Thai / English

องค์กรแรงงานเผย แรงงานไทยภาคเกษตรในอิสราเอลกำลังผจญความลำบาก



05 .. 52
ประชาไท

เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา Kav LaOved องค์กรภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นสิทธิแรงงานในอิสราเอล ได้เปิดเผยรายงาน พบว่าแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในอิสราเอลในภาคการเกษตร กำลังประสบกับความยากลำบาก ซึ่งรวมถึงแรงงานไทยด้วย

ประมาณการกันว่ามีแรงงานข้ามชาติในภาคการเกษตรนี้กว่า 30,000 คนโดยแรงงานส่วนใหญ่มาจากประเทศไทย เนปาล ศรีลังกา และปาเลสไตน์ ซึ่งเก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์แรงงานข้ามชาติในภาคการเกษตรนี้จะต้องทำงานในระยะเวลาชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานกว่ากฎหมายกำหนด แต่กลับไม่ได้รับค่าแรงจากการทำงานล่วงเวลา, ทั้งนี้รายงานฉบับนี้ได้นำเสนอต่อสมาชิกรัฐสภาของอิสราเอลด้วย

Hanna Zohar ผู้อำนวยการของ Kav LaOved กล่าวว่าแรงงานส่วนใหญ่ไทยส่วนใหญ่ในอิสราเอลนั้นจะไม่รู้สิทธิของตนเอง และโดยส่วนใหญ่แรงงานไทยจะต้องจ่ายเงิน 8,000 -10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 264,000-330,000 บาท) เพื่อที่จะให้ได้ทำงานในอิสราเอล ผ่านนายหน้า ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการกู้ยืมเงินมา

นอกจากนี้แรงงานเหล่านี้ยังต้องพบกับปัญหาหลายอย่างเช่น นายจ้างเก็บหนังสือเดินทางของแรงงานเอาไว้, แรงงานถูกกวดขันอย่างเข้มข้นจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงปัญหาความปลอดภัยในการทำงาน ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นปีนี้ มีแรงงานที่ประสบอุบัติเหตุและได้รับบาดเจ็บถึง 2,950 ราย

อนึ่งการเปิดเผยรายงานชิ้นนี้สอดคล้องกับการรณรงค์ของเกษตรกรอิสราเอลที่มีการรณรงค์ขอให้รัฐเพิ่มจำนวนแรงงานข้ามชาติ

ด้านกระทรวงแรงงานไทยเผย การส่งแรงงานไทยไปอิสราเอลจากนี้ไป IOM จะเป็นผู้ดูแล

ด้านนายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับนายอิสซ์ฮัก โชฮัม เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ว่า จากการหารือร่วมกันสรุปว่า การจัดส่งแรงงานไทยหลังจากนี้จะต้องให้องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เป็นผู้ดูแล

โดยก่อนหน้านี้กระทรวงแรงงานเคยเซ็นเอ็มโอยูกับทาง IOM แต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ก็ยังไม่สามารถจัดส่งแรงงานไทยไปได้ โดยการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระหว่างรอการเซ็นสัญญาจัดส่งแรงงานแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการรัฐสภาของทั้งสองประเทศ อาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ทางกระทรวงแรงงานจึงแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษ ที่มีนายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานขึ้นมาดูแลเรื่องนี้

ทั้งนี้จะเสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว เพื่อเป็นตัวแทนในการประสานการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่อิสราเอลกับทาง IOM และทางการอิสราเอล ให้แล้วเสร็จก่อนเดือน มีนาคม 2553 หลีกเลี่ยงการถูกตัดโควตาแรงงานไทยตามเงื่อนไขของอิสราเอล

นายไพฑูรย์ กล่าวอีกว่า สาเหตุที่กระทรวงแรงงานต้องเร่งหาทางแก้ปัญหาเป็นเพราะต้องการรักษาโควตาเดิมที่ทางการอิสราเอลให้จัดส่งแรงงานไทยไปทำงาน จำนวน 2.7 หมื่นคน มิเช่นนั้นโควตาแรงงานจะถูกแบ่งไปให้กับประเทศอื่น

ที่มาเรียบเรียงจาก:

ISRAEL: New report highlights exploitation of migrant workers (IRINnews.org - ‎30 October 2009‎)

"ไพฑูรย์"ถกอิสราเอล ตั้งคณะทำงานพิเศษแก้ปัญหาแรงงานไทย (เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ, 8 ตุลาคม 2552)