การจัดการด้านแรงงานข้ามชาติ ปี 2553: การจดทะเบียน หรือการส่งกลับที่ได้ผลอานดี้ ฮอลล์ ผู้อำนวยการโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา 13 .. 53 ประชาไท อานดี้ ฮอลล์ ผู้อำนวยการโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา วิเคราะห์และแสดงความวิตกกังวลต่อนโยบายของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับการส่งแรงงานข้ามชาติกลับประเทศซึ่งยังมีความคลุมเครือในทางปฏิบัติ เหลือเวลาอีกเพียง 8 วันทำการ ในวันที่ 20 มกราคมจะเป็นวันสุดท้ายของ การผ่อนผันให้อาศัยและทำงานในประเทศไทยเป็นเวลาหนึ่งปี เพื่อรอการส่งกลับ ซึ่งจะทำให้แรงงานข้ามชาติชาวพม่า เขมรและลาวจำนวน 61,543 คนซึ่งเข้ามาในประเทศไทย โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ต้องถูกส่งกลับประเทศ เพราะเป็นกลุ่มแรกที่ไม่สามารถต่อใบอนุญาตทำงานได้ ซึ่งการที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุในครั้งนี้ ค่อนข้างแตกต่างจากทุกครั้งที่เคยผ่านมา เนื่องจากมีนโยบายว่าให้ส่งตัวแรงงานข้ามชาติกลับทันที หากแรงงานเหล่านี้ปฏิเสธการเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติของรัฐบาลไทย ดังนั้น ไม่ว่าการส่งกลับจะเริ่มในวันที่ 20 มกราคมหรือวันที่ 28 กุมภาพันธ์ซึ่งเป็น วันสุดท้าย ที่ให้แรงงานข้ามชาติอีกนับล้านคนที่ใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุในวันดังกล่าวต้องเลือกว่า จะพิสูจน์สัญชาติหรือถูกส่งกลับหรือจะมีการเปิดจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติอีกนั้น แต่เรื่องดังกล่าวยังคงมีความคลุมเครือ กระบวนการพิสูจน์สัญชาติของรัฐบาลไทยเป็นนโยบายจัดระเบียบสถานะของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า ลาวและกัมพูชาประมาณสองล้านคน ในขณะนี้ แรงงานเหล่านี้ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศประมาณร้อยละ 5 ถึง 6 และเป็นส่วนหนึ่งของแรงงานในประเทศประมาณร้อยละห้าสำหรับกลุ่มคนที่ทำงานเสี่ยงอันตราย สกปรกและต้อยต่ำที่สุดในประเทศไทย จำเป็นต้องมีกระบวนการพิสูจน์สัญชาติดังกล่าว เนื่องจากแรงงานเหล่านี้หลบหนีออกจากประเทศของตนอย่างไม่ถูกต้องและเข้าประเทศไทย โดยมิชอบด้วยกฎหมาย พวกเขาจึงเป็นแรงงานไร้สัญชาติ ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องมีการเอาใจใส่ดูแลอย่างเร่งด่วนเพราะแรงงานดังกล่าวประมาณร้อยละ 90 เป็นชาวพม่าและมีสถานภาพที่ไม่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง ทางเลือกอันชัดเจน ตั้งแต่ปี 2551 ผู้อพยพชาวพม่ามีทางเลือกที่ชัดเจนจากรัฐบาลไทย นั่นคือ ไม่ว่าพวกเขาจะมีชาติพันธุ์หรือภูมิหลังแบบใดก็ตาม จะต้องแจ้งรายละเอียดส่วนตัวแก่รัฐบาลพม่าเพื่อพิจารณาว่าพวกเขาเป็น ชาวพม่า หรือไม่ ถ้า ไม่ใช่ ก็จะไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดกับพวกเขาต่อไปเนื่องจากรัฐบาลไทยยังไม่มีการประกาศนโยบายอื่นๆ ในประเด็นดังกล่าวและยังคงมีความไม่ชัดเจนว่าผู้อพยพเหล่านี้จะถูกส่งตัวไปที่ไหน แต่หากคำตอบคือ ใช่ พวกเขาสามารถขออนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยเพื่อออกจากจังหวัดที่ตนเองลงทะเบียนอยู่ในประเทศไทยแล้วกลับไปพม่าเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ สำหรับแรงงานชาวเขมรและลาว จะมีเจ้าหน้าที่จากประเทศของตนมาตรวจสอบด้วยตนเองในประเทศไทย แต่รัฐบาลพม่ากลับปฏิเสธขั้นตอนดังกล่าวซึ่งเป็นเหตุให้รัฐบาลไทยต้องปวดเศียรเวียนเกล้า ท่ามกลางข่าวลือที่เกิดขึ้นหนาหู แรงงานข้ามชาติชาวพม่าที่กลับถึงประเทศพม่า พวกเขาจะไม่ถูกจับแต่จะ ได้รับการอนุมัติ ให้เป็นชาวพม่าและได้รับหนังสือเดินทางชั่วคราวที่มีอายุสามปีซึ่งมีราคา 100 บาท (ประมาณ 3,000 จ๊าด) หลังจากนั้น ชาวพม่า เหล่านี้ก็จะเดินทางกลับเข้ามาประเทศไทย อย่างถูกกฎหมาย และได้รับวีซ่าเป็นเวลาสองปีราคา 500 บาท ค่าใช้จ่ายรวมแล้วทั้งสิ้น 600 บาท อย่างไรก็ตาม กระบวนการพิสูจน์สัญชาติไม่ง่ายเหมือนที่พูดกัน เนื่องจากมีถึง 13 ขั้นตอนซึ่งเกี่ยวข้องกับกระทรวงต่างๆ ในประเทศไทยสามแห่ง รวมทั้งสถานทูตพม่าในกรุงเทพฯ และกระทรวงต่างๆ ในพม่าอีกบางแห่ง หากไม่ใช่คนชอบการเดินทาง ทั้งนายจ้างและแรงงานข้ามชาตินั้นจะได้รับการแนะนำให้จ้างบริษัทเอกชนเพื่อดำเนินการดังกล่าว จากถ้อยแถลของกระทรวงแรงงานของไทยเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2552 ที่ชี้แจงสารคดีของสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย จะเห็นได้ว่ามีบริษัทที่รับดำเนินการเป็นตัวแทนในเรื่องดังกล่าวเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากมายและได้รับการอนุมัติจากสถานทูตพม่าแต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เลยกับกระทรวงแรงงาน แม้ว่าบริษัทเหล่านี้จะตั้งอยู่และจดทะเบียนในประเทศไทยก็ตาม และตัวแทนดังกล่าวจะคิดค่าใช้จ่ายในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติเพิ่มขึ้นจาก 600 บาทเป็น 6,000 บาท ซึ่งยังไม่รวมถึงค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับใบอนุญาตทำงาน (1,800บาท) ค่าตรวจสุขภาพ (600 บาท) และค่าประกันสุขภาพ (1,300 บาท) สำหรับแรงงานชาวพม่าที่ได้เงินแค่ 4,000 ถึง 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งถือเป็นเงินจำนวนน้อยนิดที่หวังจะส่งให้ครอบครัวที่พม่า อีกทั้งส่วนใหญ่ยังชำระหนี้จากการต่ออายุใบอนุญาตทำงานครั้งที่ผ่านมาไม่หมด แต่ค่าใช้จ่ายเป็นเพียงปัญหาส่วนหนึ่งเท่านั้น ความเสี่ยงอันเกี่ยวเนื่องกับรัฐบาลพม่าในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติยังคงสร้างความหนักอกหนักใจให้กับแรงงานเหล่านี้ เช่นเดียวกับความเกี่ยวโยงที่เคลือบแคลงระหว่างกระบวนการดังกล่าวกับการเลือกตั้งทั่วไปในพม่าในปี 2553 นอกจากนั้น ยังคงมีปัญหาเร่งด่วนอีกมากมาย เช่น กระทรวงแรงงานจำเป็นต้องประกาศนโยบายการต่ออายุใบอนุญาตทำงานที่จะหมดอายุในวันที่ 20 มกราคมหรือ 28 กุมภาพันธ์ ส่วนรัฐบาลไทยยังคงต้องประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปในเรื่องการพิสูจน์สัญชาติ ที่เป็นกระบวนการที่มีค่าใช้จ่ายสูง การขาดความโปร่งใสในการทำงาน ความไม่ปลอดภัย กระบวนการที่ซับซ้อนยุ่งเหยิง และการขาดข้อมูล (ทั้งจากนายจ้างและแรงงานข้ามชาติเอง) ซึ่งในช่วงเวลาเกือบหนึ่งปี มีแรงงานข้ามชาติชาวพม่าเพียง 6,000 คนเท่านั้นที่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ นอกจากนี้ กระบวนการพิสูจน์สัญชาติเปิดให้เฉพาะแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนประมาณ 1 ล้านคนเข้าสู่กระบวนการเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วมีแรงงานข้ามชาติอีกอย่างน้อย 1 ล้านคนที่ไม่ได้จดทะเบียน คณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าว (กบร.) มีมติในวันที่ 21 ธันวาคม 2552 ว่าจะยื่นข้อเสนอแนะแก่คณะรัฐมนตรีเพื่อจัดการกับความยุ่งยากนี้ โดยมีใจความว่า (1) ให้มีการขยายระยะเวลาการพิสูจน์สัญชาติจากวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 ออกไปอีกสองปีเพื่อให้บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องทำงานร่วมกันและสร้างความสำเร็จให้กระบวนการดังกล่าว และ (2) แรงงานที่จดทะเบียนและยินยอมเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์อยู่ในประเทศไทยและต่ออายุใบอนุญาตทำงานในช่วงสองปีดังกล่าว สำหรับแรงงานข้ามชาติอื่นๆ ควรส่งตัวกลับให้หมดเลยหรือไม่? ดูเหมือนว่ารัฐบาลไทยจะมีความชัดเจนว่าวันที่ 28 กุมภาพันธ์เป็นวันสิ้นสุดยุคแห่งการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติแบบปีต่อปีในประเทศไทยและเปลี่ยนไปใช้กระบวนการพิสูจน์สัญชาติแทน นั่นหมายความว่า ประเทศไทยจะไม่อนุญาตให้มีการเข้าประเทศ โดยผิดกฎหมาย ต่อไปการนำเข้าหรือส่งออกแรงงานข้ามชาตินั้นต้องทำให้เป็นขั้นเป็นตอนระหว่างรัฐบาลโดยผ่านบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา ลาว และพม่า ที่ต้องนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะนี้ สายตาทุกคู่กำลังจับจ้องคณะรัฐมนตรี (โดยเฉพาะจากการประชุมในวันพรุ่งนี้) ว่าข้อเสนอแนะของ กบร. จะได้รับอนุมัติ ปรับปรุง หรือปฏิเสธ ทางโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาได้ติดต่อกับผู้แรงงานข้ามชาติที่ใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุลงในวันที่ 20 มกราคมนี้ ทำให้ทราบว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เกิดความหวาดกลัว เครียดและนอนไม่หลับ จะเกิดอะไรขึ้นหากไม่มีการต่อใบอนุญาต โดยเฉพาะในหมู่แรงงานข้ามชาติจำนวนมหาศาลที่ทำงานและอยู่ในเมืองไทยมากว่า 10 ปี ขณะนี้ กลุ่มแรงงานข้ามชาติเหล่านี้กำลังคิดว่าจะหลบซ่อนอยู่ในประเทศสักระยะหนึ่ง หรือล้มเลิกความตั้งใจแล้วยอมถูกส่งกลับพม่าเพื่อเริ่มต้นชีวิตอันซับซ้อนอีกครั้ง โดยปกติ มติคณะรัฐมนตรีเป็นสิ่งที่แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าตั้งตารอคอยและเป็นสิ่งแสดงตัวตนอันคลุมเครือของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ในสายตาของผู้อื่น แต่ในปีนี้ มติคณะรัฐมนตรีดูจะล่าช้ากว่าทุกปี หากมีการอนุมัติในวันพรุ่งนี้ จะเหลือเวลาต่ออายุใบอนุญาตทำงานอีกเพียงห้าวันทำการสำหรับผู้อพยพจำนวน 60,000 คน (ถ้าพวกเขายินยอมเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบสัญชาติ) ด้วยเหตุนี้ นายจ้าง ผู้ใช้แรงงาน และเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจรู้สึกถึงความยุ่งยากเกี่ยวกับงานธุรการในนาทีสุดท้ายที่กำลังคืบคลานเข้ามาก็เป็นได้ แต่ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้นคือคำถามที่ว่า วันที่ 20 มกราคมจะยังคงเป็นวันแรกหรือไม่ที่มีการส่งกลับหมู่ของแรงงานข้ามชาติที่ปฏิเสธกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งการส่งกลับประเทศนี้จะเริ่มอีกครั้งในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ทางโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ ยังคงได้ทราบข่าวเกี่ยวกับความคิดของชาวพม่าที่ปฏิเสธกระบวนการดังกล่าวในการที่จะกลับเข้าสู่วิถีชีวิตแบบเดิมในประเทศของตน โดยบุคคลเหล่านั้นเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่าซึ่งทางโครงการฯ รับรู้สภาพชีวิตในอดีตของพวกเขาขณะที่อาศัยอยู่ในรัฐฉาน กะเหรี่ยง หรือมอญ และได้ทราบมาว่าพวกเขาจะกลับไปหลบซ่อนตัวอย่างลับๆ อีกครั้ง รวมทั้งความกดดันที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมากับแรงงานเหล่านี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว นโยบายที่วาดหวัง จากประเด็นข้างต้น นโยบายของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับการส่งแรงงานข้ามชาติกลับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์ของชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาและชาวม้งที่เป็นที่พูดถึงกันในเวทีระหว่างประเทศนั้น จึงเป็นสิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวกำลังจับตาและรอคอยอย่างกะตือรือร้น ในส่วนของประเทศไทย มีการออกแถลงการณ์ ณ สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2552 ว่า ประเทศไทยเห็นความสำคัญของสิทธิของแรงงานข้ามชาติทุกคนและตระหนักถึงหน้าที่อันทรงค่าต่อตลาดแรงงานของประเทศ แต่การส่งตัวผู้อพยพชาวม้งนับพันออกจากประเทศไทยเป็นสิ่งที่น่าพรั่นพรึงโดยแท้ คณะทำงานฯ มีความห่วงใยและเป็นกังวลต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งผู้ประกอบการ นายจ้าง และเศรษฐกิจของประเทศไทยซึ่งยังคงต้องการความช่วยเหลืออย่างมากจากแรงงานข้ามชาติเหล่านี้การส่งตัวกลุ่มแรงงานข้ามชาติเหล่านี้กลับประเทศจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีความเป็นไปได้เลย แต่หากต้องมีการดำเนินการดังกล่าวแล้ว ทางรัฐบาลไทยจะรับประกันได้หรือไม่ว่าจะเป็นการส่งตัวผู้อพยพกลับประเทศ โดยแท้จริง มิใช่กระบวนการจับกุมและปล่อยตัวออกมา ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงดังที่แล้วมา เป็นไปได้หรือไม่ว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านั้นจะกลับเข้าประเทศไทยในวันเดียวกันกับที่พวกเขาถูกส่งกลับพม่า และสถานการณ์ก็ดำเนินต่อไปแบบเดิมๆ ในปีนี้ ประเด็นว่าด้วยแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยจะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น จึงได้แต่หวังว่าผู้ได้รับชัยชนะจะเป็นแรงงานข้ามชาติ นายจ้างและเศรษฐกิจไทย ส่วนผู้แพ้จะเป็นการหลบหนีเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย ระบบบริหารอันซับซ้อน การขาดความโปร่งใสในการทำงาน และความรุนแรงต่างๆ |