับแรงงานข้ามชาติและจูงใจแรงงานข้ามชาติคนอื่นๆ ในการเข้าสู่การพิสูจน์สัญชาติ กระทรวงแรงงานควรหารือกับองค์กรที่ทำงานสนับสนุนแรงงานข้ามชาติเพื่อกระตุ้นการสร้างความตระหนักเรื่องการพิสูจน์สัญชาติให้กับแรงงานข้ามชาติ โดยจะต้องทำสื่อเพื่อสร้างความเข้าใจทั้งในภาษาของแรงงานข้ามชาติและภาษาไทย มีเป็นรูปแบบที่เข้าใจง่าย การทำงานร่วมกันกับองค์กรที่มีประสบการณ์และทำงานใกล้ชิดกับชุมชนแรงงานข้ามชาติเพื่อหาช่องทางในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพได้มากขึ้น รัฐบาลควรหาวิธีการจัดการพูดคุยเพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนสำหรับแรงงานข้ามชาติที่ไม่ผ่านหรือไม่ได้พิสูจน์สัญชาติ และควรเปิดให้ทุกฝ่ายได้ร่วมในการจัดทำแนวทางการจัดการและเสนอข้อคิดเห็นต่อแนวทางดังกล่าว รวมทั้งควรจะต้องคำนึงถึงพันธกรณีตามกติกาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศต่อแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ รัฐบาลควรเปิดจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติอีกครั้งเพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ ทั้งนี้ประมาณการณ์ว่ายังจะมีแรงงานข้ามชาติอย่างน้อย 1 ล้านคน ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ การเปิดจดทะเบียนผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้อาศัยอยู่และทำงานในประเทศไทยได้จะทำให้ช่วยจัดการระบบให้แก้ปัญหาได้มากขึ้น แรงงานข้ามชาติที่ได้รับใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยควรมีสิทธิเปลี่ยนนายจ้างเพื่อป้องกันการแสวงหาประโยชน์และการตกเป็นแรงงานบังคับ และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานให้เกิดผลอย่างแท้จริง

ด้านนางสาว วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยกล่าวว่ากระบวนการในการพิสูจน์สัญชาติได้ผลประโยชน์เฉพาะบริษัทนายหน้าเอกชนเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลควรที่จะมาดำเนินการเรื่องดังกล่าวโดยตรงเพื่อนำรายได้เหล่านั้นเข้าสู่รัฐและนำมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลจะต้องดูแลสุขภาพจิต และสุขภาพกายของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรแรงงานไทยตาดหวังเอาไว้เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งที่ผ่านมาจากกรณีการแสวงหาผลประโยชน์ของบริษัทนายหน้าในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติเป็นสิ่งที่แรงงานไทยหนักใจมาโดยตลอด

ที่สำคัญตอนนี้รัฐต้องหาทางออกในปัญหาต่างๆของแรงงานข้ามชาติว่าจะทำอย่างไรซึ่งขณะนี้ชาวพม่าที่เป็นแรงงานข้ามชาติเป็นกังวลว่าถ้ามีการกลับไปพิสูจน์สัญชาติจะไม่ได้กลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยอีก ซึ่งการที่ทางเครือข่ายได้ทำข้อเสนอถึงรัฐบาลและองค์การแรงงานระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ นายจ้างและที่สำคัญคือพี่น้องชาวแรงงานข้ามชาติทุกคน โดยทางเราต้องการให้ภาครัฐมีการแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นกับเรื่องนี้โดยอาจจะให้องค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็น.จี.โอ. ทำหนังสือประสานงานกับภาครัฐ เพื่อร่วมหารือกับภาครัฐให้เกิดแนวทางในการแก้ปัญหาและสร้างความเป็นธรรมให้เกิดกับแรงงานข้ามชาติต่อไป

ขณะที่นายอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยมีการประกาศให้มีการพิสูจน์สัญชาติมาหลายปีถามว่าแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ได้รับข่าวสารข้อมูลหรือไม่ว่ามีการพิสูจน์สัญชาติ จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลพบว่ามีแรงงานข้ามชาติที่ไม่รู้เรื่องดังกล่าวจำนวนมากและคนที่ทราบข้อมูลก็ทราบจากเพื่อน บริษัทนายหน้าและนายจ้างเป็นหลักและขณะนี้ก็มีคนเข้ามาสู่กระบวนการในการพิสูจน์สัญชาติเพียงแค่ร้อยละ 10 ของจำนวนแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น วันนี้รัฐบาลเองต้องคิดและพิจารณามติ ครม.ที่ออกไปในเรื่องการพิสูจน์สัญชาติว่าสามารถที่จะแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติได้จริงหรือไม่ และในส่วนขั้นตอนในการพิสูจน์สัญชาติที่มีความไม่เข้าท่าคือกรณีของแรงงานข้ามชาติชาวลาวและกัมพูชาที่สามารถพิสูจน์สัญชาติได้ในประเทศไทยซึ่งถ้าคิดเป็นร้อยละจะอยู่ที่ ร้อยละ 15 ของแรงงานทั้งหมดและเหลืออีกร้อยละ 85 ที่เป็นแรงงานข้ามชาติชาวพม่าที่ต้องไปพิสูจน์สัญชาติถึงชายแดนและจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเป็นจำนวนมากซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องการวันนี้คือต้องมีการตรวจสอบบริษัทนายหน้าเพื่อไม่ให้ขูดรีดแรงงานข้ามชาติซึ่งเหมือนเป็นการผลักภาระทั้งหมดไปให้แรงงาน ที่ผ่านมาแรงงานงานเองก็ถูกขูดรีดในเรื่องการทำงานและในแง่ของกฎหมายอยู่แล้ว ความเป็นจริงเราไม่สามารถเอาแรงงานน้ำดีที่ถูกกฎหมายมาทดแทนแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบันได้ ซึ่งแรงงานข่ามชาติที่อยู่ในประเทศไทยไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มที่มาใช้แรงงานเท่านั้นแต่มีกลุ่มผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ด้วย คนเหล่านี้ก็ไม่สามารถที่จะพิสูจน์สัญชาติได้อยู่แล้วคิดว่าจะต้องมีการล้างและจัดระบบเรื่องนี้กันใหม่เพื่ออย่าให้ใครมาหากินบนความยากลำบากของแรงงานข้ามชาติอีกต่อไป

สำหรับบรรยากาศในการยื่นหนังสือเปิดผนึกของคณะทำงานติดตามสถานการณ์แรงงานข้ามชาติและกลุ่มแรงงานข้ามชาติผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีแรงงานข้ามชาติมาร่วมยื่นจดหมายเปิดผนึกเป็นจำนวนมากทั้งนี้ในช่วงเช้ามีการยื่นหนังสือต่อองค์การแรงงานระหว่างประเทศโดยมีตัวแทนออกมารับหนังสือหลังจากนั้นขบวนแรงงานข้ามชาติก็ไปปักหลักรอยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีที่หน้าทำเนียบด้านกระทรวงศึกษาธิการและมีการร่วมปราศรัยของตัวแทนคณะทำงานติดตามสถานการณ์แรงงานข้ามชาติและแรงงานข้ามชาติเป็นเวลานานและมีการแสดงสัญลักษณ์การแบ่งผลประโยชน์จากกระบวนการพิสูจน์สัญชาติด้วยเค้กจำลองขนาดใหญ่โดยนักแสดงที่เป็นตัวแทนของบริษัทนายหน้าในการพิสูจน์สัญชาติ กลุ่มผู้มีอิทธิพล และรัฐบาลพม่าเป็นผู้ตัดเค้ก ซึ่งภายหลังจากมีกิจกรรมมาเป็นเวลานานประมาณ 13.00 น.จึงมีตัวแทนของรัฐบาลคือนายอำนวย โชติสกุล ผู้อำนวยศูนย์บริการประชาชนออกมารับจดหมายเปิดผนึกด้านหน้าประตูทำเนียบ