Thai / English

คนงานไทรอัมพ์ฯ ชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี เรียกร้อง บ.ปฎิบัติตามมาตรฐานสากล



17 .. 52
ประชาไท

คนงานไทรอัมพ์ฯ ที่ถูกเลิกจ้างชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี เรียกร้อง บ.แก้ปัญหาเลิกจ้าง โดยปฏิบัติตามหลักมาตรฐานสากล พร้อมเตรียมรณรงค์ระดับสากล ร่วมกับสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ในฟิลิปปินส์

เมื่อวันที่ 13 ส.ค. เวลาประมาณ 10.00 น. คนงานจากสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย กว่า 500 คน ชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย ถนนสาธร เพื่อยื่นหนังสือต่อ ดร. ฮันส์ ไฮน์ริช ชูมัคเคอร์ เอกอัครราชทูต สถานทูตเยอรมนี เพื่อเรียกร้องให้กดดันนายจ้างซึ่งเป็นชาวเยอรมัน เข้ามาแก้ปัญหากรณีเลิกจ้างคนงานไทรอัมพ์ 1,959 คน โดยปฏิบัติตามแนวทางการปฏิบัติของบรรษัทข้ามชาติ (OECD Guidlines) ตามหลักของ OECD guidelines for MNEs ปฏิบัติตาม Code of Conduct ซึ่งมุ่งเน้นถึงความสำคัญของการปกป้องสิทธิมนุษยชน ดังที่กล่าวไว้ในปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (the "General Declaration of Human Rights") และปฏิบัติตามข้อตกลงที่เกี่ยวข้องขององค์กรระหว่างประเทศ (ILO) รวมถึงข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ ขององค์การสหประชาชาติ ในด้านกฎระเบียบและการพัฒนาการปฏิบัติพัฒนาการปฏิบัติงานและสภาวะทางเศรษฐกิจ และได้รับมาตรฐานแรงงานไทยจากกระทรวงแรงงาน

นางสาวจิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ผลการเจรจาล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา บริษัทบอดี้แฟชั่นฯ ได้เพิ่มค่าชดเชยมากขึ้นจากเดิม อาทิ ผ่อนปรนระเบียบข้อบังคับของบริษัทฯ ให้จ่ายสวัสดิการเรื่องรางวัลอายุงานเหมือนพนักงานที่ไม่ได้ถูกเลิกจ้างจนถึงสิ้นปี กรณีคนป่วยเรื้อรัง 12 คน พิจารณาช่วยเหลือเป็นรายบุคคล กรณีคนท้อง 22 คน จะจ่ายเงินให้ตามประกันสังคม 45 วัน อย่างไรก็ตาม สหภาพแรงงานฯ ยังคงยืนยันให้บริษัทฯ รับคนงานกลับเข้าทำงานและเปิดรับอาสาสมัครที่สมัครใจลาออก พร้อมทั้งระบุว่า ค่าชดเชยต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นมาเป็นสิทธิที่ควรจะได้ตามปกติ หากยังทำงานต่อไปอยู่แล้ว

นางสาวจิตรา เล่าว่า จากนั้น เมื่อวันที่ 11 ส.ค. เวลาประมาณ 11.40 น. บริษัทได้ส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือให้กับพนักงานทุกคน มีข้อความว่า "ด่วน!จ่ายเช็คค่าชดเชยเร็วขึ้นเป็น15 และ 18/8/52สนใจรายละเอียดติดต่อฝ่ายบุคคล" โดยไม่ได้มีการประชุมร่วมหรือแจ้งสหภาพแรงงานก่อน ซึ่งเธอมองว่า ที่บริษัททำเช่นนี้เพราะต้องการแบ่งแยกให้ผู้ชุมนุมกับสหภาพฯ เหลือน้อยลง เนื่องจากกลัวการรณรงค์ในระดับสากลที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กำลังดำเนินการ โดยก่อนหน้านี้ สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ของไทยได้ประกาศจุดยืนที่จะต่อสู้ร่วมกับสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ที่ฟิลิปปินส์ รวมถึงในอนาคตจะไปรณรงค์ที่ฮ่องกง ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ไทรอัมพ์ในเอเชีย รวมถึงในยุโรปด้วย

"ไทรอัมพ์" สร้างภาพลักษณ์ดัมพ์ราคาเดียวดึงลูกค้า

เตรียมนำเข้าชุดชั้นในจากประเทศในภูมิภาคมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายงานว่า นายจักร เฉลิมชัย ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท ไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ไทรอัมพ์ เตรียมเปิดตัวแฟล็กชิปสโตร์ย่านใจกลางเมืองประมาณต้นปีหน้า มีพื้นที่ราว 150 ตารางเมตร แล้ววางแผนว่าจะมีการขยาย 3-5 สาขา ย่านใจกลางธุรกิจ และตามหัวเมืองใหญ่ อาทิ พัทยา,ภูเก็ตฯลฯ ตามนโยบายของบริษัทแม่ ที่ต้องการขยายร้านต้นแบบของไทรอัมพ์ ภายใต้คอนเซปต์ วูแมน เฮเว่น ในทุกประเทศ ให้ได้ 5-10 สาขา เพื่อย้ำภาพลักษณ์แบรนด์ระดับบนที่ผ่านมาร้านต้นแบบดังกล่าว เปิดตัวในเยอรมนีแห่งแรก และในเอเชียเริ่มทดลองเปิดที่ประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้ บริษัทยังยึดแนวทางการจัดกิจกรรมการตลาดไปในทิศทางเดียวกับแคมเปญทั่วโลก เน้นเทงบฯ การตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง ร้อยละ 60 จากงบฯทั้งปี 70 ล้านบาท กระตุ้นยอดขายให้เติบโตในอัตรา 2 หลัก ประมาณร้อยละ 10 หวังผลักดันยอดขายให้เติบโตตามเป้าที่วางไว้ร้อยละ 5 หลังจากครึ่งปีแรกยอดขายเติบโตได้เพียงร้อยละ 2 เท่านั้น ซึ่งล่าสุด บริษัทได้ทุ่มงบฯ 5 ล้านบาท เปิดตัวชุดชั้นในคอลเลกชั่นใหม่ ZERO TOSEXY จำนวน 150,000 ชิ้น ราคา 1,390 บาท รับเทรนด์ผู้บริโภคต้องการเสริม ต้องการมีเนินอกชิดไร้ช่องว่าง คาดว่า ภายใน 6 เดือนที่ทำตลาด จะกระตุ้นยอดขายได้ 100ล้านบาท

ทั้งนี้ จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ลูกค้าประหยัดการใช้จ่าย ประกอบกับลูกค้าชาวต่างชาติหดตัวลงราวร้อยละ 50 ส่งผลให้บริษัทต้องงัดกลยุทธ์ด้านราคา เพื่อแข่งขันในตลาดชุดชั้นใน มูลค่าราว 12,000 ล้านบาท ภายใต้แคมเปญ วัน ไพรซ์ จำหน่ายชุดชั้นในราคาเดียว 249 บาท ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย.นี้ เป็นครั้งแรกที่ลดราคาสูงถึงร้อยละ 50จากปกติสินค้าราคาขายเริ่มต้นที่ 400 บาทขึ้นไป หลังจากเปิดตัวแคมเปญได้ 1 เดือน ยอดขายเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 25

สำหรับในปีหน้า ภาษีการค้าเสรีอาเซียน หรือ เอฟทีเอ จะลดเหลือร้อยละ 0 จากร้อยละ 5 ทำให้บริษัทมีแผนจะนำเข้าชุดชั้นในจากประเทศในภูมิภาคมากขึ้น ทั้งเวียดนาม,ฟิลิปปินส์ จากปัจจุบันบริษัทนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ร้อยละ 60