Thai / English

หวั่น “นักเคลื่อนไหวทางการเมือง-คนในพื้นที่ขัดแย้งของพม่า” พิสูจน์สัญชาติไม่ได้



24 .. 52
ประชาไท

วงเสวนาแรงงานข้ามชาติสะท้อนถึงปัญหา แม้นโยบายต่างๆ ของไทยจะดีขึ้นแต่ยังไม่ดีที่สุด พบการเลือกปฏิบัติ-สื่อสารกันไม่ได้ และนายจ้างกุมชะตาแรงงานไว้ส่วนใหญ่ รวมถึงการพิสูจน์สัญชาติที่อาจมีปัญหาทั้งเรื่องการไม่มีสถานภาพที่ฝั่งพม่าอยู่แล้ว เช่น กลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้ง รวมถึงแอคทิวิสต์พม่าที่กลัยประเทศไปพิสูจน์สัญชาติไม่ได้

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2552 ที่ฮอไรซอนวิลเลจรีสอร์ท อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ได้มีการจัดงานสัมมนา “Migrant Workers” และ “Gender Mainstreaming” จัดโดยองค์กร Diakonia โดยมีคนทำงานด้านแรงงานจากไทยและพม่าร่วมเข้าแลกเปลี่ยนปัญหา

กระบวนการค้ามนุษย์ แรงงานข้ามชาติ

จรรยา ยิ้มประเสริฐ โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ได้นำเสวนาในปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์และแรงงานข้ามชาติ โดยกล่าวว่าในการพูดถึงเรื่องแรงงานข้ามชาติในอาเซียนนั้นเราต้องพูดถึงประเด็นประชาธิปไตย และการเชื่อมโยงกับโลก เช่น การทำงานของกลุ่มนักเคลื่อนไหวเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติจากพม่า กลุ่มที่ทำกิจกรรมเรื่องการรณรงค์ประชาธิปไตยในพม่าก็มีความเชื่อมโยงทั้งในภูมิภาคอาเซียน เอเชีย ยุโรป และอเมริกา และเรื่องประเด็นแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคนั้นไม่ใช่แค่ประเด็นจากแรงงานพม่า ลาว กัมพูชา ที่เข้ามาขายแรงงานในประเทศไทย เพราะแม้แต่ไทยเองยังส่งคนออกไปทำงานที่ต่างประเทศ เช่นกรณีคนงานไทยที่ไปทำงานที่ สวีเดน สเปน เป็นต้น

ในประเด็นเรื่องประชาธิปไตยนั้นพบว่าแม้แต่ไทยหรือพม่านั้นไม่สามารถกำหนดได้ด้วยตนเอง ทำไมประชาธิปไตยในพม่ายังไม่เกิด ทั้งๆ ที่นักเคลื่อนไหว องค์กรเกี่ยวกับการรณรงค์ประชาธิปไตยให้แก่พม่า ก็มีการเคลื่อนไหวทั่วโลก แต่ก็ยังไม่สามารถกดดันให้พม่ามีประชาธิปไตยได้ หรือแม้แต่อาเซียนทั้งๆ ที่ได้รับพม่าเข้ามาเป็นสมาชิก อาเซียนในปี ค.ศ.1997 แต่เมื่อลองดูในปัจจุบันเราจะเห็นว่าอาเซียนไม่สามารถกดดันให้พม่ามีประชาธิปไตย ทั้งนี้การที่ทำให้คนต้องย้ายถิ่นเพื่อหางานนั้น พบว่านอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว เรื่องปัญหาการเมืองก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนต้องย้ายถิ่นฐาน

โดยจรรยากล่าวว่าในการทำกิจกรรมด้านพม่านั้น เราต้องมีการเชื่อมกันระหว่างโลกเข้าด้วยกัน การตามเฉพาะประเด็นปัญหาประชาธิปไตยที่มีรากเหง้าจาก 20 กว่าปีก่อน (ค.ศ.1988) อย่างเดียวไม่ได้โดยหากไม่ตามกระแสโลกว่าไปถึงไหนแล้ว ซึ่งในประเด็นแรงงานข้ามชาตินั้น พบว่าปัจจุบันปัญหาแรงงานข้ามชาติก็อยู่ในกระบวนการค้ามนุษย์ระดับโลก และก็มีแรงงานข้ามชาติจากพม่าอยู่ทั่วโลก

ในระดับอาเซียนเราต้องทำให้อาเซียนตื่นตัวเรื่องการค้าแรงงาน โดยคนไทยเองก็มีปัญหาเช่นเดียวกับแรงงานจากพม่าโดยเฉพาะเรื่องปัญหาทางภาษา ทำให้แรงงานไทยที่จะไปทำงานต่างประเทศจะต้องผ่านกระบวนการนายหน้า กระบวนการอำนวยการต่างๆ เพื่อที่จะให้แรงงานไปถึงประเทศปลายทางหลายทอด ส่วนแรงงานจากพม่าการเดินทางกว่าจะไปหางานยังแหล่งที่มีค่าแรงสูง (เช่น กรุงเทพฯ) ก็ต้องผ่านกระบวนการแบบนี้เช่นเดียวกันหลายทอด โดยรัฐบาลพม่าเองก็เริ่มมีการส่งเสริมให้คนของตนออกไปทำงานต่างประเทศเพื่อเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆ เข้ารัฐ บ้างแล้ว

โดยระบบนายหน้านี้เป็นปัญหาใหญ่ของแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทย พม่า ลาว กัมพูชา โดยแรงงานจากประเทศทั้ง 3 นี้ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร และประจวบเหมาะที่นโยบายของรัฐบาลทั้ง 3 ก็เหมือนเป็นการบีบให้คนออกจากภาคเกษตรสู่ภาคต่างๆ (อุตสาหกรรม, บริการ) ทำให้ขบวนการค้ามนุษย์ แรงงานข้ามชาติฉกฉวยประโยชน์ได้ โดยมีการโฆษณาชวนเชื่อเกินจริงในหลายพื้นที่ตามชนบทให้ไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งลักษณะการทำงานของแรงงานข้ามชาติก็อย่างที่รู้กันว่าประสบกับความยากลำบาก เช่น ถูกกดขี้จากนายจ้าง ค่าแรงต่ำ รวมถึงแรงงานข้ามชาติหลายคนต้องทำงานหลายอย่างไปพร้อมกัน อย่างแรงงานหญิงที่เป็นแรงงานข้ามชาติต้องทำงานทั้งในโรงงาน ทำงานบ้าน รวมถึงถูกล่วงละเมิดทางเพศจากนายจ้างอีกด้วย

ทั้งนี้การเรียกร้องให้รัฐบาลไทยมีนโยบายคุ้มครองแรงงานข้ามชาติให้ดีขึ้น ก็มักจะมีการอ้างเรื่องชาตินิยมว่ายังมีคนไทยที่ทำงานต่างประเทศที่ต้องให้ความช่วยเหลือก่อน แต่ในความเป็นจริงแล้วแรงงานไทยในต่างประเทศก็ไม่ได้รับการคุ้มครองหรือช่วยเหลือเมื่อแรงงานเกิดปัญหา

จรรยาได้กล่าวว่าอย่างไรหากแรงงานข้ามชาติมีการรวมตัวกันจะมีอำนาจในการต่อรอง เช่นเมื่อแรงงานพม่ารวมตัวกันแล้วออกมาเรียกร้องว่าถูกเอาเปรียบยังไง แต่ต้องสร้างความสมานฉันท์สร้างขบวนการร่วมกันเพื่อเคลื่อนไหวร่วมกับสหภาพแรงงานไทย และต้องมีการเชื่อมกับขบวนการระดับโลกถึงจะมีพลังมาก

แอ็คทิวิสต์พม่าหวั่น “นักเคลื่อนไหวทางการเมือง-คนในพื้นที่ขัดแย้ง” พิสูจน์สัญชาติไม่ได้

โดยในระหว่างการบรรยาย ผู้เข้าร่วมสัมมนาซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนและแรงงานข้ามชาติจากทั้งไทยและพม่า ได้พูดถึงปัญหาอุปสรรคในการทำงาน เช่น การช่วยเหลือกรณีเป็นกรณีๆ ไปนั้นมีหลายองค์กรสามารถทำได้ดี แต่พบว่าเมื่อมีการพยายามทำให้องค์กรและตัวแรงงานข้ามชาติมีความยั่งยืนในการการต่อสู้ระยะยาว การตั้งสหภาพแรงงาน การสร้างการต่อรองกับรัฐบาลไทยโดยตัวแรงงานข้ามชาติเอง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ขาดหายไป รวมถึงการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานที่แรงงานข้ามชาติยังคงขาดความเข้าใจ

รวมถึงเรื่องสำคัญของประเทศไทยคือเรื่องนโยบายของรัฐและสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมากนักของไทยมีการนำแรงงานข้ามชาติไปเป็นเครื่องมือทางการเมือง มีการใส่ร้ายแรงงานข้ามชาติไปอยู่ข้างฝ่ายปฏิปักษ์กับรัฐบาล โดยคนของรัฐบาลเองที่ได้ให้ข่าวว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงจะมีแรงงานข้ามชาติเข้าร่วมด้วย รวมถึงการปราบปรามแรงงานข้ามชาติ

ซึ่งปัจจุบันพบว่านอกจากรัฐจะมองแรงงานข้ามชาติเป็นปัญหาเรื่องความมั่นคงแล้ว ปัจจุบันกลับมีการนำแรงงานข้ามชาติมาเป็นประเด็นทางการเมืองอีกด้วย โดยหากจะพูดถึงเรื่องแรงงานข้ามชาตินั้นเราจะหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องประชาธิปไตยในประเทศไทยเองด้วยก็ไม่ได้

ในปัญหาเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานข้ามชาตินั้น แอ็คทิวิสต์พม่าได้สะท้อนว่าถึงแม้เรื่องสิทธิต่างๆ ของแรงงานข้ามชาติจะดีขึ้นกว่าเดิม เช่น เรื่องสุขภาพ เรื่องสถานภาพ ดีขึ้นกว่าหลายปีที่ผ่านมาแต่ก็ยังไม่สมบูรณ์ที่สุดที่แรงงานข้ามชาติควรได้รับตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยปัญหาที่สำคัญของแรงงานจากพม่าก็คือเรื่องการควบคุมของนายจ้างการเอาเปรียบจากนายจ้าง การเปลี่ยนนายจ้างมีอุปสรรค รวมถึงแรงงานเองขาดความรู้ความเข้าใจในสิทธิของตนเองว่าสามารถทำอะไรได้บ้างทำให้นายจ้างยิ่งได้เปรียบขึ้นไปอีก โดยคาดว่าแรงงานข้ามชาติกว่า 90% ที่ยังไม่มีความรู้เรื่องสิทธิของตนเอง

รวมถึงเรื่องสิทธิต่างๆ ที่ดูเหมือนดีขึ้นอย่างเรื่องการรักษาพยาบาลแต่เอาเข้าจริงแล้วยังคงถูกเลือกปฏิบัติอยู่รวมถึงเรื่องการติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานต่างๆ และปัญหาการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานของแรงงานข้ามชาติเองยังไม่สามารถทำได้มากนัก เนื่องจากกฎหมายทำไม่รับรอง ทำให้แรงงานข้ามชาติทำได้เพียงแค่รวมตัวกันเป็นกลุ่มช่วยเหลือกันเท่านั้น

ส่วนในประเด็นเพศนั้นก็ยังคงพบความไม่เท่าเทียม เช่น แรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้หญิงยังได้รับค่าแรงต่ำกว่าแรงงานชาย หรือลักษณะการทำงานที่ไม่เหมือนกันเช่นโรงงานปลาผู้หญิงจะต้องทำงานที่ซ้ำซาก กว่า เช่น ยืนขูดปลาทั้งวัน เป็นต้น

ในเรื่องการพิสูจน์สัญชาติชาตินั้นพบว่าเรื่องการขาดหลักฐานต่างๆ ซึ่งหากเป็นคนที่อยู่ในเมืองใหญ่นั้นจะมีหลักฐานชัดเจน ส่วนคนที่อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งจะมีปัญหาเช่น ในเขตของไทใหญ่ ในเขตพื้นที่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อย รวมถึงแอคทิวิตส์จากพม่าที่รัฐบาลมองว่าเป็นผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองก็ไม่สารมารถกลับไปพิสูจน์สัญชาติที่พม่าได้ (ประมาณการไว้ 10,000 คน) และเมื่อก่อนนั้นหากลูกของรงงานข้ามชาติที่เกิดในเมืองไทยยังสามารถมีสถานภาพตามกฎหมายได้ในพม่า แต่หากหลังสิ้นสุดนโยบายพิสูจน์สัญชาตินี้แล้วเกรงว่าอาจจะไม่เป็นเหมือนเดิม

ทั้งนี้เมื่อย้อนไปที่การพูดคุยกันเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 52 ในวันแรงงานข้ามชาติสากล ที่กรุงเทพฯ โดยองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานข้ามชาติต่างๆ ได้นำประเด็นการพิสูจน์สัญชาตินี้มาเป็นประเด็นหลัก โดยเห็นร่วมกันว่าควรยืดระยะเวลาให้มากกว่านี้ เพราะหากไม่ให้เวลาที่เหมาะสม ก็จะพบกับปัญหาต่างๆ เช่น การทุจริตและรีดไถแรงงานโดยอาศัยความกลัวของแรงงานที่จะพิสูจน์สัญชาติไม่ทัน การไม่สะดวกในการเดินทาง เป็นต้น ทั้งนี้การพูดคุยกันขององค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานข้ามชาติเห็นสมควรว่าควรมีการยืดระยะเวลาไปอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งมีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะยืดเวลานโยบายนี้ออกไปด้วย