"ถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ" ประธานบอร์ด ร.ฟ.ท. เปิดแผนใช้งบฯไทยเข้มแข็งหมื่นล. กับภารกิจแก้ภาพพจน์รถไฟไทย26 .. 52 เครือมติชน ๏ ร.ฟ.ท.ปัจจุบันมีปัญหาที่ตรงไหน ยอมรับว่าโครงสร้างของ ร.ฟ.ท.ค่อนข้างที่จะอุ้ยอ้าย เพราะมีการกระจายมากเกินไป ควรจะต้องมีการบีบลงมาให้มีผู้รับผิดชอบ ซึ่งมองว่าบางหน่วยงานสามารถนำมารวมกันได้ เพื่อให้ง่ายต่อการบริหาร การบังคับบัญชา และต้องมีการผ่องถ่ายอำนาจให้มีการบริหารจัดการที่ทั่วถึงทั้งในส่วนของระดับผู้ว่าการและรองผู้ว่าการ ต้องปรับให้เล็ก จิ๋วแต่แจ๋ว โดยให้นำระบบไอทีเข้ามาช่วยเพื่อให้เกิดความคล่องตัว โดยเฉพาะขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ปัจจุบันยังล้าสมัย อย่างกรณีของอะไหล่นั้น การจัดหายังล่าช้า ต้องมีการปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ ขณะเดียวกันการบริหารสต๊อค อะไหล่ก็จะต้องนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาควบคุมเพื่อให้ง่ายต่อการวางแผน แต่เรื่องดังกล่าวก็เข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับงบประมาณ เพราะหากนำอะไหล่มาสำรองไว้มากไปก็อาจถูกมองไม่ดี แต่ผู้บริหารจะต้องกล้า ต้องชี้แจงตอบข้อสงสัยให้ได้ และเมื่อได้มาแล้วต้องรักษาให้มีคุณภาพ ส่วนเรื่องกำลังคน เท่าที่ดูพบว่าต้องมีการเกลี่ยอัตรากำลังคน เพราะบางส่วนมีคนมากไป บางส่วนขาดแคลน นอกจากนี้จะต้องมีการปรับระเบียบบางอย่าง เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจากปัจจุบัน ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.มีอำนาจในการจัดซื้อจัดจ้างน้อยมากและเมื่อเทียบกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่นแล้วพบว่าอำนาจจัดซื้อจัดจ้างของผู้ว่า การ ร.ฟ.ท.มีไม่ถึง 10 ล้านบาทขณะที่หน่วยงานอื่นๆ อำนาจจัดซื้อจัดจ้างขั้นต่ำประมาณ 50 ล้านบาท ๏ ที่ผ่านมามีปัญหาในการบริหารจัดการอย่างไร จริงๆ แล้วที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.มีแผนงานต่างๆ มากมาย แต่แผนเหล่านี้ไม่สามารถนำมาปฏิบัติงานได้ เพราะเกี่ยวข้องกับงบประมาณ ซึ่ง ร.ฟ.ท.ได้รับงบประมาณน้อยและค่อนข้างล่าช้า อาจเป็นเพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมอง ร.ฟ.ท.ในภาพลบกันหมด ทำให้แผนการปรับปรุงโครง สร้างและตัวรถเป็นไปด้วยความล่าช้า ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือการปรับปรุงความน่าเชื่อถือ ไม่ใช่มานั่งทะเลาะกันเองเหมือนอย่างในขณะนี้ "ตอนที่ผมเข้ามารับตำแหน่งประธานบอร์ดครั้งแรก ผมไม่ต้องการเห็นรถไฟตกราง ดังนั้น เรื่องแรกที่ต้องเข้ามาทำ คือ การปรับปรุงระบบราง เพราะ 99% ของการตกราง พบว่า เกิดจากรางฉีกและไม้หมอนหัก พอถามทาง ร.ฟ.ท. ได้คำตอบว่าแผนดังกล่าวมีอยู่แล้ว แต่ยังทำอะไรไม่ได้ เพราะยังไม่ได้งบประมาณ ซึ่งเมื่อเร่งไป แต่ปรากฏว่าติดปัญหาตรงที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไม่ยอมอนุมัติ ให้ไปวิเคราะห์ผลตอบแทนก่อน ทั้งที่มีผลการศึกษาและมีแผนอยู่แล้ว จากปัจจัยเหล่านี้เองทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณของ ร.ฟ.ท.ตามโครงการไทยเข้มแข็งนั้นจึงมีความล่าช้ากว่าหน่วยงานอื่น ๏ ร.ฟ.ท.ได้งบฯโครงการไทยเข้มแข็งเท่าไหร่ โครงการที่ ร.ฟ.ท.จะต้องดำเนินการตามโครงการไทยเข้มแข็ง คือ การปรับปรุงสภาพทางรถไฟทั่วประเทศ (Track Rehabilitation) การเปลี่ยนไม้หมอน และสะพาน การแก้ไขปัญหาจุดตัด การจัดหาหัวรถจักร และการจัดทำโครงการทางรถไฟรางคู่ เป็นต้น ซึ่งมีการของบประมาณไปรวม 14,287 ล้านบาท โดยจะดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงรางในระยะที่ 5 และ 6 โดยระยะที่ 5 จะดำเนินการ ช่วงแก่งคอย-แก่งเสือเต้น-ชุมทางจิระ (นครราชสีมา)-บัวใหญ่ รวมระยะทาง 308 กิโลเมตร ส่วนระยะที่ 6 นั้นจะดำเนินการตั้งแต่บัวใหญ่-หนองคาย รวมระยะทาง 278 กิโลเมตร และภายในระยะเวลา 5 ปี จะต้องทำการปรับปรุงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งนี้ รางที่ต้องปรับปรุงนั้นจะมีการเปลี่ยนเป็นรางมาตร ฐานขนาด 1 เมตร จากเดิมน้ำหนัก 70 ปอนด์ เป็น 100 ปอนด์ต่อหลา เพื่อให้รับน้ำหนักขบวนรถขนาด 20 ตันเพลา ตามมาตรฐานสากล ส่วนการเปลี่ยนหมอนและสะพานนั้นจะต้องเปลี่ยนจากหมอนไม้มาเป็นหมอนคอนกรีต นอกจากนี้จะมีการทำรางคู่ในช่วงคอขวดระยะ 5 กิโลเมตรของแต่ละสถานีโดยเฉพาะในเส้นทางสายใต้ตั้งแต่หัวหิน-ชุมพร ภาคเหนือตั้งแต่ นครสวรรค์-เชียงใหม่ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่แก่งคอย-นครราชสีมา เนื่องจากปัจจุบันยังเป็นรางเดียว ซึ่งเมื่อทำแล้วจะทำให้รถไฟวิ่งสวนกันได้โดยไม่ต้องจอดรอสับหลีก โดยทั้งการเปลี่ยนไม้หมอน การเปลี่ยนสะพาน รวมทั้งการแก้ไขจุดตัดนั้น ทั้งหมดจะใช้งบฯราว 6,000 ล้านบาท รวมระยะทาง 832 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้รถไฟที่เป็นดีเซลรางสามารถวิ่งได้เร็วขึ้น เช่น เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 120 กิโลเมตรนั้นจะวิ่งเพียง 6 ชั่วโมงเท่านั้น ทั้งหมดที่กล่าวมาจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 5 ปี นอกจากนี้ ยังมีหัวรถจักรอีก 77 หัว มูลค่ารวมประมาณ 13,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นหัวรถจักรใหม่มาเสริม 27 หัวและหัวรถจักรที่จะทดแทนของเดิมอีก 50 หัว นอกจากนี้จะต้องมีการเพิ่มแคร่อีกประมาณ 308 แคร่ เพื่อให้ระบบโลจิสติคส์ของไทยมีความสมบูรณ์ขึ้น ขณะเดียวกันจะต้องพัฒนาโครงการรถไฟรางคู่ทั่วประเทศต่อ โดยส่วนนี้จะต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปีขึ้นไป โดยมีระยะทางรวม 4,300 กิโลเมตร ซึ่งในส่วนนี้การดำเนินการล่าช้า เพราะจะต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ และที่สำคัญที่สุดจะต้องมีการสร้างทางรถไฟเพิ่มอีก 1 เส้นทางเพื่อรองรับท่าเรือที่กำลังเกิดใหม่คือ ท่าเรือปากบารา จังหวัดสตูล โดยเส้นทางที่จะพัฒนาจะต่อเชื่อมที่ควนเนียง จังหวัดสงขลา เพื่อต่อไปยังสตูล เพราะบริเวณสงขลาก็มีท่าเรืออยู่แล้ว ๏ ผลที่ได้หลังการดำเนินการ หากดำเนินการได้แล้วเสร็จตามแผน จะทำให้ระบบโลจิสติคส์ของไทยดีขึ้น ซึ่งถึงตรงนี้จะทำให้สามารถเพิ่มการใช้รางได้มากขึ้น หรือมีความจุของรางเพิ่มมากกว่าปัจจุบันถึง 3-4 เท่า และเมื่อถึงตอนนั้นแล้วก็เกินกำลังความสามารถในการขนส่งของรถไฟ ดังนั้น ทางออกก็คือ ดึงภาคเอกชนเข้ามาขนส่ง ซึ่งยืนยันว่าไม่ใช่การแปรรูป เพราะวิธีการดำเนินการก็คล้ายกับบริษัท ขนส่ง จำกัด ซึ่งมีการวิ่งรถในเส้นทางของตัวเอง แต่ขณะเดียวกันก็เปิดให้เอกชนมาวิ่งด้วย โดยเสียค่าใช้ทางให้กับ บ.ข.ส. ซึ่งหลักการดังกล่าวเป็นหลักการเดียวกัน ก็คือ เป็นรถร่วมของ ร.ฟ.ท. แต่รถร่วมคงมีไม่มากนัก เชื่อว่าผู้ที่จะดำเนินการก็คือ เอกชนรายใหญ่ที่มีกำลังการผลิตสินค้าจำนวนมาก ซึ่งพวกนี้ก็อยากขนสินค้าของเขาเอง ขณะที่ ร.ฟ.ท.ก็ยังคงวิ่งอยู่เหมือนเดิม แต่ก็มีรายได้จากรถร่วมเหล่านี้ด้วย ทั้งหมด ร.ฟ.ท.ยังคงเป็นเจ้าของทรัพย์สินเหมือนเดิม ซึ่งรวมถึงที่ดินด้วย และเมื่อเป็นเจ้าของแล้วก็จะต้องนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วยการสร้างมูลค่า เพื่อนำรายได้ให้ ร.ฟ.ท. ไม่ใช่ให้เอกชนเข้ามาฮุบอย่างที่เข้าใจ เพราะหากไม่เริ่มทำอะไรเลยก็จะอยู่อย่างนี้ แล้วเมื่อไหร่รถไฟจะพัฒนา ๏ กรณีหยุดวิ่งส่งผลกระทบต่อประชาชน ต้องยอมรับว่าสภาพหัวรถจักรของ ร.ฟ.ท.ในปัจจุบัน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 209 หัวนั้นมีอายุการใช้งานค่อนข้างมาก โดยที่ใหม่สุดอายุการใช้งานประมาณ 12 ปี และเก่าสุดอยู่ที่ 45 ปี และในจำนวนทั้งหมดสามารถนำมาใช้ในแต่ละวันประมาณ 140 หัวโดยที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ 100% มีประมาณ 65% ที่เหลือก็ต้องสลับใช้เพราะต้องนำเข้าไปซ่อมแซมปรับปรุง ซึ่งส่วนที่ไม่สมบูรณ์นั้นส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของอุปกรณ์เสริม ซึ่งก็ได้ให้พนักงานขับรถขับด้วยความระมัดระวัง โดยรถที่สมบูรณ์ 100% นั้นจะนำไปวิ่งในเส้นทางไกล แต่หากที่อุปกรณ์เสริมเสียเล็กน้อยนั้นจะวิ่งในเส้นทางระยะสั้นไม่เกิน 200 กิโลเมตร ซึ่งส่วนใหญ่รถเหล่านี้จะวิ่งในเวลากลางวันเท่านั้น "ส่วนการที่รถตกรางบ่อยครั้งนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการฉีกของราง ไม่ได้เกิดจากเจ้าหน้าที่ และที่ผ่านมาก็ไม่เคยลงโทษพนักงาน ยกเว้นกรณีเขาเต่าที่ผลสอบออกมาเป็นอย่างนั้น เลยไม่มีทางเลือก ถามว่าเสียใจมั้ย ก็เสียใจ แต่กฎก็ต้องเป็นกฎ เช่นเดียวกันการลาหยุดงานของสมาชิกสหภาพรถไฟ ที่หยุดงานเพื่อเรียกร้อง ก็ต้องเป็นไปตามกฎระเบียบ ร.ฟ.ท. เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับส่วนรวมและประชาชน ซึ่งก็ต้องดูเป็นกรณีๆ ไป" ๏ จะแก้ไขภาพพจน์ที่ติดลบอย่างไร การที่ สร.ร.ฟ.ท.ออกมาทำอย่างนี้ก็ยอมรับว่าเป็นการสาวไส้ให้กากิน แต่ถามว่าดีมั้ย ก็ตอบว่าดีเหมือนกัน เพราะเป็นการทำให้สังคมได้รับรู้ว่าจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร ซึ่ง ร.ฟ.ท.ก็จะต้องนำข้อวิจารณ์ที่เกิดขึ้นไปแก้ไข ทั้งในส่วนของฝ่ายบริหารและฝ่ายของ สร.ร.ฟ.ท. เพราะ ร.ฟ.ท. ไม่ใช่ของกระทรวงคมนาคม หรือของบอร์ด หรือผู้บริหาร รวมทั้ง สร.ร.ฟ.ท. เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มนั้น พระองค์ท่านต้องการให้เป็นของคนไทยทุกคน ดังนั้นอยากจะวิงวอนว่าขอให้พนักงาน ร.ฟ.ท. ทุกคนหันหน้าเข้าหากัน เมื่อเข้ามาใน ร.ฟ.ท. แล้วก็ไม่ควรมาทุบหม้อข้าวของตัวเอง ต้องหาทางแก้ไขปัญหาและต้องร่วมกันพัฒนารถไฟให้ดีขึ้น การเรียกความเชื่อมั่นกับประชาชนและหน่วยงานอื่นๆ นั้น จะต้องแสดงให้เขาเห็นถึงความสามัคคี ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะต้องมาเป็นอันดับแรก เพราะหากเกิดการแตก แยกแล้ว ก็จะไม่มีใครให้ความเชื่อถือ และคงไม่มีใครไว้วางใจที่จะให้งบประมาณ อยากให้ทุกคนทำแต่ความดี ขณะเดียวกัน ฝ่ายบริหารก็ต้องประชาสัมพันธ์และเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้หน่วยงานอื่นเข้าไปตรวจสอบได้ ความเชื่อมั่นจึงจะค่อยๆ กลับคืนมา แต่ในระยะนี้คงจะยังยากอยู่ ซึ่งคงต้องใช้เวลา "ตอนที่ ครม.อนุมัติชื่อผมเป็นประธานบอร์ด ร.ฟ.ท.นั้น เพื่อนๆ ทุกคนโทรศัพท์เข้ามาบอกว่า ตายแน่ ควรระวัง เพราะใครเข้า ร.ฟ.ท.ก็เสียออกมาทุกคน ผมก็บอกว่า ผมไม่มีอะไรแอบแฝงก็ต้องทำหน้าที่กันไป ส่วนจะนานแค่ไหนไม่รู้ เพราะที่ผ่านมาอยู่กันไม่นานก็ลาออก เพราะปัญหามาก และมีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีที่มาดูแล ผมก็คงต้องอยู่เรื่อยๆ และอยากแก้ไขปัญหาเรื่องรถไฟตกรางให้สำเร็จ" |