เอ็นจีโอแรงงานชี้แนวโน้มปี53 เตือนไทยเลิกเป็นแหล่งผลิตสินค้าถูก เน้นท่องเที่ยวแทนอุตฯ12 .. 53 ประชาไท จรรยา ยิ้มประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย กล่าวถึงปัญหาแรงงานในปีนี้ว่า สถานการณ์คงร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีทิศทางระดับโลก 2-3 ประเด็นที่จะส่งผลต่อทิศทางแรงงานในประเทศไทย ได้แก่ หนึ่ง แนวคิดเรื่องเสรีนิยมใหม่ ที่มากับการทำข้อตกลงการค้าเสรี ซึ่งไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่กลุ่มประเทศอาเซียนเองก็ทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศต่างๆ ซึ่งข้อตกลงเหล่านี้จะมีส่วนกำหนดเรื่องของการคุ้มครองแรงงาน และกรอบกติกาที่ให้การพิทักษ์ทุนค่อนข้างสูง รวมถึงสร้างความยืดหยุ่นในกระบวนการพิทักษ์สิทธิคนงานค่อนข้างสูงเช่นกัน ซึ่งตรงข้ามกับที่คนงานทั้งไทยและทั่วโลกกำลังเรียกร้อง นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่ถูกติดมากับนโยบายของเรา และส่งผลให้กระบวนการเข้ามาพิทักษ์หรือดูแลคนงานของภาครัฐไม่สามารถเป็นไปได้ เพราะจะไปค้านกับกติกาของการค้าเสรี ที่เน้นการสร้างแรงดึงดูดให้ทุนต่างชาติเข้ามา
ประเด็นต่อมา คือ การเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิต โดยบรรษัทข้ามชาติที่ไม่มีโรงงานการผลิตของตัวเอง พยายามที่จะใช้ระบบการจัดการที่ดี และส่งต่อการผลิตต่อไปเรื่อยๆ หรือเรียกว่าเป็น one stop service คือให้กระบวนการตั้งแต่การคิดจนถึงสินค้าไปที่ห้างร้านต้องเชื่อมโยงกันโดยที่ไม่สามารถชะงักได้ เมื่อกระบวนการผลิตต้องเร็วและหยุดไม่ได้ สหภาพแรงงานจึงเป็นอุปสรรค เพราะสามารถสร้างอำนาจต่อรอง โดยหยุดกระบวนการผลิต เพื่อให้นายจ้างมาเจรจาต่อรอง แล้วปฎิบัติตามข้อเรียกร้องของลูกจ้าง นี่คือคำตอบว่าทำไมนายทุนต้องล้มสหภาพแรงงาน หรือล้มความพยายามของคนงานในการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน
จรรยา บอกว่า วิธีการหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการทำให้คนในประเทศโลกใต้ไม่สามารถรวมเป็นสหภาพแรงงานได้ คือการรับเหมาช่วง หรือเหมาค่าแรง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยในสายพานการผลิต บริษัทจะจ้างลูกจ้างประจำไม่ถึง 1 ใน 3 ที่เหลือจะจ้างบริษัทจัดหาคนงาน ให้ส่งคนงานป้อนเข้ามา บางโรงงานมีถึง 7 บริษัทที่ส่งคนงานมานั่งกับลูกจ้างตรง โดยบริษัทจัดหางานจดทะเบียนเป็นอุตสาหกรรมบริการ ขณะที่ตัวบริษัทหลักจดทะเบียนเป็นอุตสาหกรรมการผลิต ทำให้ลูกจ้างที่มาจากบริษัทรับเหมาค่าแรง ไม่สามารถรวมตัวกับคนงานในโรงงานเดียวกันเพื่อตั้งสหภาพแรงงานได้ เพราะนายจ้างเป็นคนละอุตสาหกรรม ลูกจ้างประจำในโรงงานที่มีน้อยกว่าลูกจ้างเหมาช่วง ก็สร้างอำนาจต่อรองไม่ได้ เพราะหากเขาสไตร์ค โรงงานก็ยังทำการผลิตได้ เพราะคนงาน 2 ใน 3 ไม่ได้สไตร์คไปด้วย นี่เป็นปัญหาใหญ่ของทั่วโลกในขณะนี้
ขณะที่ในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า จรรยาเล่าว่า พวกเขาจะใช้ระบบปิดโรงงานใหญ่ เช่น กรณีไทรอัมพ์ โรงงานที่มีคนงาน 3-4 พันคน ปิดโรงงานแทบจะไม่เหลือเลย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่คนงานเยอะ แล้วหันไปใช้ระบบให้เกิดการจัดการกระจายออร์เดอร์ไปตามห้องแถวแทน ซึ่งการจ้างงานแบบนี้ แทบไม่มีการรวมตัวต่อรองของคนงาน ค่าแรงได้น้อยลง และส่วนใหญ่ นายจ้างมักไม่นำพวกเขาเข้าประกันสังคม ทำให้พวกเขาไม่ได้รับการคุ้มครอง นี่เป็นปัญหาที่ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่กระทบกับสหภาพแรงงานทั่วโลก การตั้งสมาชิกใหม่แทบไม่ต้องพูดถึง ตอนนี้สหภาพแรงงานทั่วโลกก็เพียงแค่ดำรงสถานภาพหรือสมาชิกที่มีอยู่ไว้เท่านั้น การตั้งสหภาพแรงงานทั่วโลกแทบไม่มีการเพิ่มขึ้นเลย มีแต่ลดลง หรือว่าทรงตัวเท่านั้น
ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย กล่าวถึงอีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของวิกฤตเศรษฐกิจและภาวะโลกร้อน ที่จะส่งผลต่อจิตวิทยาและการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค คือทำให้ผู้บริโภคตื่นตัวในเรื่องการบริโภคสินค้า โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมค่อนข้างสูง พวกเขาจะหันมาใช้สินค้าตามอายุงาน ใส่ใจกับสินค้าสะอาด หรือที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ทำให้กำลังการซื้อลดลง การผลิตแบบเก่า ที่เน้นผลิตให้ได้มากที่สุด แล้วขายชุดแรกให้ได้ในราคาสูงที่สุด จากนั้นที่เหลือก็ดั๊มพ์ราคาทิ้ง เพราะถือว่าได้กำไรแล้ว จะเจอปัญหา โดยอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าแบบนี้จะเกิดการเลิกจ้างกันมากขึ้น อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ อัญมณี หรืออุตสาหกรรมที่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นในชีวิต
นอกจากนี้ สิ่งที่มากับภาวะโลกร้อนคือวิกฤตการเงิน ที่ทำให้ข้าวยากหมากแพง ค่าครองชีพสูงขึ้น และฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงจะทำให้วงจรการผลิตการซื้อขายเปลี่ยน ซึ่งจะกระทบกับชีวิตของกำลังแรงงาน ในประเทศไทยเอง ลำพังค่าแรงขั้นต่ำก็ไม่เพียงพอที่จะรองรับชีวิตของคนงานและครอบครัวได้
จรรยา เสนอว่า รัฐบาลจะมองเรื่องการเป็นฐานผลิตสินค้าราคาถูก หรือการผลิตชิ้นส่วนเพื่อประกอบเป็นชิ้นไม่ได้อีก เพราะส่วนต่างของผลประโยชน์ต่ำมาก เราได้เฉพาะค่าแรงซึ่งคิดเป็นไม่เกิน 1% ของราคาขาย ขณะที่เสื้อผ้าอยู่ที่ 0.5% ด้วยซ้ำไป ส่วนรัฐเองก็ต้องเข้าไปอุ้มด้วยการลดภาษีนำเข้า เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปได้ เพราะอุตสาหกรรมพวกนี้นำเข้าวัตถุดิบ 60-70% ดังนั้น การรักษางานให้คนกลุ่มหนึ่งด้วยวิธีแบบนี้จึงไม่คุ้มทุนอีกต่อไปแล้ว นอกจากนี้ เมื่อไม่คุ้มทุน ภาวะตลาดผันผวน ทำให้คนงานกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้างสูง และเมื่อพวกเขาทำงานนาน 20-30 ปีก็จะเริ่มมีปัญหาสุขภาพ ซึ่งรัฐไม่เคยมีมาตรการรองรับเลย ทำให้ราคาที่ต้องจ่ายสูงมาก
ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย มองว่า วิธีคิดแบบการตลาด ส่งกำลังแรงงานแลกกับเงินไปซื้อของ ผลิตทุกอย่างแล้วแปรทุกอย่างที่ผลิตเป็นการเงินแล้วจัดซื้อ เป็นวิธีคิดที่เป็นปัญหา ไม่เฉพาะกับไทย แต่เป็นวิกฤตแบบทุนนิยมที่เกิดกับทั่วโลก ขณะที่ประเทศไทยมีศักยภาพให้มนุษย์อยู่ในประเทศไทยได้อย่างอุดมสมบูรณ์ในเชิงอาหาร ดังนั้น น่าจะต้องมองเศรษฐกิจทิศทางใหม่ โดยอาจเป็นเศรษฐกิจพอเพียงก็ได้ เพราะปรัชญาการดำรงชีวิตที่มีมานานเป็นพันๆ ปีนี้ทำให้คนเข้าใจวิถีการพึ่งตนเอง เป็นเศรษฐกิจเพื่ออยู่เพื่อกิน ต่างจากการเอาค่าแรงไปแลกเงิน ซึ่งไม่พอ ทั้งยังทำให้ช่องว่างคนจนรวยสูงมากขึ้นด้วย
สำหรับการต่อสู้ของคนงานในปีนี้ จรรยาบอกว่า เป็นการเรียกร้องให้กฎหมายคุ้มครองคนงานมากขึ้น อาทิ การเรียกร้องให้รัฐบาลลงนามในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และ 98 เรื่องสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง ซึ่งนี่จะเป็นหัวใจของการคุ้มครองคนงานในโลกของการค้าเสรี เพราะรัฐแทบไม่มีอำนาจต่อรองกับทุน แต่ทุนต้องรองรับกติกาของไอแอลโอและสหประชาชาติ ดังนั้น การให้สัตยาบันจะวางบรรทัดฐานให้คนงาน มีกรอบกติกาสู้กับทุนได้บ้าง
นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ต้องแก้ไข เพื่อไม่ให้มีการเลือกปฎิบัติ โดยคุ้มครองแรงงานทุกระดับ เช่น กฎหมายประกันสังคม ที่ควรขยายไปสู่แรงงานที่ไม่สามารถระบุสถานภาพได้ เช่น แรงงานนอกระบบ คนทำงานตามบ้าน ให้ได้รับการคุ้มครอง กลุ่มผู้สูงอายุและเกษตรกร ที่ไม่เคยมีหลักประกัน กฎหมายเกี่ยวกับสถานเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ เพื่อให้แม่และเด็กได้อยู่ด้วยกัน รวมถึง พ.ร.บ.เกี่ยวกับสถาบันความปลอดภัยของกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานด้วย
ส่วนปัญหากรณีอุตสาหกรรมหนักในมาบตาพุด ที่เป็นประเด็นร้อนแรงเมื่อปลายปีที่แล้ว จรรยา บอกว่า รัฐบาลควรต้องมีวิสัยทัศน์มากกว่านี้ ไม่ควรจะต้องให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างอุตสาหกรรมที่ไม่มีสารเคมีกับการจ้างงาน โดยยกตัวอย่างประเทศในยุโรป ที่แต่เดิมก็เป็นอุตสาหกรรมหนัก แต่ต่อมา เมื่อมีการท้วงติง ก็เปลี่ยนถ่ายจากอุตสาหกรรมที่มีสารพิษ มาเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
เธอเสนอให้ทำความสะอาดภาคตะวันออก ซึ่งมีดินที่ดี และพื้นที่ที่ถูกซื้อไปก็ยังไม่ถูกใช้ โดยฟื้นวิถีเกษตร และธรรมชาติ รวมถึงพัฒนาภาคตะวันออกไปสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การบริการ และการศึกษา
นอกจากนี้แล้ว จรรยาเสนอว่า อีกประเด็นที่รัฐบาลจะต้องจัดการก็คือ ตรวจสอบขบวนการมาเฟียที่ผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมหนักในพื้นที่ และเตือนว่า อย่าอ้างตัวเลขคนที่จะตกงานเป็นตัวประกัน เพราะท้ายที่สุด รัฐก็ไม่สามารถช่วยเหลือคนงานเหล่านั้นได้ เมื่อทุนย้ายไป |