Thai / English

ดีสโตนเลิกจ้างกรรมการสหภาพ 7 คน คนงานกังขา



28 .. 52
ประชาไท

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 52 ที่ผ่านมา บริษัทผลิตยางรถยนต์ ดีสโตน ตั้งอยู่ที่ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ได้ประกาศเลิกจ้างกรรมการสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมยาง 7 คน ทั้งนี้ทางคนงานและสหภาพแรงงานได้ตั้งข้อสงสัยว่า บริษัทฯ กระทำการปลอมแปลงเอกสารโดยหลอกลวงให้พนักงานในโรงงานเซ็นชื่อลงในกระดาษซึ่งพนักงานเข้าใจว่าเป็นการเซ็นชื่อเพื่อการทำงานล่วงเวลา

แต่หลังจากนั้นกลับพบว่าบริษัทฯ ได้ใช้ลายเซ็นดังกล่าวไปทำการเพื่อการถอดถอนคณะกรรมการลูกจ้างของกรรมการสหภาพแรงงาน พร้อมกับการประกาศเลิกจ้างแกนนำทั้ง 7 คน และโยนข้อหาถึง 17 ข้อซึ่งเป็นการกล่าวหาโดยไม่มีมูลความจริง เช่น ข้อกล่าวหาว่าสร้างความขัดแย้งระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง และทำลายบรรยากาศที่ดีในการทำงาน เป็นต้น

ทั้งนี้สมาชิกสหภาพแรงงานหลายคนได้เขียนจดหมายถึงสหภาพแรงงานถึงเรื่องที่เกิดขึ้น โดยจดหมายฉบับหนึ่งมีเนื้อความดังนี้

วันที่ 15 ตุลาคม 2552

“หัวหน้า…………….. แผนก BOM ได้เรียกผมไปคุยที่โต๊ะล่ารายชื่อไปขอออเดอร์มาทำ ผมก็บอกว่าฝ่ายการตลาดเขามีอยู่ และหัวหน้า……………..ก็บอกว่าไม่ใช่อย่างนั้น เขาบอกว่าถ้าออเดอร์เข้ามาเยอะกลัวเราทำให้เขาไม่ได้ ผมก็บอกว่าผมทำงานตามเวลาอยู่แล้ว ถ้าเครื่องจักรปกติก็ทำได้ร้อยเปอร์เซ็น ผมก็เลยไม่ได้เซ็นต์เอกสารนั้น แล้วมาวันที่ 16 ตุลาคม 2552 เอกสารตัวนั้น เขาก็ไปอ้างอิงขับไล่คณะกรรมการลูกจ้างทั้ง 7 คน ออกจากบริษัท ผมเสียใจมาก เขาทำไม่โปร่งใส”

บริษัทผลิตยางรถยนต์ดีสโตน ผลิตสินค้าส่งไปยังยุโรป อเมริกา และกลุ่มประเทศอาเซียน โดยในโรงงานที่อ้อมน้อยมีพนักงานประมาณ 900 คน โดยเป็นฝ่ายผลิตประมาณ 700 คน และแรงงานได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าแรงขั้นตำ โดยแรงงานที่เข้ามาทำงานใหม่ได้ค่าแรง 203 บาท (เท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในเขต กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) ซึ่งทำให้แรงงานต้องบังคับตัวเองทำงานล่วงเวลา จึงจะมีรายได้พอเลี้ยงชีพ ค่าจ้างของแกนนำที่ถูกเลิกจ้างที่ทำงานมา 13 ปี 10 เดือน 10 วัน ได้รับค่าจ้างวันละ 262 บาท บางคนทำงานมานานถึง 20 ปี ได้รับค่าจ้างเพียง 248 บาท ต่อวัน (ไม่รวมโอที)

อนึ่งสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมยางซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่รวมกลุ่มคนงานดีสโตนได้แจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นไปยังเครือข่ายสหภาพแรงงานยางรถยนต์ประเทศไทยซึ่งมีสมาชิกเป็นคนงานทำยางรถยนต์ทั่้วประเทศ และสหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ เพื่อการหนุนช่วยด้านความสมานฉันท์ในการต่อสู้กับปัญหาการละเมิดสิทธิสหภาพแรงงานตามหลักอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO อนุสัญญา 87 และ 98 และการละเมิดสิทธิแรงงานในด้านความปลอดภัยในการทำงาน หนึ่งในแกนนำคนงานที่ถูกเลิกจ้างมีอาการบาดเจ็บจากการทำงาน