สหภาพแรงงานธนาคารนครหลวงไทย หวั่นฝ่ายบริหาร Outsource งานให้ IBM ไม่โปร่งใส10 .. 52 ประชาไท เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมาสมาชิกสหภาพแรงงานธนาคารนครหลวงไทย (SCIB) กว่า 200 คน เดินทางมายังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อยื่นหนังสือต่อฝ่ายบริหารกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ของธนาคาร ให้เข้าตรวจสอบความไม่โปร่งใสในการจัดจ้างบริษัท ไอบีเอ็ม ซึ่งเป็นบริษัทจากภายนอกมาดำเนินการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแทนธนาคาร นางจริยา เวชภูติ ประธานสหภาพแรงงาน ธนาคารนครหลวงไทยเปิดเผยว่า ทางสหภาพฯ ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องไปยังกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้กำกับดูแลเพื่อเข้ามาตรวจสอบความโปร่งใสในการดำเนินการเกี่ยวกับนโยบายการว่าจ้างบริษัทภายนอก (Outsource) เข้ามาบริหารจัดการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) เนื่องจากขั้นตอนการว่าจ้างส่อแววเป็นการเจาะจงคู่สัญญาให้เป็นบริษัท ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด โดยไม่มีขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ขณะเดียวกันยังมีแผนในการโยกย้ายพนักงานธนาคารสายไอทีทั้ง 184 คน ให้เข้าไปสมัครเป็นพนักงานของไอบีเอ็มด้วย จึงตั้งข้อสัเกตได้ว่าถ้าพนักงานไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอทำไมจึงต้องจ้างเฉพาะระบบงานของไอบีเอ็มแต่คนทำงานยังเป็นพนักงานธนาคารเช่นเดิม ทางสหภาพฯ มองว่าเป็นการเตรียมการและวางแผนไว้ล่วงหน้าตั้งแต่การแต่งตั้ง นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ มาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เมื่อ 2 เม.ย.50 จนถึงปัจจุบัน เพราะงานไอทีไม่มีการพัฒนาปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิมเลย อีกทั้งรับปากอะไรไว้แล้วก็ไม่สามารถทำได้ และก่อนหน้านี้มีการปรับโครงสร้างพนักงานแทบทุกเดือนจนเกินความจำเป็น ส่งผลให้เกิดความแตกแยกต่อกลุ่มพนักงาน โดยการโยกย้ายพนักงานดังกล่าวไม่สอดคล้องกับความสามารถในการทำงาน ท่านเหมาะที่จะเป็นนักการตลาดมากกว่าเป็นนักบริหาร เพราะการบริหารงานล้มเหลวโดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 18 ส.ค.52 ฝ่ายบริหารจัดการจะมีการลงนามสัญญาว่าจ้างบริษัทไอบีเอ็ม ขณะที่ปัญหาด้านบุคลากรยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่ามีการเร่งดำเนินการก่อนที่กองทุนฯ จะขายหุ้นออกไป และอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงซีอีโอใหม่หรือไม่ ดังนั้น สหภาพฯ จึงต้องการเรียกร้องให้เกิดความโปร่งใส ขณะที่งานดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับพนักงานโดยตรงควรที่จะให้สหภาพฯ เข้าไปมีส่วนร่วมในการหารือด้วย ประกอบกับสหภาพฯ ไม่ต้องการย้ายออกจากการเป็นพนักงานธนาคารไปเป็นพนักงานของไอบีเอ็ม เนื่องจากมองว่าไม่มีความมั่นคงพอ รวมถึงถ้าหากมีการโอนย้ายจริงพนักงานก็ควรได้รับค่าตอบแทน สวัสดิการ และตำแหน่งเทียบเคียงได้กับผลตอบแทนที่มีอยู่เดิมด้วย ขณะที่ นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย ยืนยันความโปร่งใสในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างบริษัทภายนอกเข้ามารื้อโครงสร้างระบบไอที โดยมีบริษัทยื่นซองเสนอราคาเข้ามา 3-4 ราย และเบื้องต้นบริษัทไอบีเอ็มเสนอราคาขายต่ำสุด แต่ยังไม่มีการเซ็นสัญญาว่าจ้างแต่อย่างใด ส่วนประเด็นการโยกพนักงานธนาคารด้านไอที 184 รายไปเป็นพนักงานของไอบีเอ็มนั้น ฝ่ายบริหารจัดการได้ทำความเข้าใจกับพนักงานแล้ว ซึ่งหลายรายมีความสนใจ เพราะว่าได้รับค่าตอบแทนที่สูงกว่าถึง 10% ของเงินเดือนปัจจุบัน นอกจากนั้นธนาคารยังจะจ่ายค่าชดเชยการทำงานให้สูงสุดถึง16 เดือนสำหรับพนักงานที่มีอายุการทำงานสูง ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อพนักงานอย่างมาก ซึ่งธนาคารก็ได้ชี้แจงไปยังสหภาพฯ หลายรอบแล้ว |