Thai / English

มาบตาพุด ระอุ!! รัฐเปิดแนวรบ ป้องเอกชน


ทีมข่าวอุตสาหกรรม
01 .. 52
โพสต์ทูเดย์

คำสั่งศาลปกครองให้ระงับการลงทุนอุตสาหกรรม 76 โครงการ ในพื้นที่มาบตาพุด และพื้นที่ใกล้เคียง เป็นการชั่วคราว

นับเป็นชัยชนะอีกยกของกลุ่มองค์กรอิสระและเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ที่ต้องการให้รัฐบาลหยุดอนุมัติขยายการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

แม้ผลลัพธ์ที่ได้จากคำสั่งศาลปกครองครั้งนี้ จะช่วยได้เพียงการยับยั้งแค่ชั่วคราวก็ตาม แต่ในแง่จิตวิทยา ย่อมส่งผลต่อการสร้างขวัญกำลังใจให้กลุ่มองค์กรอิสระได้เดินหน้าขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อแน่นอน

โดยเป้าหมายต่อไปก็คือ การฟ้องร้องกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐบาล ในฐานะที่อนุมัติให้โครงการที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมขยายการลงทุนได้

ช่องโหว่ที่เป็นเป้าใหญ่สำหรับการฟ้องร้องเอาผิดกับหน่วยงานรัฐและรัฐบาลคือ การปฏิบัติตามมาตรา 67 ไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด

ประเด็นที่ถกเถียงกันมาตลอดก็คือ ในมาตรา 67 นั้น เครือข่ายประชาชนตีความตามข้อบังคับคือ นอกจากผู้ลงทุนจะต้องผ่านการอนุมัติการจัดทำแผนสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังต้องจัดทำแผนสุขภาพ และเปิดให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบด้วย

แต่ในความเป็นจริง ทั้ง 76 โครงการที่ได้รับอนุมัติให้ลงทุนในพื้นที่มาบตาพุด เกือบทั้งหมดไม่ได้จัดทำแผนสุขภาพ เพราะผู้ประกอบการ ตีความว่า มาตรา 67 บังคับใช้กับอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อกิจการนั้นๆ ผ่านการอนุมัติแผนสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็ถือว่าจบ

ประเด็นการต่อสู้ในเรื่องนี้จึงต้องไปงัดข้อกันต่อในชั้นเชิงทางกฎหมายอีกหลายยก

แน่นอนว่า งานนี้ ฝ่ายชุมชนได้เฮไปก่อน ข้างฝ่ายรัฐที่ไม่ปลื้มกับอุปสรรคที่เกิดขึ้น ก็มีการยื่นอุทธรณ์ ฮึดสู้กลับเช่นกัน

เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น สะเทือนแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ดับความหวังที่จะดูดเงินลงทุนจาก ผู้ประกอบการรายใหญ่ แถมความน่าเชื่อถือของรัฐบาลก็ยังถูกสั่นคลอนอีกต่างหาก

อุตส่าห์โหมกระตุ้นเอกชนลงทุนเพิ่มแทบตาย เดินสายไปพบปะนักลงทุน โดยเฉพาะในต่างประเทศก็ไปกันไม่รู้คณะใครเป็นคณะใคร

พอสุดท้ายนักลงทุนพร้อมลงทุนแต่ลงทุนไม่ได้ เครดิตรัฐบาลย่อมเสียหายยับเยินเป็นธรรมดา

ดีไม่ดีก็อาจถูกเอกชนฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายซ้ำอีก ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านๆ มาของรัฐบาล เมื่อมีปัญหาฟ้องร้องคดีทางแพ่งเกิดขึ้นกับเอกชน หน่วยงานรัฐมักตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อยู่เสมอ เพราะการทำสัญญาส่วนใหญ่เอื้อประโยชน์ให้เอกชนได้เปรียบ ภายใต้คำครหา มีผลประโยชน์แอบแฝง

ครั้งนี้ จึงเป็นบทเรียนสำคัญที่รัฐบาลต้องกลับมาทบทวนนโยบายส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมในบ้านเราอย่างจริงจัง โดยเฉพาะโครงการที่มีความอ่อนไหวต่อความรู้สึกของชุมชน ทั้ง 76 โครงการ

เป็นไปได้ควรรอแผนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ (สศช.) ที่รองนายกรัฐมนตรี กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ สั่งให้ไปทบทวนแผนพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ทั้งระบบก่อนหน้านี้ ซึ่งจะใช้เวลาราว 1 เดือนสรุปผลออกมา

ไหนๆ ทั้ง 76 โครงการก็คาบเกี่ยวอยู่กับการลงทุนด้านอุตสาหกรรมอยู่แล้ว ก็ดึงเข้าแผนทีเดียวไปเลย เพราะอย่างไรเสีย ศาลปกครองก็มีคำสั่งให้ระงับการลงทุน ซึ่งผู้ประกอบการก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี

หากยังดันทุรังอ้างเฉพาะการจัดทำแผน สิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว ซึ่งกลุ่มคัดค้านไม่ยอมรับ เพราะยังติดใจที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลแผนสิ่งแวดล้อมสู่สาธารณะ ขณะที่แผนสุขภาพและแผนเปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ถูกบ่ายเบี่ยงไม่ให้ความสำคัญ ความขัดแย้งก็จะยังต้องดำเนินต่อไปอีกยาว

ยิ่งไปกว่านั้น โครงการใหม่ที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ไป ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ไหน ภาคใดในประเทศไทย ต่อให้เป็นโครงการดี มีประโยชน์ สร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจมากมายแค่ไหน ก็จะถูกต่อต้านแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพราะชุมชนไม่ไว้วางใจรัฐและเอกชน

ยิ่งรัฐออกโรงยื่นอุทธรณ์สู้กรณีมาบตาพุด ยิ่งเป็นการตอกย้ำชัดเจนว่า รัฐอยู่เคียงข้างเอกชน ไม่ใช่ชุมชน

ที่สำคัญ คำสัญญาจากนายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งเปิดทำเนียบรัฐบาลให้แกนนำเครือข่ายประชาชนเข้าพบ ว่าจะผลักดันให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาดูแลและร่วมตรวจสอบโครงการต่างๆ ก็ยังเป็นแค่ลมปาก

ทั้งหมดนี้ ว่ากันตามเนื้อผ้า จุดเริ่มต้นของปัญหาก็มาจากรัฐกระทำการไม่รอบคอบตั้งแต่ต้น เพราะอ้างกฎหมายเข้าข้างนายทุน แทนที่จะหาข้อสรุปให้ชัดก่อนจะอนุมัติ

เมื่อเรียนผูกก็ต้องเรียนแก้เอง แม้จะต้องถูกเอกชนฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ก็สมควรต้องจ่ายค่าโง่ เพื่อความหลาบจำ จะได้ไม่ผิดพลาดซ้ำอีก