Thai / English

ความล้มเหลวของรัฐบาล ต่อการเคารพสิทธิมนุษย์แรงงานข้ามชาติ


จารุวัฒน์ เกยูรวรรณ โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย
18 .. 52
ประชาไท

จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2551 เรื่อง การรับรองประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะสำหรับคนต่างด้าวชาวพม่า โดยเป็นการยกเว้นของแรงงานชาวพม่าที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยในกรณีพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 19 มกราคม 2551 ที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับ ซึ่งจากนโยบายนี้ ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติชาวพม่า ที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ เพื่อเปลี่ยนสถานะจากแรงงานผิดกฎหมายหลบหนีเข้าเมือง มาเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย ซึ่งจะต้องดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้เสร็จเรียบร้อยภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 หลังจากนั้นหากแรงงานที่ไม่พิสูจน์สัญชาติ หรือพิสูจน์สัญชาติไม่ผ่านจะถูกส่งกลับประเทศต้นทาง

แต่นโยบายนี้ได้สะท้อนจุดอ่อนของความไม่รอบคอบและไม่คำนึงถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานข้ามชาติของรัฐบาลไทยในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนแรกสุดคือการประชาสัมพันธ์รายละเอียดต่างๆให้กับแรงงานข้ามชาติได้รับรู้โดยทั่วถึง แต่ปรากฏว่าแรงงานไม่รู้ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ มากนัก ส่งผลให้บริษัทนายหน้าที่รับอาสานำพาแรงงานไปพิสูจน์สัญชาติอาศัยช่องว่างในเรื่องนี้เรียกเก็บเงินจากแรงงานในอัตราที่สูง จากขั้นตอนต่างๆ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับรายได้ซึ่งน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำและมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานมากกว่า 8 ชั่วโมง จึงเป็นสัดส่วนที่สูงมาก ซึ่งอาจจะมากกว่าค่าแรงถึง 2 เดือน

อย่างกรณีแรงงานชาวพม่าคนหนึ่ง ทำงานประกอบเฟอร์นิเจอร์ย่านพระโขนง มาประมาณ 7 ปี และได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติเรียบร้อยแล้ว ต้องเสียค่าบริการทั้งหมด เป็นจำนวนเงิน 10,550 บาท จาก 7 ขั้นตอน คือ

1.ค่ากรอกเอกสารในการพิสูจน์สัญชาติที่กระทรวงแรงงาน โดยเป็นค่าบริการการเขียนให้กับบุคคลซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใคร และไม่มีใบเสร็จ จำนวน 700 บาท

2.ไปลงทะเบียนกับบริษัทนายหน้าที่นำพาแรงงานไปพิสูจน์สัญชาติที่ชายแดน 250 บาท

3.ค่ารถสำหรับเดินทางไปกลับชายแดน โดยเสียให้กับบริษัทนายหน้า 3100 บาท

4.ค่าใช้จ่ายในการข้ามแดนฝั่งไทย 1500 บาท

5.ค่าทำหนังสือเดินทางฝั่งพม่า 3 ปี 700 บาท

6.ค่าหนังวิซ่าฝั่งไทย 600 บาท

7.ค่าใบอนุญาตทำงาน 2 ปี 3600 บาท และค่าทำเนียม 100 บาท โดยกระทรวงแรงงาน

การเสียค่าใช้จ่ายดังกล่าวตัวแรงงานไม่ทราบเลยว่ากระทำไปโดยถูกต้องตามระเบียบของรัฐบาลไทยหรือไม่และก็ไม่ทราบอีกว่าบุคคลที่เรียกเก็บเงินในขั้นตอนต่างๆ เป็นเจ้าหน้ารัฐหรือไม่ โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดแรงงานจะต้องจ่ายเอง หรือนายจ้างอาจจะออกให้ก่อนและเก็บจากแรงงานเป็นงวดๆ ตัวเลขการเสียค่าใช้จ่ายที่สูงมากขนาดนี้ เป็นสิ่งสะท้อนกระบวนการจัดการของภาครัฐที่ไม่มีความชัดเจน ร่วมถึงการดำเนินการของบริษัทนายหน้าที่ไม่มีการดำเนินงานที่โปร่งใส

นอกจากนี้รัฐบาลยังไม่มีแนวทางหรือนโยบายที่ชัดเจนว่าเมื่อครบกำหนดการอนุญาตทำงานไปแล้ว 2 ปี จะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไปสำหรับแรงงานเหล่านี้ จะต่ออายุการอนุญาตทำงานได้หรือไม่ และถ้าต่อได้มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้หรือไม่ การเข้าถึงประกันสังคม และกองทุนทดแทน มีรายละเอียดอย่างไร

ในส่วนกรณีบุคคลที่ไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติรัฐบาลไทยจะมีนโยบายอย่างไร เนื่องจากแรงงานพม่าจำนวนมากไม่มีหมายเลขประจำตัว และที่อยู่ที่ชัดเจน เพราะอยู่ในสถานการณ์สู้รบมายาวนาน และยังมีผู้ลี้ภัยการเมืองและสงครามภายในอีกเป็นจำนวนมาก ที่ต้องหลบหนีการสู้รบและการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยบางส่วนของกลุ่มคนเหล่านี้ได้เขามาทำงานในฝั่งไทย โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธ์ที่กำลังสู้รบกับรัฐบาลพม่า (ไทใหญ่ กะเหรี่ยง) ร่วมถึงนักกิจกรรมทางการเมืองและสิทธิมนุษยชน หรือกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องอคติเชื้อชาติ เช่น กลุ่มโรฮิงยา

ข้อกังวลต่อความปลอดภัยจากรัฐบาลทหารพม่า

เป็นที่ทราบกันดีถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลทหารพม่าที่มีต่อชาวพม่าและกลุ่มชาติพันธ์ในการพิสูจน์สัญชาติแรงงานที่มาจากพม่าจำเป็นต้องกรอกรายละเอียด เกี่ยวกับประวัติของตนเองทั้งหมด เพื่อใช้สำหรับการตรวจสอบของรัฐบาลทหารพม่า เช่น ที่อยู่ ชื่อพ่อ-แม่ ชื่อสกุลของตนเอง และก็เลขประจำตัวของประเทศพม่า

มีข่าวลือที่มีโอกาสเป็นไปได้ว่ามีแรงงานที่เดินทางไปพิสูจน์สัญชาติในฝั่งพม่า จะถูกจับและถูกรีดไถเงิน ทั้งจากตัวแรงงานเองและจากพ่อแม่ของตัวแรงงาน ส่งผลให้เกิดความกังวลในเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางไปพิสูจน์สัญชาติของแรงงานชาวพม่าและกลุ่มชาติพันธ์ โดยเฉพาะกลุ่มที่กำลังสู้รบกับรัฐบาลทหารพม่าอยู่ในปัจจุบัน เพราะที่ผ่านองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มได้ออกมาพูดถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่าในหลายกรณี ซึ่งสะท้อนถึงความไม่น่าเชื่อถือว่ารัฐบาลทหารพม่าจะปฏิบัติต่อแรงงานด้วยความยุติธรรม ดังเช่นรายงาน “ใบอนุญาตข่มขืน” ที่เป็นทึกการทารุณกรรมทางเพศต่อผู้หญิงในรัฐฉาน จัดทำโดยมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทยใหญ่ และเครือข่ายสตรีไทใหญ่ เมื่อหลายปีก่อน

กระบวนการรีดไถ ถ้าเกิดขึ้นจริงกับตัวแรงงานและญาติพี่น้องของแรงงานในประเทศพม่า มันจะเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะจะไม่มีใครทราบว่ากระบวนการจะดำเนินต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน กล่าวคือ อาจจะมีการเก็บเป็นประจำรายเดือน รายปี ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ในประเทศพม่า

ในการเผยแพร่ข้อมูลในเวปไซต์ของชาวไทใหญ่ ว่ามีหลักฐานที่มีผู้ยืนยันว่าถูกเจ้าหน้าที่ทางการพม่า รีดไถ

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2552 ที่เวียงเมืองง่อ (ขอสงวนชื่อหมู่บ้าน) จังหวัดจ้อกแม รัฐฉาน(เมืองไต) ภาคเหนือ หลังจากรายชื่อผู้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติได้ส่งต่อไปยังเนปีดอร์ และจากเนปีดอร์ไปถึงครอบครัวแรงงานที่ผ่านการพิสูจน์แล้วในเมืองง่อ จังหวัดจ้อแม เจ้าหน้าที่ทางการพม่าในพื้นที่ ได้เรียกครอบครัวที่มีบุตรหลานไปทำงานในประเทศไทย ราว 200 กว่าครอบครัว และประชุมให้รับทราบว่า ทางครอบครัว ผู้ผ่านการพิสูจน์แล้วที่ทางการส่งรายชื่อมาให้นั้น จะต้องเสียค่ารับรองให้ กับทางการคนละ 50,000 จ้าด (ไม่มีรายละเอียดว่า เสียครั้งเดียวหรือรายเดือน หรือรายปี) นี้คือข้อมูลที่พ่อ แม่ของบุต หลานที่เป็นแรงงานซึ่งพิสูจน์สัญชาติผ่านแล้ว ได้เล่าเหตุการณ์ผ่านโทรศัพท์ทางไกลให้ฟัง และยังเตือน ถึงผู้ใช้แรงงาน ที่ยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติว่า อย่าไปพิสูจน์กัน อย่าไปให้ข้อมูลส่วนบุคคลในการพิสูจน์สัญชาติ เพราะว่า จะส่งผลกระทบในด้านลบต่อครอบครัว คือจะถูกเรียกเก็บเงิน และมีข้อมูลมาว่าบางอำเภอ บางหมู่บ้าน ในจังหวัดจ้อกแม ยังโดนเก็บเงินเป็นหัวละแสนจ้าดก็มี เจ็ดหมื่นจ้าดก็มีเนื่องจา การเปิดเผ ข้อมูล ชื่อหมู่บ้านที่แน่นอน จะเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของครอบครัว หรือหมู่บ้านดังกล่าวจึงขอสงวน ชื่อหมู่บ้านไว้

ที่มา : http://www.shaninform.org/News/2009/oct_09/passport.php

ดังนั้นถ้ารัฐบาลมีความจริงใจในการเคารพสิทธิมนุษยชนสากลจะต้องนำนโยบายการพิสูจน์มาทบทวนใหม่ให้รอบคอบโดยการฟังความคิดเห็นจากหลายๆฝ่ายโดยเฉพาะจากตัวแรงงานข้ามชาติเอง และจะต้องยืดเวลาการพิสูจน์สัญชาติที่จะครบกำหนดในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นี้ออกไปอย่างไม่มีกำหนด และหยุดนำแรงงานข้ามชาติมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการเล่นงานฝ่ายตรงข้าม ดังเช่นที่ผ่านมา

ขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติ

1. การประชาสัมพันธ์และส่งแบบพิสูจน์สัญชาติให้กับจัดหางานในพื้นที่

2. แรงงานชาวพม่ากรอกข้อมูลในแบบฟอร์มการพิสูจน์สัญชาติพม่าทั้งภาษาไทยและภาษาพม่า

3. นายจ้างหรือสถานประกอบการส่งแบบพิสูจน์สัญชาติพม่าให้กับสำนักงานจัดหางาน จังหวัดหรือสำนักจัดหา งานกรุงเทพมหานครเขตพื้นที่ 1 - 10

4. สำนักงานจัดหางานจังหวัดหรือสำนักจัดหางานกรุงเทพมหานครเขตพื้นที่ 1 - 10 จัดส่งแบบพิสูจน์สัญชาติพม่าให้กับกรรมการจัดจ้างแรงงานข้ามชาติ

5. กรมการจัดหางานส่งแบบพิสูจน์สัญชาติชาวพม่าให้กับทางการพม่าตรวจสอบข้อมูล

6. ทางการพม่าแจ้งผลการตรวจสอบข้อมูลแรงงานชาวพม่าให้ฝ่ายไทยทราบ

7. การจัดทำแผนกำหนดการพิสูจน์สัญชาติพม่า แจ้งสำนักงานจัดหางานจังหวัดหรือสำนักจัดหางานกรุงเทพมหานครเขตพื้นที่ 1 - 10 และแจ้งให้นายจ้าง สถานประกอบการ หรือลูกจ้างทราบ

8. นายจ้างหรือผู้รับมอบอำนาจนำแรงงานพม่าไปเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติตามวัน เวลา สถานที่ ที่กำหนด

9. ศูนย์ประสานการพิสูจน์สัญชาติรับรายงานตัวแรงงาน

10. แรงงานชาวพม่าเดินทางไปพิสูจน์สัญชาติ ณ เมืองท่าขี้เหล็ก เมียวดี เกาะสอง

11. การตรวจลงตราและประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว

12. การตรวจสุขภาพแรงงานข้ามชาติ ณ สถานพยาบาลของรัฐ หากมีการตรวจสุขภาพแล้ว ไม่ต้องตรวจซ้ำอีก

13. แรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงาน

14. ส่งข้อมูลแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ และ ขอรับใบอนุญาตทำงานให้

ความผิดและโทษเกี่ยวกับการทำงานของแรงงงานต่างด้าวตามพระราชบัญญัติการทำงานของคน ต่างด้าวพ.ศ. 2551

บทลงโทษกรณีแรงงานทำการฝ่าฝืน

(1) ทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต (มาตรา 51) คนต่างด้าวผู้ใดทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในกรณีที่คนต่างด้าวซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามวรรคหนึ่งยินยอมเดินทางกลับออกไปนอกราชอาณาจักรภายในเวลาที่พนักงานสอบสวนกำหนดซึ่งต้องไม่ช้ากว่า 30 วัน พนักงานสอบสวนจะเปรียบเทียบปรับและดำเนินการให้คนต่างด้าวนั้นเดินทางกลับออกไปนอกราชอาณาจักรก็ได้

(2) ไม่ทำงานตามประเภทหรือลักษณะงานและกับนายจ้าง ณ ท้องที่หรือสถานที่และเงื่อนไขตามที่ได้รับอนุญาต (มาตรา 26 วรรค แรก) ปรับไม่เกิน 20,000 บาท (มาตรา 52)

(3) ไม่มีใบอนุญาตทำวานอยู่กับตัว หรืออยู่ ณ สถานที่ทำงานในระหว่างเวลาทำงานเพื่อแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือนาย ทะเบียน (มาตรา 24) ปรับไม่เกิน 10,000 บาท (มาตรา 53)