"ออเดอร์"กลับมาหาแรงงานไม่ทันยังมีความสุขกับเงินชดเชยรัฐบาล กำลังการผลิตอุตสาหกรรมเริ่มฟื้น25 .. 52 เครือมติชน บีโอไอชี้หลายอุตฯขาดแคลนแรงงาน หลังออเดอร์ต่างประเทศเริ่มกลับมา แต่แรงงานไม่ยอมกลับเข้าทำงาน เพราะยังมีเงินชดเชยให้ใช้ แถมยังสนุกกับโครงการฝึกอาชีพของรัฐ ด้านหอการค้าคาดยอดคนตกงานน้อยลงจากระดับล้านเหลือเพียง 7-8 แสนคน แต่ยังหวั่นเป็นออเดอร์ระยะสั้นชดเชยสต๊อคเก่าเท่านั้น นางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยในงานสัมมนา เรื่องมาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ กับการระดมทุนใน SET และ MAI ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัว มีคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) จากต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายนที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น จากที่ลดไปเมื่อปีที่ผ่านมา บางอุตสาหกรรมมีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นในระดับ 70-80% แล้ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมทางด้านฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งของกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่น และนักลงทุนเกาหลีใต้ ทำให้มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น แต่ยังหาไม่ได้ "ขณะนี้หลายอุตสาหกรรมเริ่มมีปัญหาหาแรงงานไม่ได้ ทั้งโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม หลังจากมีออเดอร์กลับเข้ามา ทางโรงงานก็เรียกตัวแรงงานกลับ แต่แรงงานยังไม่ยอมกลับ เพราะยังมีความสุขกับเงินชดเชยที่ได้รับ อีกทั้งยังมีโครงการฝึกอาชีพของรัฐบาล ที่ได้รับเงินฟรีอีกด้วย เช่น โรงงาน จ.เชียงใหม่ต้องการแรงงาน 600-700 คนก็ยังหาไม่ได้" นางอรรชกากล่าวว่า สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น ก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จากอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามา อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับปีที่ผ่านมา ยังถือว่ากำลังการผลิตและยอดขายตกอยู่ เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคทั้งในต่างประเทศ และในประเทศยังไม่ค่อยฟื้นตัวดีนัก คาดว่าคงต้องใช้เวลาสักระยะ นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการพูดคุยจากสมาชิกของหอการค้าแห่งประเทศไทยพบว่า เริ่มมียอดคำสั่งซื้อกลับเข้ามาแล้วในหลายอุตสาหกรรม โดยเริ่มเห็นสัญญาณตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เช่น กลุ่มก่อสร้างและกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ จากก่อนหน้านี้ที่คำสั่งซื้อหายไป อย่างไรก็ตาม ยอดคำสั่งซื้อที่เริ่มกลับเข้ามายังมีปริมาณน้อยและสั่งเข้ามาในช่วงระยะเวลาสั้นประมาณ 3-4 เดือน แม้จะแสดงให้เห็นว่ากลุ่มประเทศในญี่ปุ่น ยุโรปและสหรัฐอเมริกา เริ่มมีการจับจ่ายมากขึ้น แต่ก็มีความไม่แน่นอน เนื่องจากอาจเป็นคำสั่งซื้อ เพื่อนำสินค้าไปทดแทนสต๊อคเก่าที่หมดลงจากในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา "ยอมรับว่าสถานการณ์การว่างงานของไทย ผ่อนคลายลงมาก การจ้างงานเริ่มมีเข้ามา อย่างไรก็ตาม การจ้างงานที่เข้ามาก็ยังถือว่าเป็นส่วนน้อย เมื่อเทียบกับสัดส่วนคนตกงาน แต่ก็จะส่งผลให้ตัวเลขคนว่างงานน้อยลง จากเดิมที่คาดว่าตัวเลขการว่างงานจะสูงกว่า 1 ล้านคน ก็อาจจะเหลือเพียง 7-8 แสนคน" นายดุสิตกล่าว |