วิกฤติแรงงานเทียมสมชาย ปรีชาศิลปกุล 05 .. 53 กรุงเทพธุรกิจ ท่ามกลางการฟื้นตัวของธุรกิจเอกชน ที่มีการจ้างงานขยายตัวเพิ่มขึ้น บุคคลสำคัญของสภาอุตสาหกรรมออกมาให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน ว่า ... ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมกำลังเผชิญกับการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานทางด้านประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต้องการแรงงานอีกเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถหาแรงงานเข้ามาทำงานได้
พร้อมกันไปก็ได้เสนอต่อทางภาครัฐให้สามารถนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานทดแทนในส่วนที่กำลังขาดแคลนนี้ได้
ปรากฏการณ์จากการป่าวประกาศของบรรดานายทุนอุตสาหกรรม ทำให้ดูราวกับว่าธุรกิจเอกชนไทยกำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างหนักหน่วง และไม่อาจแก้ไขปัญหานี้ได้ภายในเร็ววัน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคอย่างสำคัญต่อภาคการผลิตของระบบเศรษฐกิจไทย จึงจำเป็นที่จะต้องรีบแก้ไขปัญหานี้อย่างรวดเร็ว
แต่ความเข้าใจว่าแรงงานอยู่ในภาวะขาดแคลนเป็นสิ่งที่น่าสงสัยมิใช่น้อย เพราะยามที่เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ มีแรงงานเป็นจำนวนมากถูกเลิกจ้างหรือปลดออกจากงาน คนงานเหล่านี้หายไปไหนจึงไม่หวนกลับมาสู่การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมอีกครั้ง
อันที่จริงแล้ว ภาคอุตสาหกรรมมิใช่เพียงเลิกจ้างแรงงานจำนวนมากเท่านั้น หากยังรวมไปถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานสำหรับคนงานใหม่ภายหลังจากต้องประสบกับความยุ่งยากของระบบเศรษฐกิจ มีการจ้างงานในลักษณะที่เป็นสัญญาระยะสั้นเพิ่มมากขึ้นในอุตสาหกรรมหลายประเภท ดังเช่นการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ จากเดิมที่เป็นการจ้างให้เป็นพนักงานของบริษัทเต็มตัวกลายมาเป็นพนักงานตามสัญญาจ้าง ที่มีระยะเวลาจำกัด 10 เดือนบ้าง 11 เดือนบ้าง
การปรับเปลี่ยนการจ้างงานในลักษณะเช่นนี้ เป็นผลจากการปรับตัวของธุรกิจอุตสาหกรรม เมื่อต้องเผชิญกับความผันผวนของระบบเศรษฐกิจโลก ในกรณีที่เกิดวิกฤติอย่างรุนแรง ทางบริษัทเอกชนก็ไม่จำเป็นต้องแบกรับคนงานประจำจำนวนมากเอาไว้ การจ้างงานระยะสั้นเป็นคำตอบให้กับอุตสาหกรรมจำนวนมาก ที่จะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้บริษัทของตนยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ในตลาดได้
เพื่อนของผู้เขียนคนหนึ่งบอกว่าการปรับตัวเพื่อให้เกิดการจ้างงาน "แบบยืดหยุ่น" เช่นนี้ คือ ทางออกที่จำเป็นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงของธุรกิจเอกชน
โดยที่ไม่มีความรู้ทางด้านธุรกิจมากมายนัก แต่ผู้เขียนก็มีคำถามว่าการจ้างงานแบบที่สร้างความมั่นคงแก่ธุรกิจเอกชนนี้กระทบถึงความมั่นคงในชีวิตของผู้ใช้แรงงานหรือไม่
เห็นได้ชัดเจนว่าระบบการจ้างงานระยะสั้น ได้ทำลายชีวิตของผู้ใช้แรงงานลงไปเช่นเดียวกัน ความมั่นคงของเขาหรือเธอมีอย่างมากก็ยาวไม่เกินหนึ่งปี อนาคตที่ชัดเจนซึ่งมีอยู่น้อยนิดเช่นนี้ย่อมไม่ทำให้บุคคลสามารถนอนหลับได้อย่างเป็นปกติสุขแน่ คงต้องภาวนาก่อนนอนเสมอว่าขอให้ระบบเศรษฐกิจอย่าดิ่งลงเหวเลย มิฉะนั้น มีหวังได้กลายเป็นคนตกงานอย่างแน่นอน
ความยุ่งยากคงไม่ใช่แค่เพียงผู้ใช้แรงงานเท่านั้น หากบุคคลนั้นเป็นกำลังสำคัญของครอบครัวก็ย่อมส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไป ความไม่มั่นคงของแรงงานแม้เพียงคนเดียว จึงทำให้ชีวิตของหลายคนต้องมาแขวนอยู่บนเส้นด้ายเส้นเดียวกัน
เชื่อว่าผู้ใช้แรงงานจำนวนมากที่ตกจากเส้นด้ายในห้วงวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมา คงได้เรียนรู้ถึงความไม่แน่นอนที่ไม่อาจฝากความหวังไว้กับงานในโรงงานได้อย่างเต็มที่ แม้อาจให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการทำงานอื่นๆ อาทิเช่น เป็นแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยว แต่ความเสี่ยงที่มีอยู่สูงย่อมเป็นผลให้คนเหล่านั้นประเมินความเสี่ยงอย่างมาก
ในห้วงเวลาของความยุ่งยากทางเศรษฐกิจรอบที่ผ่านมา มีแรงงานจำนวนไม่น้อยแปรตนเองจากผู้ใช้แรงงานมาเป็นผู้ประกอบการรายย่อย แม้อาจไม่ประสบความสำเร็จหรือมีรายได้เทียบเท่ากับการทำงานในภาคอุตสาหกรรม แต่หากเทียบด้วยการดำรงชีวิตอยู่บนลำแข้งตัวเอง ซึ่งพอคาดเดาอนาคตได้บ้าง ก็ยังอาจเป็นสถานะที่ดีกว่าการกลับเข้าไปในโรงงาน ที่พร้อมจะโยนแรงงานทั้งหมดออกมาอย่างไม่แยแสในยามวิกฤติ
การขาดแคลนแรงงานที่ภาคอุตสาหกรรมกำลังเป็นอยู่ จึงอาจมิใช่เรื่องของการไม่มีแรงงาน แต่อาจกลับกลายเป็นว่ามีแรงงานจำนวนมากอยู่ หากผู้ใช้แรงงานเหล่านี้ต่างตระหนักถึงการไร้ค่าของตนในระบบการจ้างงาน จึงต่างพากันหันหลังให้กับประตูโรงงานอย่างไม่แยแส
การพยายามสร้างมาตรฐานในการจ้างงานให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความมั่นคงในการทำงาน จึงเป็นเงื่อนไขในการดึงดูดแรงงานกลับเข้าสู่การจ้างงาน แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าไม่มีการขบคิดถึงประเด็นดังกล่าวนี้แต่อย่างใด สำหรับทางภาคธุรกิจเอกชนก็คงพอจะเข้าใจได้อยู่บ้าง แต่ในส่วนของภาครัฐกลับไม่ปรากฏการผลักดันให้เกิดการจ้างงานที่มั่นคงกับผู้ใช้แรงงานแต่อย่างใด
ระบบการจ้างงานแบบระยะสั้น การเลิกจ้างของนายจ้างที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายยามระบบเศรษฐกิจผันผวน ไม่ได้เป็นประเด็นที่นำมาซึ่งการถกเถียงเพื่อสร้างระบบการจ้างงานที่เป็นธรรมต่อทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ทั้งหมดต่างให้ความสำคัญว่าจะทำให้ลมหายใจของนายจ้างสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างไร
จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่จะมีการเสนอให้นำแรงงานต่างด้าวเข้ามาสู่ธุรกิจที่มีแรงงานขาดแคลน แรงงานประเภทนี้ นับเป็นสุดยอดปรารถนาของการจ้างงาน ไม่มีการรวมตัวเป็นสหภาพ ไม่มีการต่อรอง ระบบสวัสดิการจัดให้ในระดับต่ำ ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่สามารถนำมาซึ่งความร่ำรวยของฝ่ายนายจ้างได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ตรงกันข้ามกับทางฝ่ายแรงงานที่ไม่มีทางเลือกเหลือให้มากนัก
การขาดแคลนแรงงานในขณะนี้ จึงอาจไม่ใช่การวิกฤติของแรงงาน แต่อาจมีความหมายถึงสถานะของแรงงานที่อยู่ในภาวะวิกฤติจากการจ้างงานมากกว่า |