Thai / English

นายจ้างและแรงงานพม่ากังวลกับนโยบายพิสูจน์สัญชาติ



18 .. 52
ประชาไท

นายจ้างไทยกำลังวิตกกังวลต่อการนำแรงงานไปพิสูจน์สัญชาติแล้วจะถูกผลักดันออกนอกประเทศ จากคำกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ด้านแรงงานพม่าไม่ไว้ใจการบริการที่มีประสิทธิภาพของฝั่งพม่าเอง เนื่องจากแรงงานทุกคนจะต้องเดินทางกลับไปดำเนินการด้วยตนเองที่ประเทศพม่าภายในวันที่ 28 ก.พ. 53 นี้

เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 52 นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการเดินทางไปตรวจเยี่ยมศูนย์ประสานการพิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่า อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ในวัน 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่าเป็นการตรวจดูความคืบหน้าการพิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่า พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ให้อำนวยความสะดวกให้กับนายจ้างและลูกจ้างที่เดินทาง มาพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายใน 1 วัน เนื่องจากที่ทำงานส่วนใหญ่อยู่ไกล อาทิ จังหวัดระยอง ชลบุรี สมุทรสาคร เป็นต้น ซึ่งการตรวจเยี่ยมในครั้งนี้พบว่านายจ้างพาลูกจ้างมาพิสูจน์สัญชาติเพียงวัน ละ 80 ราย ขณะที่ความสามารถในการพิสูจน์สัญชาติแต่ละจุดทำได้ถึงวันละ 200 ราย ทั้งนี้ เนื่องมาจากนายจ้างและลูกจ้างเกรงว่าเมื่อมาพิสูจน์สัญชาติแล้วจะไม่ได้กลับ เข้าไปทำงานและเกรงว่าญาติจะถูกเรียกเก็บภาษีในราคาที่สูง ซึ่งเอกอัครราชทูตพม่า ประจำประเทศไทย ที่เดินทางไปตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ด้วย ได้ยืนยันกับนายจ้างและลูกจ้างที่เป็นแรงงานพม่าว่า จะไม่มีการเรียกเก็บเงินภาษีจากญาติของแรงงานแน่นอน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า การพิสูจน์สัญชาติที่จะครบกำหนดในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 นั้น ดูจากรูปการณ์แล้วคงไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติให้แรงงานพม่าได้ทัน ซึ่งต้องรอดูยอดการพิสูจน์สัญชาติก่อนว่าจะมีจำนวนเท่าใด แล้วค่อยหามาตรการรองรับอีกครั้งว่าจะขยายเวลาการเปิดพิสูจน์สัญชาติออกไปหรือไม่

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่ผ่านมากลุ่มเครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Worker Rights Network: MWRN) ซึ่งประกอบไปด้วยแรงงานข้ามชาติในเขตจังหวัดสมุทรสาคร ได้จัดเสวนาในหัวข้อการพิสูจน์สัญชาติแรงงานจากพม่า โดยมีแรงงานข้ามชาติกว่า 350 คนเข้าร่วมการเสวนา โดยปัญหาของแรงงานส่วนใหญ่ คือความกังวลต่อกระบวนการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาลพม่า ซึ่งเป็นผลทำให้การพิสูจน์สัญชาตินี้ล่าช้า เพราะในการพิสูจน์สัญชาติครั้งนี้เป็นปฏิบัติการร่วมกันของรัฐบาลทั้งสองประเทศ และแรงงานทุกคนจะต้องเดินทางกลับไปดำเนินการด้วยตนเองที่ประเทศพม่าภายในวันที่ 28 ก.พ. 53 นี้

อนึ่งไทยและสหภาพพม่า ได้ลงนามร่วมกันในการพิสูจน์สัญชาติและการนำเข้าแรงงานพม่า หวังลดปัญหาการหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย พร้อมทำความเข้าใจแรงงานพม่าให้เร่งดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้ได้ทั้งหมดภายในต้นปี 2553 แต่ทั้งนี้พบว่ามีความล่าช้าเมื่อเทียบกับการพิสูจน์สัญชาติของแรงลาวและกัมพูชา

ทั้งนี้ทางการไทยเสนอให้ลดค่าธรรมเนียมตรวจลงตราวีซ่าแก่แรงงานพม่า 1 หมื่นคนแรกที่เข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย จากเดิม 2 พันบาทให้เหลือเพียง 500 บาท ซึ่งจะมีผลหลังจากผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ส่วนขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาตินั้น แรงงานทุกคนจะต้องเดินทางกลับไปดำเนินการด้วยตนเองที่ประเทศพม่าภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 โดยมีค่าธรรมเนียมไม่เกิน 1,000 บาท ทั้งนี้ ได้มีการขอความร่วมมือไปยังสถานทูตพม่าประจำประเทศไทย ให้ตีพิมพ์เอกสารทำความเข้าใจไปยังแรงงานพม่าตามสถานประกอบการต่างๆ