Thai / English

เชื่อรัฐบาลต่ออายุให้แรงงานข้ามชาติ ชี้คนงานไม่กล้าพิสูจน์สัญชาติเพราะกลัวอันตราย



12 .. 53
ประชาไท

กรณีนายพิชัย เอกพิทักษ์ดำรง อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ว่า ในปี 2553 กรมการจัดหางานจะไม่ต่ออายุให้แรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองชาวพม่าทั้งหมดราว 5 แสนคน และจะต้องมีการผลักดันออกนอกประเทศ แต่ขณะนี้ยังสามารถต่ออายุแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ ลาว พม่า และกัมพูชาได้

นอกจากนี้ นายวสันต์ สาทร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองในประเทศไทย 3 สัญชาติ ได้แก่ ลาว พม่า กัมพูชา ราว 5.3 แสนคน ซึ่งรัฐบาลได้มีการผ่อนผันให้ต่ออายุทุก 1 ปีนั้น แบ่งออกเป็น 4 ชุด โดยชุดแรก 8 หมื่นคน จะหมดอายุต่อใบอนุญาตผ่อนผันในวันที่ 20 ม.ค.53 (ที่มา: โพสต์ทูเดย์ http://www.posttoday.com/news.php?id=26829)

แอนดี้ ฮอลล์ ผู้อำนวยการโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) แสดงความเห็นว่า แม้ใบอนุญาตผ่อนผันจะหมดอายุชุดแรกในวันที่ 20 ม.ค.ที่จะถึงนี้ แต่ก็คาดว่ารัฐบาลจะต่ออายุให้ โดยรอผ่าน ครม.ในวันนี้ (12 ม.ค.) และคิดว่าจะไม่เหมือนกรณีส่งกลับม้งลาว เพราะม้งลาวเป็นผู้อพยพที่อยู่ในค่าย ขณะที่แรงงานข้ามชาติ เป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานในประเทศ หากส่งกลับ ก็จะไม่มีคนทำงานที่เสี่ยงแทน การมีแรงงานข้ามชาติอยู่จึงน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า นอกจากนี้ในทางระหว่างประเทศแล้ว หลังจากที่รัฐบาลไทยส่งม้งลาวกลับประเทศเมื่อช่วงปีใหม่ องค์กรระหว่างประเทศต่างก็แสดงความกังวลในประเด็นนี้ ทำให้ประเทศไทยถูกจับตามากขึ้น การส่งกลับแรงงานข้ามชาติจึงไม่น่าจะเป็นผลดี

อย่างไรก็ตาม ที่น่ากังวลคือ นโยบายรัฐบาลที่ระบุว่าคนที่จะต่ออายุบัตร จะต้องพิสูจน์สัญชาติ หากไม่ได้พิสูจน์สัญชาติ รัฐบาลบอกว่าจะส่งกลับทั้งหมดในวันที่ 21 ก.พ. แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่า กรณีคนที่บัตรหมดอายุในวันที่ 20 ม.ค.นั้น รัฐบาลจะส่งกลับทันที หรือรอส่งกลับพร้อมกันในวันที่ 21 ก.พ. ส่วนคนที่ยอมพิสูจน์สัญชาติก็จะขยายเวลาจดทะเบียนไปอีก 2 ปี

แอนดี้กล่าวว่า สำหรับคนที่ไม่ยอมพิสูจน์สัญชาตินั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการกลัวว่า หากกรอกข้อมูลจริงให้รัฐบาลพม่า รัฐบาลจะไปขูดรีดเงินจากครอบครัวที่พม่า บ้างก็กลัวว่าจะได้รับอันตราย เมื่อกลับไปที่ชายแดน นอกจากนี้ หลายคนยังไม่มีเงิน เพราะกระบวนการพิสูจน์ของนายหน้า มีค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 5,000-8,000 บาท ขณะที่จริงๆ แล้ว มีค่าใช้จ่ายเพียง 500 บาทเท่านั้น

แอนดี้ มองว่า ปัญหาเกิดจากรัฐบาลพม่าไม่ยอมพิสูจน์สัญชาติในประเทศไทย ซึ่งกรณีนี้รัฐบาลไทยก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายสูงในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติยังสูงมาก เพราะไม่มีใครควบคุมนายหน้า ดังนั้น รัฐบาลไทยควรที่จะควบคุมนายหน้า ไม่เช่นนั้นจะเกิดการขูดรีดแรงงานข้ามชาติ และต้องประชาสัมพันธ์ข้อมูลเป็นภาษาของแรงงานเหล่านี้ เพื่อให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูล โดยปัจจุบันพบว่าแรงงานข้ามชาติมักได้ข้อมูลจากเพื่อน ซึ่งหลายคนเป็นคนที่เสียประโยชน์ ทำให้ได้ข้อมูลด้านลบ หรือที่ไม่เป็นจริง