ขยายเวลาจะมีประโยชน์อะไร ถ้ารัฐไม่แก้ไขกระบวนการพิสูจน์สัญชาติบัณฑิต แป้นวิเศษ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาเครือข่ายสตรีฯ มูลนิธิเพื่อนหญิง 11 .. 53 ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน (Cross Border News Agency) ฉบับที่ 58 (10 กุมภาพันธ์ 2553) ปัจจุบันรัฐบาลได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรี 19 มกราคม 2553 โดยเห็นชอบให้มีการขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติและผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรแก่แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่จดทะเบียนและได้รับอนุญาตทำงานในปี 2552 โดยแรงงานข้ามชาติที่แจ้งความประสงค์เข้ารับการพิสูจน์สัญชาติในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 จะได้รับการขยายเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว เพื่อรอการส่งกลับไม่เกิน 2 ปี สิ้นสุด 28 กุมภาพันธ์ 2553 ถ้าย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2552 เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ANM) ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลผ่านกระทรวงแรงงาน คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมีเนื้อหาใน 5 ประการ คือ
ประการที่ 1 ขอให้รัฐบาลขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติออกไป ประการที่ 2 ขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานและคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าว (กบร.) ทบทวนกระบวนการพิสูจน์สัญชาติให้มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ประการที่ 3 ขอให้มีการย้ายศูนย์พิสูจน์สัญชาติในฝั่งพม่าเข้ามาตั้งในเมืองไทย ประการที่ 4 ขอให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยทำการแทนนายหน้าหรือมีมาตรการควบคุมดูแลบริษัทนายหน้าอย่างจริงจังและยุติธรรม ประการที่ 5 ขอให้รัฐบาลเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในสื่อที่เข้าถึงแรงงานและนายจ้างอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ จากข้อเสนอทั้ง 5 ประการ ดูเสมือนว่ารัฐบาลได้ตอบสนองข้อเรียกร้องจากภาคประชาชนแรงงานและกระแสกดดันจากภาคธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานข้ามชาติเพียงประการเดียวเท่านั้น คือ การขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติออกไปอีก 2 ปี (2553-2554) ส่วนอีก 4 ประการที่เป็นหัวใจของการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย กับการปิดช่องทางทำมาหากินของพ่อค้ามนุษย์ที่เบียดบังเม็ดเงินไม่ต่ำกว่าปีละ 5,000 กว่าล้านบาท ที่รัฐบาลควรได้เข้าคลังและนำมาบริหารประเทศ กลับไม่ได้รับการให้ความสำคัญและนำมาสู่การหาแนวทางแก้ไขให้มีหลักเกณฑ์โปร่งใส ยุติธรรม ตรวจสอบได้ เพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ใช้แรงงานที่เป็นคนต่างชาติ ซึ่งเราก็พอทราบกันอยู่ว่าทั้งระบบการใช้แรงงานข้ามชาติในเมืองไทยมีประมาณ 2-3 ล้านคน และเมื่อดูความเป็นจริงของคนข้ามชาติที่เป็นคำถามว่ารัฐบาลไทยจะบริหารจัดการอย่างไร กับ 4 กลุ่มหลัก คือ หนึ่ง กลุ่มที่เข้ากระบวนการพิสูจน์สัญชาติไปแล้ว แต่ประเทศต้นทาง เช่น พม่า ไม่รับรองฐานะความเป็นประชาชนของตนเอง ก็จะไม่ให้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ สอง กลุ่มที่เป็นผู้ติดตาม เช่น สามี ภรรยา บุตร หรือญาติที่ตามมาไม่เป็นแรงงาน ก็จะต้องถูกส่งกลับ สาม กลุ่มที่ยอมพิสูจน์สัญชาติเป็นแรงงานไปขอเองไม่ผ่านบริษัทนายหน้า 10 บริษัท ยังไม่รวมพวกนายหน้าซับคอนแทรคที่กระทรวงแรงงานอนุญาตให้เป็นตัวแทน กลุ่มนี้จะมีโอกาสผ่านการพิสูจน์สัญชาติน้อยมาก เพราะไม่ผ่านนายหน้า สี่ กลุ่มที่ไม่ต้องการเข้ากระบวนการพิสูจน์สัญชาติ เพราะรู้อยู่แล้วว่าเข้าไปรัฐบาลทหารพม่าก็ไม่อนุญาตให้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ เช่น พวกนักการเมือง นักศึกษา ผู้ลี้ภัย ชนกลุ่มน้อยที่ต่อสู่กับรัฐบาลทหารพม่า เป็นต้น คำถามมีอยู่ว่า ถ้ารัฐบาลไทยจะยืนยันใช้นโยบายจับกุม ผลักดันส่งกลับอย่างเคร่งครัดกับ 4 กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ต้องบอกว่าเป็นแรงงานหลักกว่า 70% ของแรงงานข้ามชาติทั้งหมด รัฐบาลทำได้จริงหรือ? เนื่องจากปัจจุบันแรงงานข้ามชาติที่เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ANM) ลงไปจัด Focus Group ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แม่สอด มหาชัย พบว่า แรงงานข้ามชาติทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย ส่วนใหญ่ต้องการพิสูจน์สัญชาติ เนื่องจากจะทำให้พวกเขามั่นคงในการทำงาน เดินทางไปทำธุระได้อย่างมีเสรีภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการไม่ถูกรีดไถจากกลุ่มแก๊งต่างๆ ที่ผิดกฎหมาย ได้รับการคุ้มครองจากภาครัฐมากขึ้น จากคำบอกเล่าของ หม่องเอ และ โปโป แรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร พวกเขาบอกว่า ตอนนี้เป็นห่วงอย่างมาก คือ เพื่อนเราและครอบครัวที่ตามมาทำงาน หลายคนรอแจ้งการผ่านพิสูจน์สัญชาติอยู่ พวกเขายื่นหลักฐานไปหมดแล้ว ถ้าไม่ผ่านจะอยู่อย่างไร บางคนสู้ค่านายหน้าไม่ไหว เพราะเขาเรียกเงินประมาณ 5,000-10,000 บาทต่อคน ทำให้หลายคนไม่ยอมไปเข้ากระบวนการพิสูจน์สัญชาติ และยอมอยู่ใต้ติดต่อไป เพราะอย่างไรก็ต้องเสียเงินให้กับกลุ่มปกครองอยู่ดี คิดว่าการขยายเวลาพิสูจน์สัญชาติออกไปอีก 2 ปี จะไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะขั้นตอนกระบวนการพิสูจน์สัญชาติยังไม่ทำให้พวกเราแรงงานมั่นใจ อย่าลืมว่าเราต้องเสียทั้งเงิน เวลา และความไม่ปลอดภัย ทั้งในประเทศไทยและครอบครัวของเราในพม่า ยิ่งตอนนี้ใกล้มีการเลือกตั้ง มีเพื่อนเราบางคนที่เข้าพิสูจน์สัญชาติแล้วรัฐบาลทหารพม่ารู้ว่าครอบครัวอยู่ที่ไหนในพม่า ก็จะไปข่มขู่ รีดไถเงิน และบังคับให้ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งรัฐบาลทหารพม่า เป็นต้น
จากสถานการณ์แรงงานข้ามชาติที่กลั่นออกมาเป็นข้อเสนอ 5 ประการกับ 4 กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เป็นคำถามอย่างกังวลใจ หลัง 28 กุมภาพันธ์ 2553 ที่รัฐบาลจะใช้มาตรการแข็งกร้าวจัดการกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติทั้ง 4 กลุ่ม ซึ่งแน่นอนว่า ผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความวุ่นวายในสังคม ชุมชน ภาพลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชนทางสากล มีผลต่อสิทธิทางการค้าที่ประเทศมหาอำนาจชอบอาศัยและอ้างเพื่อการกีดกันทางการค้าที่เราเป็นห่วงนักหนาก็จะเกิดขึ้น ขณะนี้รัฐบาลมีเวลาอีกไม่ถึง 20 วัน ที่จะจัดเวทีประชุมปรึกษาหารือทั้งระบบกับผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน ขบวนการแรงงานไทย และผู้แทนแรงงานข้ามชาติ ว่าจะผ่อน ขยาย ให้ 4 กลุ่มที่เป็นข้อกังวลใจ ได้อาศัยทำงานอยู่ในประเทศไทยต่อไป
ผมในฐานะคนไทยและเป็นห่วงประเทศไทยเหมือนหลายคน ที่เป็นห่วงและตระหนักว่า ในระยะยาวจะนำพวกเขาเข้าสู่ระบบนโยบายของรัฐบาลได้ยั่งยืนมั่นคงได้อย่างไร เพราะเราหนีความจริงไม่พ้นว่าประเทศไทยต้องอาศัยแรงงานกลุ่มเหล่านี้ เราหนีไม่พ้นว่ารายได้ของประเทศหดหายไปปีละ 5,000 กว่าล้านบาท เราหนีไม่พ้นกับเหตุการณ์ที่ต่างประเทศจับตามองการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งอันตรายอย่างยิ่งถ้าปล่อยให้ขบวนการนายหน้าผิดกฎหมายหรือถูกกฎหมาย แต่ไม่โปร่งใส ยังดำเนินการอยู่ เราก็จะเจอเหตุการณ์กรณี 54 ศพรถคอนเทนเนอร์ที่ จ.ระนอง เหตุการณ์ฆ่าพม่า 9 ศพที่ จ.กาญจนบุรี ล่าสุดวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ จ.ตาก ขบวนการนายหน้าแก็งค์ขนคนต่างด้าวยิงใส่ตำรวจภูธรภาค 6 จนมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 1 ราย และเหตุการณ์อื่นๆ ที่เราหนีไม่พ้นและต้องเผชิญหลัง 28 กุมภาพันธ์ 2553
ถ้ารัฐบาลคิดว่า การขยายเวลาพิสูจน์สัญชาติออกไป จะเป็นภาพการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว และสร้างความพึงพอใจให้กับนักธุรกิจ ตัวแรงงาน และภาพทางสังคม ว่าได้แก้ปัญหาแล้ว ซึ่งผมมองว่าการขยายเวลาเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น สำคัญที่สุด คือ การทบทวน ปรับทัพ จัดกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ และการบริหารจัดการทั้งระบบที่เป็นหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและเป็นโอกาสครับ |