Thai / English

แรงงานข้ามชาติจากพม่าไม่ยังไม่มั่นใจกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ



10 .. 52
ประชาไท

หวั่นถูกรัฐบาลพม่าจับเมื่อกลับไปพิสูจน์สัญชาติ เผยค่าพิสูจน์สัญชาติเริ่มต้นที่ 6,000 บาท ไม่รวมค่าจ้างบริษัทจัดหางาน และค่าเดินทางกลับไปทำวีซ่าในพม่า ด้านตัวแทน มสพ. เผยปัญหาแรงงานข้ามชาติจดทะเบียนเจ้าของรถไม่ได้ เปิดช่องให้จ่ายค่าปรับอาน ล่าสุดกรมการขนส่งทางบกอนุญาตให้สามารถจดทะเบียนรถและทำใบขับขี่ได้ โดยขั้นตอนอยู่ในระหว่างร่างกฎกระทรวงเพื่อให้สามารถทำใบขับขี่ได้

วานนี้ (9 พ.ย. 52) ที่ห้องประชุมสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มสหพันธ์คนงานข้ามชาติ กลุ่มแรงงานสามัคคี และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ร่วมจัดการประชุมการพิสูจน์สัญชาติและนโยบายการใช้รถจักรยานยนต์ของแรงงานข้ามชาติ โดยรายการช่วงเช้า เป็นเรื่อง “ประโยชน์ ปัญหาและอุปสรรคของการพิสูจน์สัญชาติ”

จัดหางานเชียงใหม่เผยขั้นตอนพิสูจน์สัญชาติทำได้ที่ 3 เมืองติดชายแดนไทย

โดยตัวแทนสำนักงานจัดหางานเชียงใหม่ ชี้แจงว่า ขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติ โดยผ่านสำนักงานจัดหางาน ตัวแรงงาน และนายจ้าง ในเรื่องกรอกแบบฟอร์มพิสูจน์สัญชาติ กับกรมจัดหางาน ส่งให้ทางการพม่า แล้วทางการพม่า ส่งกลับกรมจัดหางาน เพื่อดำเนินการส่งให้กระทรวงมหาดไทย โดยทางการส่งรายชื่อทั้งหมดให้สำนักงาน และแรงงานได้รับเอกสารครบถ้วน ก็ข้ามพรมแดนไปยังฝั่งพม่า และรายงานตัว ณ หน่วยงานพิสูจน์สัญชาติพม่าไปที่เมืองเมียวดี ท่าขี้เหล็ก และเกาะสอง เมื่อพิสูจน์สัญชาติ ก็ได้รับเอกสารหนังสือเดินทาง

โดยล่าสุด มติคณะรัฐมนตรี ค่าต่ออายุวีซ่า 2 ปีของแรงงานจากพม่าเหลือ 500 บาท และมติเพิ่งออกมาจากรัฐบาลล่าสุดว่า รับขึ้นทะเบียนสำหรับบุตรที่เกิดเมืองไทย ระยะเวลาของบุตรอยู่ได้เท่าบิดา-มารดา และบุตร อยู่ฐานะเป็นผู้ติดตาม โดยบุตรจดทะเบียน วันที่ 19 พ.ย.-2 ม.ค.2553 ระยะเวลาของการทำทะเบียน ทางรัฐบาลเปิดโอกาสให้เราแล้ว เด็กจะได้อยู่อย่างถูกต้อง

ตัวแทนแรงงานข้ามชาติโอดค่าใช้จ่ายพิสูจน์สัญชาติแพงลิ่ว

ตัวแทนแรงงานข้ามชาติ ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ และตัวแทนแรงงานข้ามชาติ ที่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติส่งผลกระทบ กล่าวว่า ปัจจุบันค่าใช้จ่ายของการพิสูจน์สัญชาติเสียเงิน 6,000 บาท และต้องเสียค่าใช้จ่ายให้บริษัทจัดหางาน ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ยังไม่รวมค่าเดินทางข้ามฝั่งไปพม่า กว่าจะทำวีซ่า ผ่านด่านที่ท่าขี้เหล็ก

และตัวแทนแรงงานข้ามชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ เราก็ไม่มั่นใจ ในความคิดของรัฐบาลพม่า พวกเรายังไม่หายโกรธจากกระทำของรัฐบาลทหารของพม่า ซึ่งรัฐบาลพม่ามักทำอย่างหนึ่งพูดอย่างหนึ่ง ทำให้เราไม่เชื่อพม่า แต่เราเชื่อไทยไม่อยากกลับพม่า การกลับไปพิสูจน์สัญชาติที่พม่ามีความเสี่ยงต่อการถูกจับกลับพม่า

นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ร้องรัฐแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติถูกเอาเปรียบ

ด้าน รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงประเด็นความมั่นใจของแรงงานต่อสถานการณ์พิเศษจากรัฐบาลพม่า ฉะนั้น เมื่อมี MOU ก็ต้องทำให้โปร่งใสทั้งสองฝั่งไทยกับพม่า ให้มีตัวแทนสร้างความมั่นใจ ส่วนประเด็นไทยจัดระเบียบพิสูจน์สัญชาติ ให้ถูกกฎหมายทำให้โปร่งใส และทำข้อมูลให้ชัด ในเรื่องค่าใช้จ่ายการทำเอกสารเดินทาง ทำไมกลายเป็นว่าแรงงานต้องจ่ายเงิน 6,000 บาท ทั้งที่ควรจะเป็น 600 บาท แรงงานพม่านอกจากถูกรัฐบาลไทยเร่งรัดแล้ว ยังถูกบริษัทจัดหางานเอารัดเอาเปรียบอีก

ประเด็นต่อมา ใบอนุญาตทำงาน 3,000 บาท ต้นทุนค่อนข้างสูง และค่าใช้จ่ายตรวจสุขภาพต่างๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายต้องทำเป็นตาราง และสื่อให้ชัดเจน เพราะฉะนั้น แรงงานข้ามชาติต้องเรียกร้องเรื่องพวกนี้ ประเด็นแรงงานข้ามชาติเข้ามาถูกกฎหมายเหมือนแรงงานไทย ทั้งต้องเรียกร้องต่อจากหนังสือเดินทาง ให้มีประกันสังคมติดตัวไปด้วย พร้อมกับแรงงานข้ามชาติของภูมิภาค ที่สามารถข้ามพรมแดนไปประเทศอาเซียน และกรณีแรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบจากบริษัทจัดหางาน โดยนักวิชาการเคยผลักดันให้รัฐบาลทำหน้าที่จัดระบบเอง เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

ด้านนายสมศักดิ์ พลายอยู่วงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมสิทธิกรรมกรไทย กล่าวว่า เรื่องพิสูจน์สัญชาติ เกิดเร็วเกินไป ในเรื่องระบบจัดการกับแรงงานข้ามชาติ เรื่องใบสำเนา ทร.38/1 (เอกสารจดทะเบียน) หรือใบสำเนาอนุญาตทำงาน เมื่อเขากรอกแบบฟอร์มพิสูจน์สัญชาติ ที่มีปัญหากระบวนการไม่ชัดเจนของไทย-พม่า โดยไทย-พม่าต้องออกร่วมกันให้เหมือนกับกรมจัดหางาน และประเด็นเรื่องจดทะเบียน วีซ่า 2 ปี แล้วต่ออายุได้หรือไม่ ก็ไม่รู้ข้อมูลเงื่อนไข และเมื่อเปลี่ยนนายจ้าง วีซ่า จะใช้ได้หรือไม่ ประเด็นก็คือ ระบบไม่ชัดเจนทั้งเรื่องประกันสังคม และกองทุนทดแทน โดยแรงงานต้องเสียค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์สัญชาติจำนวนมาก

มสพ.เผยแรงงานข้ามชาติจ่ายค่าปรับอาน เหตุจดทะเบียนเจ้าของรถไม่ได้

ช่วงบ่าย มีการอภิปรายต่อเรื่อง “นโยบายการใช้รถจักรยานยนต์สำหรับแรงงานข้ามชาติ” โดยอานดี้ ฮอลล์ ผู้อำนวยการโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา อานดี้กล่าวว่าเมื่อรัฐบาลอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติสามารถทำใบขับขี่ได้ก็สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายความมั่นคง เดิมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไม่เปิดโอกาสให้ชนกลุ่มน้อยและแรงงานข้ามชาติจดทะเบียนเป็นเจ้าของรถและทำใบขับขี่ แม้ว่าบุคคลเหล่านี้จะมีความจำเป็นต้องใช้รถในชีวิตประจำวันก็ตาม ต่อเมื่อปลายปี 2551 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาได้เริ่มทำการรณรงค์คัดค้านนโยบายนี้ หลังจากตำรวจภูธรภาค 5 ได้บุกเข้าแค้มป์ที่พักของแรงงานไทยใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ตอนเช้าตรู่ โดยมุ่งจะจับกุมแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมาย ผลจากการเข้าตรวจค้นดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดรถจักรยานยนต์ไว้เป็นจำนวนมาก โดยแจ้งข้อหาว่า รถดังกล่าวอาจถูกขโมยมา เพียงเพราะแรงงานเหล่านี้ไม่มีสิทธิในการเป็นเจ้าของและขับขี่รถจักรยานยนต์

การติดต่อขอรับรถจักรยานยนต์ที่ถูกยึดคืนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เป็นไปอย่างยากลำบาก ต้องเสียค่าใช้จ่ายและเผชิญกับขั้นตอนที่ไม่เป็นทางการ เนื่องจากกรมการขนส่งทางบกปฏิเสธไม่ให้แรงงานเป็นเจ้าของรถและทำใบขับขี่ได้ หลังจากการร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) การบุกเข้าตรวจค้นได้ยุติลง

อย่างไรก็ตาม การยึดรถจักรยานยนต์ของแรงงานข้ามชาติ ตามท้องถนนในจังหวัดเชียงใหม่กลับมีจำนวนสูงขึ้น โดยก่อนหน้าที่ตำรวจจะลดค่าปรับลงครึ่งหนึ่งนั้น ได้ทำการจับและปรับแรงงานข้ามชาติที่ขับรถจักรยานยนต์บางรายสูงถึง 2,000 บาท ในแต่ละครั้ง บ่อยครั้งที่การจ่ายค่าปรับก็เป็นไปอย่างไม่เป็นทางการ ในขณะที่ค่าปรับในข้อหาเดียวกันสำหรับคนไทยอยู่ที่ 200 บาทเท่านั้น

ทั้งนี้ ทางกรมการขนส่งทางบกได้ออกหนังสือเวียนเรื่องให้บุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ประกอบด้วย ญวนอพยพ, อดีตทหารจีนคณะชาติและจีนอพยพ ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (อดีต จคม.), ไทยลื้อ และบุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง และชาวเขาที่มีบัตรประจำตัวบุคคลที่ราบสูง จึงอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติสามารถจดทะเบียนรถและทำใบขับขี่ได้ โดยขั้นตอนอยู่ในระหว่างการดำเนินการยกร่างกฎกระทรวงเพื่อให้บุคคลเหล่านี้สามารถทำใบขับขี่ได้ โดยสรุปของงานอภิปรายครั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจ และความก้าวหน้าของการเปลี่ยนแปลงนโยบายความมั่นคง ที่บุคคลเหล่านี้ถูกปฏิเสธสิทธิใช้รถจักรยานยนต์ของคนกลุ่มนี้ที่มีมานานกว่า 15 ปี