Thai / English

พิสูจน์สัญชาติ......นโยบายของรัฐต่อรัฐกับความเป็นจริงที่แรงงานข้ามชาติ (พม่า) ต้องเผชิญปัญหาหนักอก


ประเสริฐ แก้วฟอง มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน Labour Rights Promotion Network Foundation (LPN)
09 .. 52
ประชาไท

ผมขออนุญาตเปิดมุมมองอีกด้าน ในกรณีการพิสูจน์สัญชาติของแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานที่มาจากประเทศพม่า

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2551 ได้มีมติของคณะรัฐมนตรีรับรองประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะสำหรับคนต่างด้าวชาวพม่า เมื่อฟังจากชื่อของประกาศแล้วอาจจะเข้าใจยากสักนิด

หากจะให้แปลให้เข้าใจง่ายก็คือ ประกาศยกเว้นข้อห้ามของคนต่างด้าวชาวพม่าในการเข้าเมือง คนต่างด้าวตามประกาศนี้หมายถึง บุคคลสัญชาติพม่าที่มาทำทะเบียนประวัติ หรือบัตรประจำตัวประชาชนตามกฎหมายทะเบียนราษฎร และได้รับใบอนุญาตทำงาน ภายใต้เงื่อนไขบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการจ้างแรงงานของรัฐบาลไทยและรัฐบาลสหภาพพม่า ประกาศฉบับนี้เป็นผลพวงมาจากประกาศของกระทรวงมหาดไทยเรื่องการอนุญาตให้แรงงานต่างด้างบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 19 มกราคม 2551 ที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับ ซึ่งจะต้องดำเนินขออนุญาตพิสูจน์สัญชาติให้เสร็จเรียบร้อยภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 หลังจากนั้นหากแรงงานที่ไม่พิสูจน์สัญชาติ หรือพิสูจน์สัญชาติไม่ผ่านจะถูกส่งกลับประเทศต้นทาง

จุดประสงค์การพิสูจน์สัญชาติก็คือการผลักดันแรงงานต่างด้างชาวพม่าให้เป็นแรงงานถูกต้องตามกฎหมายภายใต้บันทึกข้อตกลง (MOU) โดยแรงงานจำต้องมีพาสปอร์ต มีวีซ่า และใบอนุญาตทำงาน เพื่อให้เป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย เข้าออกตามช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง เพื่อให้แรงงานเหล่านี้สามารถเข้าถึงบริการของรัฐและระบบการประกันสังคม ซึ่งเป็นนโยบายที่ดีของรัฐบาลไทย แต่ข้อเสียนั้นก็มีมากเช่นเดียวกัน

ก่อนหน้าจะมีมติให้พิสูจน์สัญชาติ ได้มีการเปิดให้แรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนรอบสุดท้ายช่วงวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 – 29 สิงหาคม 2552 ซึ่งการขึ้นทะเบียนรอบที่ผ่านมาแรงงานส่วนใหญ่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก หรือมากกว่าระเบียบของทางราชการเป็นเท่าตัว กล่าวคือระเบียบการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวต้องจ่าย 3,880 บาท แต่ในทางปฏิบัติจริงแล้วแรงงานต้องเสียค่าใช้จ่าย 5,000-10,000 บาท เพราะการปล่อยปะละเลยของนายจ้างที่มอบหมายให้ตัวแทน หรือบุคคลภายนอก หรือ นายหน้ามาดำเนินการแทน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับแรงงานก็คือต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าความเป็นจริง บางรายก็ถูกหลอกให้ทำใบอนุญาต หรือบางบริษัทก็หักจากค่าจ้างของแรงงานเป็นจำนวนมากของเงินค่าจ้างแต่ละเดือน ทำให้แรงงานเป็นหนี้สินกันมากมาย ปกติก็ถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เป็นทุนแล้ว เมื่อหลังจากการขึ้นทะเบียนผ่านไป แรงงานต้องทำงานใช้หนี้ หรือถูกหักเงินจากค่าจ้างจนกว่าจะครบกำหนด แต่หนี้สินรอบใหม่ก็มาอีกก็คือการพิสูจน์สัญชาติ ประกอบกับแต่ละเรื่องก็เป็นนโยบายใหม่ ที่มีช่องว่างให้กับพวกนายหน้าไม่รู้จบรู้สิ้นแรงงาน

บางคนไม่รู้ว่าการพิสูจน์สัญชาติเป็นอย่างไร ระเบียบขั้นตอนนั้นเป็นอย่างไรนายจ้างก็ไม่รู้เช่นกันจึงเปิดโอกาสให้นายหน้าที่คอยแสวงหาประโยชน์จากแรงงาน เพราะแรงงานไม่รู้อะไรจึงกลายเป็นเครื่องมือของนโยบายของรัฐที่อ่อนหัด ไม่รอบคอบ ไม่ศึกษาปัญหาที่แท้จริงว่าแท้จริงปัญหาของแรงงานต่างด้าวชาวพม่าคืออะไร นโยบายต่างๆที่ออกมาเป็นผลดีกับพวกเขาหรือไม่ สิ่งเหล่านี้จะขาดไม่ได้เลย เพราะคนที่ได้รับผลกระทบคือแรงงานตาดำๆ ที่คอยรับจ้างหาเช้ากินค่ำ เพื่อแลกกับค่าจ้างอันน้อยนิดเมื่อเทียบกับหยาดเหงื่อและแรงกายที่พวกเขาทำในแต่ละวัน และถูกมองว่าเป็นประชาชนชั้นสองของประเทศนี้ตลอดมา

ขณะนี้แรงงานเดือดร้อนมากในเรื่องการพิสูจน์สัญชาติ ผลกระทบต่อแรงงานมีมากทั้งภายนอกและภายใน ภายในก็คือเรื่องเงินในการพิสูจน์สัญชาตินั้นคงไม่เป็นไรมาก แรงงานบางคนบอกว่าทำงานใช้หนี้ได้ แต่สิ่งที่หวาดกลัวก็คือผลกระทบภายนอก ที่อาจเกิดกับตัวแรงงานญาติพี่น้องที่อยู่ทางประเทศต้นทางก็ลำบาก สิ่งเหล่านี้ได้มาจากการบอกเล่า ญาติพี่น้องของแรงงานบางคนถูกจับกุมถูกรีดไถเงินจากเจ้าหน้าที่พม่า หากทางการพม่ารู้ก็จะอ้างว่าครอบครัวนี้แอบลักลอบออกไปทำงานนอกประเทศ แล้วจะเรียกเก็บเงินเป็นล้านจ๊าต คิดเป็นเงินไทยประมาณ 30,000 บาท ถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อยหากคำนึงถึงฐานะและสภาพเศรษฐกิจในพม่า เพื่อแลกกับความปลอดภัยของญาติพี่น้อง แรงงานที่มาทำงานในไทยก็ส่งเงินไปให้ หากไม่มีก็ต้องหยิบยืมจากแรงงานด้วยกันเอง

นอกจากนี้ มีแรงงานบางกลุ่มก็ถูกจับเมื่อเดินทางไปพิสูจน์สัญชาติที่เมียวดีแล้วถูกทางพม่าจับ จึงเกิดเสียงสะท้อนว่ามีอะไรที่รับประกันความปลอดภัยให้กับแรงงานบ้าง ทุกคนคงรู้สถานะของประชาชนพม่าดีว่าเป็นอย่างไรภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารพม่า หากมองอีกมิติหนึ่งนโยบายการพิสูจน์สัญชาติจึงเป็นนโยบายที่ไม่มีประโยชน์ต่อแรงงาน แต่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับทางฝั่งพม่า การพิสูจน์สัญชาตินั้นทางรัฐบาลพม่าคงไม่ให้สัญชาติกับแรงงานที่เป็นนักโทษทางการเมือง หรือประชาชนชายขอบ หรือชนกลุ่มน้อยเช่น ชาวมอญ ชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นเสี้ยนหนามต่อการปกครองของพม่า ซึ่งแรงงานจำพวกนี้มีอยู่ไม่น้อย แล้วหากสิ้นสุดระยะเวลาการพิสูจน์สัญชาติแล้วพวกเขาเหล่านี้จะทำอย่างไรกันต่อไป จะอยู่ในประเทศไทยได้หรือไม่หลายคนจับตามองว่าจะเกิดปรากฎการณ์ขึ้นกับแรงงานอย่างไร หากมีการกดขี่ข่มเหงแรงงานก็ต้องกลับประเทศพม่า แล้วแรงงานภาคประมง หรือต่อเนื่องประมงที่อยู่ในจังหวัดสมุทรสาครซึ่งมีจำนวนมาก หากขาดแรงงานเหล่านี้ใครจะมาทำงานประเภทประมง ส่วนคนไทยนั้นส่วนใหญ่ปฏิเสธแน่นอน เพราะต้องอยู่ในห้องเย็น กลิ่นอันไม่พึงประสงค์ และสารเคมีต่างๆ ต้องทำงานในที่ชื้นสูง ผลกระทบที่ตามมาคือภาวะขาดแคลนแรงงานในภาคประมง แรงงานบางคนบอกว่าถึงพิสูจน์สัญชาติผ่านแล้วหากกลับพม่าพกเงินก็ติดตัวไปไม่ได้ แล้วค่าตรวจลงตราในพม่าก่อนเข้าเมืองล่ะ ค่าภาษีล่ะ สิ่งเหล่านี้มีแน่นอน พวกเขาจะทำอย่างไร จะแบกรับภาระไหวหรือไม่ ไม่มีใครตอบได้

ดังนั้นรัฐบาลไทยควรต้องมีการตรวจสอบ หรือคอยท้วงติงรัฐบาลพม่าในฐานะที่เป็นคู่สัญญาที่ทำข้อตกลงกันขึ้น เพื่อให้แรงงานเหล่านี้มีชีวิตที่ดีขึ้นจากนโยบาย มิใช่ตกต่ำจากนโยบายของรัฐที่มองเพียงแค่มุมเดียว แน่นอนปัญหาที่ตามมารัฐบาลไทยต้องแก้ไข จากการคาดคะเนจำนวนแรงงานที่พิสูจน์สัญชาตินั้นมีจำนวนน้อยมาก แรงงานบางกลุ่มบอกอีกว่าหากทางนายจ้างบังคับให้พิสูจน์สัญชาติโดยยื่นคำขาดว่าหากใครไม่พิสูจน์สัญชาติจะไล่ออก แรงงานก็พร้อมที่จะกลับบ้านเหมือนกันเพราะได้ประโยชน์น้อยมากกับนโยบายพิสูจน์สัญชาติและไม่มีประโยชน์สำหรับแรงงานเนื่องจากสภาพการเมืองการปกครองของประเทศพม่าที่ไม่เอื้อต่อปัจจัยเหล่านี้

แรงงานบางกลุ่มก็ยังรอคอยดูปรากฏการณ์ภายหลังการพิสูจน์สัญชาติว่าประเทศไทยจะมีวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างไร หากแรงงานต้องกลับประเทศต้นทางจริง แล้วเศรษฐกิจการส่งออกอาหารทะเลซึ่งจังหวัดสมุทรสาครถือว่าเป็นศูนย์กลางจะดำเนินไปอย่างไร ซึ่งเดือนที่ผ่านมามีการแลงตัวเลขการส่งออกกุ้งว่าส่งออกได้มากขึ้น หากไม่มีแรงงานข้ามชาติแล้วจะเป็นอย่างไรต้องคอยดูกันต่อไป ว่าประเทศไทยต้องการความถูกต้องตามกฎหมายฝ่ายเดียวโดยไม่ได้มองผลกระทบกับสภาพความเป็นจริงในพม่า โดยให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่พิสูจน์สัญชาติไม่ผ่านและที่ไม่ไปพิสูจน์สัญชาติกลับประเทศต้นทางหรือไม่ หากทำได้ประเทศไทยคงใจกล้า แล้วตัวเลขการส่งออก การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ต้องลดลงอย่างแน่นอน เพราะแรงงานในภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องประมงนั้นลูกจ้างส่วนใหญ่ก็เป็นแรงงานข้ามชาติแทบทั้งสิ้น

สิ่งเหล่านี้จึงเป็นปัญหาให้รัฐบาลไทยขบคิดต่อไป ว่าทางออกที่ดีร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่าโดยมองที่ตัวแรงงานเป็นหลักว่าได้รับประโยชน์จริงหรือไม่ มิใช่ต้องมาตกเป็นเครื่องมือทางนโยบายของรัฐที่หละหลวมโดยไม่มองว่าปัญหาที่แท้จริงขอแรงงานต่างด้าวคืออะไร